โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ลุ้น "ภาษีสหรัฐฯ" ขีดเส้นตายไทย สัญญาณมรณะ "วงการค้าโลก"

Thai PBS

อัพเดต 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Thai PBS

สะเทือนวงการค้าโลก หลังสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีประเทศที่ได้ "ดุล" การค้า และไทยคือหนึ่งในนั้น ที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% จนรัฐบาลต้องตั้ง "ทีมไทยแลนด์" ไปเจรจาขอปรับลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าภายในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ล่าสุด "พิชัย ชุณหวิชร" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ ได้บินไปเจรจาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และผลลัพธ์ คือ "ยังไม่มีข้อสรุป"

ทำให้ต้องกลับมาทำข้อเสนอใหม่เพื่อยื่นให้ทางสหรัฐฯพิจารณาในวันที่ 9 ก.ค.นี้ โดยมีข้อกังวล อาจไม่ทันเส้นตายที่ทางสหรัฐฯขีดเส้นตายไว้ ต้องรอลุ้นว่า "ทีมไทยแลนด์"จะยื่นข้อเสนอใหม่แบบ WIN WIN หรือไม่ เพราะหากหาจุดสมดุลทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทยด้วยเช่นกันหากต้องถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้น

"ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์ นายกิตติกร กาญจนคูหา จากหจก. ชวนหลงเซรามิค เครื่องปั้นดินเผา (ม้า เซรามิค) จากเตาชวนหลง จ.ลำพูน ในฐานะผู้ประกอบการรายย้อยที่ส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯกว่า 80%

นายกิตติกร กาญจนคูหา ผู้จัดการฝ่ายส่งออก หจก.ชวนหลงเซรามิค เครื่องปั้นดินเผา (ม้า เซรามิค) จากเตาชวนหลง จ.ลำพูน

กิตติกร กล่าวว่า สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีแผนจะหาตลาดเพิ่ม แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการทางภาษีของสหรัฐเปลี่ยนไป จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเซรามิค

ดังนั้นบริษัทจึงมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนตลาดอื่นให้มากขึ้น ควบคู่กับการทำตลาดสหรัฐฯเพราะยังมีฐานลูกค้าเดิมอยู่มานาน และแม้ว่าตลาดสหรัฐจะมีปัญหา แต่ขนาดตลาดที่ใหญ่ทำให้ตลาดนี้ยังน่าสนใจและต้องวางไว้เป็นตลาดหลักของธุรกิจต่อไป

ต้องรอดูมาตรการทางภาษีอย่างชัดเจนอีกครั้งก่อน และแม้ไม่มีมาตรการภาษี สินค้าในกลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐถูกเก็บภาษี 6% อยู่แล้ว โดยหลักการภาษีนำเข้าจะเป็นหน้าที่ของผู้นำเข้าปลายทาง แต่ในทางปฏิบัติจริงภาษีคือ ส่วนลด ที่ผู้ซื้อจะใช้ต่อรองจากผู้ส่งออกหรือผู้ผลิต

นายกิตติกร กล่าวอีกว่า ถ้าสหรัฐ ฯเก็บภาษีสูง การต่อรองขอส่วนลดก็จะสูงตามไปด้วย และผู้ผลิตจะต้องกลับมาบริหารจัดการต้นทุนเพื่อคงสัดส่วนกำไร แต่หากทำไม่ได้อาจต้องยอมลดกำไรลง หมายถึง รายได้ที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจ รวมถึงสายป่านที่จะประคองธุรกิจให้ฝ่าความท้าทายต่างๆนั้นจะลดลงไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนขีดความสามารถการแข่งขันทั้งกับคู่แข่ง ตัวเอง และความท้าทายลดลงไปทุกวัน

ตอนนี้สินค้าถูกเก็บจากภาษีจาก 6% ไปที่ 10% แต่หากต้องถูกเก็บภาษีที่ 36% จริงๆยอมรับว่าจะกระทบสูงมาก ปัจจุบันเริ่มมองหาแนวทางปรับตัวด้วยการ นำเสนองานดีไซด์ที่คงความโดดเด่น มีความซับซ้อนชิ้นงานน้อยลงเพื่อลดต้นทุนและทำราคาขายได้มากขึ้น ซึ่งผู้ซื้อที่สหรัฐ ค่อนข้างพอใจและยอมรับได้

