เพราะผมแค้น! "ผศ.ดร.ยุทธนา" ล่าชื่อแก้ รธน.ถอดถอนองค์กรอิสระ จุดแตกหักจากตึก สตง. ถล่ม
เพราะผมแค้น! "ผศ.ดร.ยุทธนา" ล่าชื่อแก้ รธน.ถอดถอนองค์กรอิสระ จุดแตกหักจากตึก สตง. ถล่ม สู่ Project Chorus แพลตฟอร์มปลุกเสียงผู้เสียภาษี
วันที่ 22 ก.ค. 2568 ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง iTAX ที่พึ่งทางใจคนยื่นภาษี กับ 13 ปีของความฝันพัฒนาบริการรัฐแบบสตาร์ทอัพ โพสต์เฟซบุ๊ก Mickey Yutthana Srisavat ระบุว่า Project Chorus: Backstage 02 — “เพราะ ผมแค้น”เหตุผลของสันติที่เข้ามาทำ Thunder Express ในซีรี่ส์ ‘สงครามส่งด่วน’ คือเหตุผลเดียวกันกับที่ผมโดดลงมาทำ chorus ใช่ครับ “ผมแค้น” ผมคิดเรื่องทำแพลตฟอร์มรวมเสียงประชาชนแบบนี้มาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสลงมือจริงจังเสียที จนกระทั่ง…ตึก สตง. ถล่ม
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ตึก สตง. ที่เพิ่งสร้างเสร็จมาหมาดๆ ถล่มลงมาภายใน 8 วินาที มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย ตึกนี้เป็นตึกสูงเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่พังถล่มจากแผ่นดินไหววันนั้น แถมยังกลายเป็นตึกสูงที่สุดในโลกที่ถล่มจากแผ่นดินไหว และอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวถึง 1,300 กิโลเมตร ไม่เคยมีตึกไหนในโลกทำสถิติขนาดนี้ได้มาก่อน ตึกนี้มูลค่า 2,136 ล้านบาท มาจาก "เงินภาษี" ของพวกเราทุกคน
ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของบ้านซักหลังนึง แล้วบ้านของคุณคือหลังเดียวในหมู่บ้านที่ถล่ม คุณจะไม่สงสัยบ้างเหรอว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาดตั้งแต่ตอนก่อสร้างแน่ๆ แต่ผ่านมา 3 เดือน มีใครแสดงความรับผิดชอบไหม? มีใครลาออกไหม? มีใครแสดงความกระตือรือร้นหาคนผิดมาลงโทษบ้างไหม?
ฝักบัวหลักหมื่น เก้าอี้ทำงานสุดหรู โต๊ะกินข้าวเฉียดแสน ซึ่งมาจากเงินภาษีของพวกเราเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา แล้วเขามีคำอธิบายดีๆ สำหรับพฤติกรรมใช้เงินแบบไม่เห็นหัวผู้เสียภาษีให้พวกเราบ้างไหม? สิ่งที่เราได้เห็น คือคำแถลงที่บอกให้ “สูดลมหายใจลึกๆ กุมมือกันให้แน่น” และคำขอโทษแบบเหนือความคาดหมายของอดีตผู้ว่า สตง. ว่า “อาจเป็นเพราะเลือกฮวงจุ้ยไม่ดี” นี่คือจุดที่ผมรู้สึกแค้น
มันไม่ใช่แค่ตึกถล่ม แต่มันคือความรู้สึกว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อเงินภาษีของเราเลย แล้วทุกคนในตำแหน่งก็เดินทำหน้าตาเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แต่ผมจะไม่ยอมปล่อยผ่านเรื่องนี้อีกแล้ว
ผมเริ่มหาคำตอบว่าทำไมพวกเราผู้เสียภาษีทำอะไรกับองค์กรอย่าง สตง. ไม่ได้เลยเหรอ? คำตอบคือ รัฐธรรมนูญปี 60 ตัดสิทธิประชาชนในการยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระออกไปแล้ว เราทำอะไรพวกเขา “ไม่ได้เลย” ที่จริงพวกเราเคยมีสิทธินี้ในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 แต่วันนี้ “ไม่มีแล้ว”
