ธปท.ยอมรับกังวลหนี้ครัวเรือนเพิ่ม ภาษีการค้าโลกกระทบ เตรียมพร้อมมาตรการรับมือ
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยหลังการบบรรยาย ในโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง ประจำปี 2568 “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้สู่ความยั่งยืน“ ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ที่เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 - 15 กรกฎาคมปีนี้ มีลูกหนี้มาลงเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 7.3 หมื่นราย คิดเป็นจำนวน 1.4 แสนบัญชี (เฉลี่ยมีหนี้ 2 บัญชีต่อคน)
และถ้ารวมระยะที่ 1 ด้วย จะมีผู้ลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย รวมเกือบ 2 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เฉพาะเฟสแรกที่เห็นข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิ.ย.ปีนี้มีลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขการแก้หนี้ได้ราว 6.5 แสนบัญชี มูลหนี้ราว 4.8 แสนล้านบาท ที่จะต้องเข้าติดต่อกับเจ้าหนี้และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และแก้ไขหนี้ต่อไป
ทั้งนี้ จากมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการ ธปท.คาดหวังให้คนมียอดหนี้ไม่สูงมากเข้ามาปลดล็อกหนี้ได้ดีขึ้น จะได้ช่วยลดหนี้ในจำนวนรายที่มากขึ้น แต่ในแง่มูลค่าหนี้อาจจะลดลงได้ไม่มากนัก จากปัจจุบันที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ราว 16.4 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 87.4 ของ GDP ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 88.4
แต่มองว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ปีนี้ มีแนวโน้มลดลงได้อีก เนื่องจากธนาคารพาชย์ค่อนข้างมีความระมัดระวังการให้กู้ บวกกับ GDP ที่ประกาศออกมาค่อนข้างดีมากที่ร้อยละ 2.3 จึงคิดว่าหนี้ครัวเรือนน่าจะลดลงได้จากร้อยละ 87.4 ได้อีก และหากมาตรการช่วยดึงคนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาได้มากขึ้น ตัวเลขหนี้จะเพิ่มขึ้นบ้างก็ไม่เป็นไร
นางสาวสุวรรณี กล่าวยอมรับว่ากังวลต่อระดับหนี้ที่อาจสูงขึ้น ในภาวะที่นโยบายภาษีการค้ากดดันระดับหนี้ครัวเiรือนเพิ่มขึ้น ซึ่งยังต้องติดตามใกล้ชิด เพื่อดูว่าควรมีมาตรการมาดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต (min pay ) จะปรับลดขั้นต่ำไปที่ระดับร้อยละ 5 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 8 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันหรือไม่ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาทบทวนอยู่ และคาดจะประกาศได้ในเร็วๆ นี้
ขณะที่การดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐนั้น ธปท. ได้มีมาตรการตามแนวทางการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending) คือ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาการชำระหนี้ก่อนจะเป็นหนี้เสีย (NPL) และหลังเป็นหนี้เสีย เจ้าหนี้ยังต้องช่วยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงโควิด ดังนั้น ลูกหนี้ที่อาจถูกกระทบจากภาษีทำให้รายได้ลดลง มีปัญหาการชำระหนี้ สามารถเข้าไปขอเจรจา เพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ได้ ไม่ต้องรอให้เป็น NPL ก็เข้ามาใช้ได้
"ตั้งแต่เปิดลงทะเบียนตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.มาประมาณสัก 15 วัน มีคนลงทะเบียนแล้ว 7.3 หมื่นคน เป็นจำนวนบัญชี 1.4 แสนบัญชี เฉลี่ยลูกหนี้ 1 คนก็จะมีหนี้ประมาณ 2 บัญชี ที่เข้ามาลงทะเบียน ถ้ารวมกับเฟส 1 รวมทั้งหมดแล้วจะมีคนละเบียนแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านราย เป็นบัญชีประมาณเกือบๆ 2 ล้านบัญชี แต่ทั้งนี้ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิ.ย. เพราะว่าข้อมูลเดือนก.ค.ยังไม่มา ซึ่งสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ยังไม่เปิดเฟส 2 มีลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขที่ลงทะเบียน 1.4 ล้านราย เข้าเงื่อนไขแล้ว 6.5 แสนราย มียอดหนี้เกือบๆ 5 แสนล้านบาท ที่ลูกหนี้ทั้งหมดที่เข้าเงื่อนไขก็ยังต้องเข้าไปติดต่อยื่นหลักฐานตามกฎหมาย ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ต่อท้ายสัญญาเดิม เพื่อแก้หนี้ให้เกิดขึ้นจริงต่อไป ส่วนมาตรการเพิ่มเติมที่นโยบายภาษีอาจกระทบรายได้ลูกหนี้นั้นยังอยู่ระหว่างพิจารณา" นางสาวสุวรรณี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หนี้ครัวเรือนลดลงครั้งแรกใน 13 ปี สัญญาณดีจริงหรือเตือนภัยเศรษฐกิจ
- เคาะแผนเพิ่มรายได้"เกษตรกร" 5.3แสนบ.
- ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่! เข้าครม. สัปดาห์หน้า รมว.คลัง ย้ำไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ
- ทุนเสมอภาค หรือ ยาแก้เฉพาะหน้า? เมื่อภาระทางการศึกษาเกี่ยวพันกับหนี้ครัวเรือน
- ธปท.ดัน3กลุ่มอุตสาหกรรม สร้างอนาคตประเทศ