พบสัญญาณสั่ง "ชะลอ"ซื้อเข้ามาแล้ว

แต่แนวทางนี้ยังไม่สามารถประเมินผลได้หากถูกภาษีในอัตราที่สูง เพราะผู้นำเข้าที่สหรัฐก็เผชิญแรงกดดันหลายทาง ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาขายที่ต้องสูงขึ้นจากภาษีนำเข้า

มีสัญญาณมาสักระยะแล้ว คือ การชะลอคำสั่งซื้อ การรอให้สต๊อกหมดจึงสั่งใหม่ และการต่อรองราคา หรือ ขอส่วนลดที่มากขึ้นเพื่อชดเชยอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดสหรัฐ มีความโดดเด่นเฉพาะตัว คือ มีกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อที่สูง ประกอบกับขนาดตลาดที่ใหญ่มา เช่น บริษัทส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อ ราว 200-300 ชิ้นต่อครั้ง ผู้นำเข้านำไปวางที่สโตร์ที่มี 4,000 แห่งทั้งสหรัฐ จึงใช้เวลาไม่นานสินค้าจะขายหมด

ดังนั้นมองว่าตลาดสหรัฐยังมีโอกาสที่ดีอยู่แต่ต้องเสริมกำลังและศักยภาพให้ผู้ประกอบการคงสายป่านและประคองตัวผ่านวิกฤติครั้งนี้และที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตไปให้ได้

ชงฟื้นงาน BIG ตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่า

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล อยากให้นำงานแสดงสินค้าที่มุ่งเสนอแต่งานดีไซด์ หรือ งาน BIG เฉพาะกลับมา เพราะเดิมเคยได้รับความนิยมจากผู้ซื้อที่รวมอยู่ในโปรแกรมการร่วมงานควบคู่ไปกับ งานที่ฮ่องกงและอินเดีย แต่ปัจจุบันงานดังกล่าวไม่มีแล้วหลังจากที่นำไปรวมกับงานแสดงสินค้าอื่นทำให้ไม่มีความโดดเด่นด้านการดีไซด์จึงไม่มีผู้นำมาร่วมงานแต่ยังคงเดินทางไปยังอินเดียและฮ่องกงแทน

ในส่วนแนวทางรับมือปัญหาภาษีสหรัฐ อีกด้านหนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบแนวทางการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันการค้า พิจารณาศึกษาแนวทางและมาตรการส่งเสริมและกำกับดูแลเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับบริบทของประเทศไทย

โดยสาระสำคัญของเรื่องว่าด้วยการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลต ฟอร์มพิจารณาแนวทางในการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล แม้ว่ากลไกของร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลจะช่วยให้การกำกับดูแล การบังคับใช้และบทกำหนดโทษมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

แต่การออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้สัดส่วนและมีประสิทธิภาพตามหลักสากล นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทยแล้ว ยังอาจใช้เป็นประโยชน์ในการต่อรองกับมาตรการทางภาษีศุลกากร (Tariffs) ของประเทศสหรัฐได้

หอการฯ รับได้ แผนลด "ขาดดุล" สหรัฐฯ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึงข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งให้สหรัฐฯพิจารณา กรณีไทยจะลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 70% ภายใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบัน ไทยเกินดุลสหรัฐฯ 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้เสนอเพิ่มการซื้อขายพลังงาน และเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มขึ้นว่า ภาคเอกชนรับได้กับเงื่อนไข ดังกล่าว โดยเห็นว่าทีมเจรจาทำงานเต็มที่

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย

สิ่งที่ภาคเอกชน คาดหวัง จากสหรัฐคือ อยากเห็นสหรัฐฯ รับข้อเสนอของรัฐบาลไทย และขอให้ กำหนดอัตราภาษี ที่เป็นธรรม และไม่เป็นอัตราที่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และ อยากเห็น ข้อตกลงที่เป็นลักษณะ สร้างความสมดุลของสองประเทศ แบบบ WIN WIN ทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36 % จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมาก ขณะนี้ทำได้เพียงรอความชัดเจนจากทางรัฐบาลสหรัฐ ส่วนการที่ไทยจะเปิดตลาดให้สหรัฐ โดยการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% คาดว่าของไทย คงจะไม่ลดภาษี 0% ในสินค้าทุกรายการ

นายนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีมไทยแลนด์

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคตกล่าวกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์”ว่า ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ช่วง 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค.68) มีมูลค่ารวม 27,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐ +27.2% และมีส่วนแบ่งตลาด 19.6%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต

โดยสินค้า 5 อันดับแรก ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มูลค่า 6,567 ล้านดอลลาร์ (+71.67%) ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า1,985 ล้านดอลลาร์ (+10.95%) เครื่องโทรศัพท์และส่วนประกอบ มูลค่า1,802 ล้านดอลลาร์ ( +5.77% ) อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า1,049 ล้านดอลลาร์ (+21.83%) และ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,045 ล้านดอลลาร์ ( +55.22% )

หากทีมไทยแลนด์เสนอเงื่อนไขใหม่ไม่ทัน 9 ก.ค. ก็ยังมีโอกาสที่จะยื่นอีกครั้ง เพราะทางสหรัฐฯประกาศจะขยายเวลาไปถึง 1 ส.ค. ดังนั้นเชื่อว่ายังไม่โอกาสที่จะต่อรองตัวเลขได้ และคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับ15-18 % แต่ก็ต้องลุ้นต่อ

ชงแผนเยียวยา "เอกชน" เจอมาตรการ "ภาษีสหรัฐฯ"

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ เจรจาภาษีสหรัฐฯ ซึ่งทีมเจรจาภาษีสหรัฐฯ ที่มีนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีมไทยแลนด์ ได้ส่งข้อเสนอใหม่ให้สหรัฐฯพิจารณาแล้วเมื่อวานนี้ (6 ก.ค.68) ซึ่งมีทั้งการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ การเปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ส่วนไทยจำเป็นจะต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพื่อแลกกับการลดภาษีหรือไม่

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รมว.พาณิชย์

โดยรมว.พาณิชย์ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าได้มีการเตรียมแผนเยียวยาเพื่อรองรับผลกระทบจากการเจรจาภาษีสหรัฐฯไว้แล้ว

กระทรวงฯ มีแนวทางการเยียวยาหลายแนวทางผ่าน กองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ที่รัฐบาลกันเงินสำรองไว้ราว 10, 000 ล้านจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแผนการเยียวยาผู้เกี่ยวข้องแล้ว ต้องเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติใช้งบประมาณ

สำหรับผลการเจรจาภาษีสหรัฐฯ หากได้สรุปแล้ว จะต้องรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และให้เป็นไปตามกฏหมายข้อตกลงระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลังได้เปิดเผย กับ สื่อบลูมเบิกร์ ว่า ไทยได้ยื่นข้อเสนอใหม่ต่อสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบการเก็บภาษีนำเข้าที่ 36% โดยตั้งเป้าอัตราภาษีให้เหลือภาษีต่ำสุด10-20 %

สำหรับข้อเสนอใหม่ที่ไทยส่งให้สหรัฐฯพิจารณา เช่น ไทยจะลดการเกินดุลกับสหรัฐฯ 70% ภายใน 5 ปี ปัจจุบัน ไทยเกินดุลสหรัฐฯ 46, 000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้เสนอเพิ่มการซื้อขายพลังงาน และเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มขึ้น ล่าสุดสหรัฐฯ เตรียมส่งจดหมายอัตราภาษีใหม่กับประเทศคู่ค้ากว่า 100 ประเทศ 9 ก.ค. แต่จะเลื่อนการบังคับใช้ภาษีไปเป็นวันที่ 1ส.ค.นี้

หวั่นไทย "เสียเปรียบ"ดุลการค้าเวียดนาม

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความกังวลว่า ไทยอาจเสียเปรียบทางการค้า เพราะเป้าหมายอัตราภาษีที่ไทยจะได้รับจากสหรัฐต้องไม่เสียเปรียบเวียดนาม เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐส่วนใหญ่ เป็นสินค้าคล้ายกับเวียดนาม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารแปรรูป ฯลฯ หากไทยยังต้องเผชิญกับภาษี 36% ขณะที่เวียดนามจ่ายเพียง 20% จะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนสูงกว่า และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทันที

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ไทยเป็น 1 ในประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯสูงประมาณ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และถูกสหรัฐฯเรียกเก็บภาษี36% และยังไม่สรุปตัวเลขภาษีที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บจริง ในขณะที่เวียดนามถูกสหรัฐเก็บภาษี 20% กรณีที่เป็นสินค้าจากเวียดนาม และสินค้าที่มีการสวมสิทธิ์โดยผ่านเวียดนามจะถูกเรียกเก็บที่ 40% และสินค้าสหรัฐฯที่นำเข้าเวียดนามภาษี0%

ประธานสอท. กล่าวอีกว่า ต้องลุ้นว่าสหรัฐฯจะเก็บภาษีไทยที่เท่าไหร่ไม่มีใครบอกได้ และก็ไม่รู้ว่าไทยจะยอมรับเงื่อนไขการไม่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯได้หรือไม่ แต่หากได้ลดภาษีเท่ากับเวียดนามก็ยังพอไปไหว หรือหากได้ลดต่ำกว่าเวียดนาม 5-10% ก็จะเป็นผลดีกับไทย แต่ในทางกลับกันหากไทยไม่ได้รับการลดภาษี และสหรัฐฯยึดแนวทางการเก็บภาษีที่ 36% ไทยจะเสียหายอย่างมาก แต่จะมากแค่ไหนต้องมาดูเป็นรายอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นที่น่าหนักใจเวลานี้ คือ ข้อเสนอจากเวียดนามในการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯเป็น 0%เบื้องต้นมีการตรวจสอบไม่กระทบต่อสินค้าอุปโภค บริโภค และเอสเอ็มอี (SMEs) มากมายเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ห่วงจากการที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯเป็น 0% คือ สินค้าภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันสินค้าจากสหรัฐฯที่ส่งออกทางการเกษตรราคาถูก และผลิตได้ประมาณมาก

ห่วงเกษตรกรไทย 20 ล้านราย เจอผลกระทบหนัก

โดยอุตสาหกรรมเกษตร ที่จะกระทบคือ กลุ่มเกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เลี้ยงหมู วัว ซึ่งจะกระทบกับเกษตรกร และภาคปศุสัตว์ที่มีผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมาณ 20 กว่าล้านราย ซึ่งเป็นหมวดที่อ่อนแอ เปราะบางต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่กลับกันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น การนำวัตถุดิบราคาถูกจากสหรัฐฯเข้ามามาแปรรูปจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปอาจจะได้ต้นทุนทีดีขึ้น กำไรมากขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น

ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ทำอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมมีการส่งออกไปทั่วโลก เครื่องในหมู เครื่องในวัวจากสหรัฐฯเหล่านี้ สามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสุนัขกับแมว ซึ่งอาจจะทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวโตเพิ่มมากขึ้น และอาจขยายมากกว่าที่ผ่านมา เพราะได้เปรียบ ดังนั้นจึงมีทั้งผู้ที่ได้และเสีย

สิ่งที่ห่วง คือ เกษตรกรกว่า 20 ล้านราย บางกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้เปรียบแต่เวลานี้ไทยเปรียบเสมือนลุ้นหวยที่ออกทุกวัน เพราะไม่รู้ว่าจะถูกส่งจดหมายมาถึงเมื่อไหร่ และมีเงื่อนไขอย่างไร

เผย 3 กลุ่มสินค้าไทยรับศึกสงครามการค้า

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กล่าวว่า ข้อมูล Trademap.org ปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าเกษตร (HS 01-24) ไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 4,759.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยส่งออกเป็นมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อาหารสุนัขหรือแมว ข้า ปลาทูน่าปรุงแต่ง น้ำผลไม้หรือน้ำผักอื่น ๆ อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส กุ้งปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง ผลไม้ ลูกนัตปรุงแต่ง และ สับปะรดปรุงแต่ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

สนค.แบ่งผลกระทบของสินค้าเกษตร ไทย ออกเป็น 3 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ประกอบด้วย สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อยู่อันดับต้น ๆ จึงอาจได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเพื่อทดแทนสินค้าจีน เช่น อาหารสุนัขและแมว ข้าว ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เนื้อปลาลิ้นหมาแบบฟิลเล หน่อไม้ปรุงแต่ง