สตง. เป็นองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เมื่อประชาชนถอดถอนไม่ได้ ระบบจึงกลายเป็นว่าไม่มีใครคุมใคร ไม่มีความรับผิดชอบ มีแต่อำนาจและการใช้งบแบบเต็มสูบ คนตาย ตึกถล่ม เงินภาษีหายไปในซากตึก แต่ทุกอย่างกลับจบที่ “ความเงียบ” อีกแล้ว แล้วบ้านเราเกิดเรื่องราวต่างๆที่จบด้วยความเงียบมากี่ครั้งแล้ว
ใครชินกับวัฒนธรรมคนผิดลอยนวลสไตล์ไทยๆ แบบนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ผมจะยอมไม่ชินกับเรื่องแบบนี้อีกแล้ว ผมกล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เพราะผมเองก็ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว แม่ผมเสียไปแล้ว พ่อผมก็เสียไปเพราะไม่ได้รับวัคซีนโควิดทันเวลา ผมไม่มีลูก ไม่มีห่วง ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีเรื่องให้ต้องรักษาภาพลักษณ์ ผมเชื่อว่าเมืองไทยนี่คนเก่งๆ มีเยอะมาก แต่ที่ยังขาด อาจจะเป็นคน “กล้า” หรือ “บ้า” แบบผมก็ได้ ผมเลยขอเลือกทำสิ่งที่ผมควรทำ ตึก สตง. ถล่ม จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมและเพื่อนๆ อีกหลายคนตัดสินใจลงมือแก้รัฐธรรมนูญด้วยกัน เพื่อทวงคืนสิทธิของผู้เสียภาษีให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระได้อีกครั้ง Project chorus จึงเกิดขึ้นจากความแค้น
Project Chorus ไม่ได้เกิดจากความหวังลอยๆ แต่มันเกิดจากความรู้สึกว่าถ้าไม่เริ่มจากใครซักคน มันจะไม่มีวันเริ่ม เพราะเราอยากแก้รัฐธรรมนูญ เราจึงต้องรวมเสียงให้ได้ถึง 50,000 ชื่อ เพื่อเสนอวาระเข้าสู่รัฐสภา Project chorus จึงเป็นเวทีที่เราตั้งใจออกแบบเพื่อให้เสียงของ “ผู้เสียภาษี” ที่เคยโดนมองข้าม กลับมา “ร้องประสาน” กันให้ดังจนไม่มีใครกล้าเพิกเฉยได้อีกต่อไป และผมก็ตั้งใจเปิดให้ Project chorus เป็นแพลตฟอร์มที่ใครก็ได้ที่อยากรวมเสียงเล็กๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้สามารถมาสร้างแคมเปญได้ฟรีด้วย Project chorus อาจเริ่มจากความแค้นของผม แต่มันจะไม่จบแค่เสียงเดียวของผมอย่างแน่นอน ผมหวังว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นเวทีที่ใครก็ตามที่เคยรู้สึกว่า “เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก” จะกล้าออกมายืนร้องประสานเสียงไปด้วยกัน แคมเปญรัฐธรรมนูญฉบับผู้เสียภาษี จึงเป็นเพลงแรกของ Project chorus และ “ตึก สตง.” เลยกลายเป็นปกอัลบั้มของเพลงนี้ เพื่อเตือนใจว่าคนเอาเงินภาษีไปใช้ต้องมีคนตรวจสอบ และคนจ่ายภาษีควรมีสิทธิ์ถอดถอนคนที่ไม่รับผิดชอบต่อเงินภาษีของพวกเราได้ด้วยเหมือนกัน
การทำระบบออนไลน์เพื่อให้คนมารวมตัวกันแสดงเจตจำนงร่วมกัน เอาจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเห็นแพลตฟอร์มดีๆ มากมาย เช่น change .org หรือเครือข่ายทางการเมืองอย่างคณะก้าวหน้า หรือแม้แต่ภาคประชาสังคมอย่าง iLaw ก็ออกมาเคลื่อนไหวผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แล้ว Project chorus แตกต่างจากระบบที่มีอยู่แล้วตอนนี้ตรงไหน ทำไมต้องเหนื่อยออกมาทำ Project chorus เพิ่มด้วย? To be continued…