ส่วน สินค้าที่ไทยมีโอกาส เป็นกลุ่มสินค้าที่จีนครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อันดับต้น ๆ ขณะที่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก ซึ่งหากได้รับการผลักดันและเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น อาจทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มพาสต้าอื่น ๆ อย่าง เส้นหมี่ วุ้นเส้น ปลาหมึกแช่แข็ง ซอสถั่วเหลือง เป็นต้น

เหลือเวลาอีก 1 วัน ที่ “ทีมไทยแลนด์”จะส่งเงื่อนไขการเจรจาใหม่กลับไปให้ทางสหรัฐฯพิจารณาภาษี ต้องลุ้นว่า 9 ก.ค. 2568 นี้ ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ อย่างไร รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาวฉันท์ใด เจอมาตรการภาษีทรัมป์ ก็สะเทือนการค้าโลกฉันท์นั้น

อ่านข่าว:

ยังไม่ได้ข้อสรุป "พิชัย" รับฟีดแบ็กสหรัฐฯปรับปรุงข้อเสนอ ย้ำจุดยืนวิน-วิน

หวั่นกระทบส่งออกครึ่งปีหลัง บิ๊กเอกชนห่วงเจรจาภาษีสหรัฐฯล่าช้า

สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% กรุงไทยฯหั่นเป้าผลิตเหลือ 1.4-.1.45 ล้านคัน

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thai PBS

วิดีโอ

กัมพูชาพร้อมออกค่าใช้จ่ายรับคืนโบราณวัตถุ

27 นาทีที่แล้ว

ใครหยุดบ้าง 10-13 ก.ค. 2568 เช็กวันเปิดทำการธนาคาร - ไปรษณีย์ - เอกชน

53 นาทีที่แล้ว

กต.กัมพูชา ออกแถลงการณ์โต้ประเด็น MOU 2543

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

"พล.ต.ต.จรูญเกียรติ" สั่งเร่งหาข้อมูลเพิ่ม ตามคำให้การหญิงคนสนิท "อดีตเจ้าคุณอาชว์"

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าว ธุรกิจ-เศรษฐกิจ อื่น ๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยSMEs ไทยมีแนวโน้มเสี่ยงปิดตัวต่อ-หลายปัจจัยกดดัน

Manager Online

"พิษณุโลก-กระบี่" ได้ใบรับรองสนามบินสาธารณะ 2 แห่งรวด

TNN ช่อง16

ยักษ์ผัก-ผลไม้กระป๋อง แบรนด์อายุ 140 ปีล้ม หนื้ท่วมกว่า 3 แสนล้าน | คุยกับบัญชา | 3 ก.ค. 68

BTimes

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ วอนรัฐอย่านำเข้าหมูสหรัฐแลกภาษี ลั่นไม่งั้น หมูไทย 'ตาย' ทั้งระบบ

MATICHON ONLINE

เมืองไทยประกันชีวิต จัดพิธีมอบรางวัลเกียรติยศ “Muang Thai Life Assurance Hospital Awards 2024” แก่โรงพยาบาลคู่สัญญา มุ่งยกระดับมาตรฐานบริการที่เป็นเลิศในทุกมิติเพื่อลูกค้าคนสำคัญ

Positioningmag

LH Bank เดินหน้ารุกตลาดลูกค้าไต้หวันและลูกค้าต่างชาติ ออกโปรโมชันพิเศษโอนเงินไปต่างประเทศฟรีค่าธรรมเนียม

Positioningmag

ข่าวและบทความยอดนิยม

สำเร็จแห่งแรกในไทย รพ.จุฬาฯ ผ่าตัดแก้ไขผู้ป่วย โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

Thai PBS

ลุ้น "ภาษีสหรัฐฯ" ขีดเส้นตายไทย สัญญาณมรณะ "วงการค้าโลก"

Thai PBS

"ก.แรงงาน" เปิดคัดเลือกผู้ฝึกงาน ไปฝึกงานเทคนิคที่ญี่ปุ่น

Thai PBS
ดูเพิ่ม
Loading...