Kidulting : แค่อยากมีความเป็นเด็กอยู่ในหัวใจ ไม่ใช่ไม่รู้จักโต
บางครั้งการเป็นผู้ใหญ่ก็ทำให้รู้สึกอยากหยุดพักจากความวุ่นวายของชีวิต แล้วกลับไปทำสิ่งที่เคยชอบและทำให้มีความสุขในวัยเด็ก เช่น เล่นของเล่น ดูการ์ตูน อ่านหนังสือนิทาน หรือฟังเพลงเก่าๆ เพื่อปลอบประโลมหัวใจในวันที่การโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ดีต่อใจอย่างที่คิดKidulting เป็นคำผสมระหว่างคำว่า Kid (เด็ก) กับ Adult (ผู้ใหญ่) ใช้เรียกพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ยังชอบทำกิจกรรมหรือสนใจสิ่งที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของเด็ก เช่น สะสมของเล่น ดูการ์ตูนเรื่องโปรดในวัยเด็ก เล่นเกมเก่า ใส่เสื้อผ้าลายการ์ตูนตัวโปรด ฯลฯงานวิจัยจาก Mihaly Csikszentmihalyi ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Claremont Graduate University ได้ศึกษาเรื่องภาวะความสุขที่ลึกซึ้งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราทำกิจกรรมที่รักและมีสมาธิจดจ่ออย่างเต็มที่ พบว่า การกลับไปทำกิจกรรมที่เคยรักในวัยเด็กช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าสู่ภาวะที่รู้สึกผ่อนคลายและมีสมาธิสูง ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและลดความเครียดอย่างมีนัยสำคัญเพราะฉะนั้น พฤติกรรม Kidulting หรือการเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบทำอะไรเหมือนเด็กไปบ้าง จึงไม่ใช่ความผิดแปลก แต่อะไรเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนโหยหาชีวิตและความสุขจากวัยเด็กมากขึ้น เราลองรวบรวมข้อมูลมาให้แล้วค่ะ1. ความเครียดสะสม
ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่อย่างเราต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงลูก การทำงาน ดูแลครอบครัว ภาระหน้าที่ต่างๆ หรือแม้แต่ความคาดหวังจากคนรอบตัว เราต้องจัดการทั้งเรื่องในปัจจุบันและวางแผนอนาคต บางวันก็แทบไม่มีเวลาพักใจให้กับตัวเอง เมื่อความเหนื่อยล้าสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจเริ่มรู้สึกว่าตัวเองห่างออกไปจากความเป็นตัวเอง ห่างจากสิ่งเล็กๆ ที่เคยทำให้ยิ้มได้ แต่การได้ย้อนกลับไปทำสิ่งที่เคยรักในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการดูการ์ตูน ฟังเพลงเดิมๆ หรือจับของเล่นชิ้นโปรดอีกครั้ง จึงเหมือนการให้หัวใจได้พัก ได้หายใจ ได้รู้สึกเบาสบายในโลกที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบและกดดันนั่นเอง2. ความทรงจำที่ยังอยู่ในหัวใจเสมอ
มนุษย์ไม่ได้แค่จดจำเรื่องราวในอดีต แiต่ยังจดจำความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นร่วมผ่านช่วงเวลานั้นด้วย วัยเด็กจึงไม่ใช่แค่ภาพเก่าในความทรงจำ แต่มันคือช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย บางครั้งแค่ได้ยินเพลงที่แม่เคยเปิดตอนเช้า หรือเจอตุ๊กตาตัวเดิมที่เคยนอนกอด หัวใจก็เหมือนได้รับสัมผัสจากความรักที่ไม่ต้องเอ่ยคำใดๆในทางจิตวิทยา นักวิจัยด้านอารมณ์กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า Core Affective Memories หรือความทรงจำทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งและสำคัญ ซึ่งสามารถถูกกระตุ้นกลับมาได้เพียงแค่สัมผัสกับเสียง กลิ่น หรือวัตถุที่มีความหมาย เมื่อเราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านี้อีกครั้ง ก็เหมือนให้ใจได้กลับไปเติมพลังจากรากฐานของความรู้สึกดีๆ ที่เคยหล่อเลี้ยงเรามาการโหยหาอดีตจึงไม่ใช่แค่ความคิดถึง แต่มันคือการยืนยันว่าความทรงจำดีๆ เหล่านั้นยังคงมีคุณค่าในวันนี้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถกลับไปพักใจได้เสมอ3. วัยเด็กที่ไม่เคยได้สัมผัสอย่างเต็มที่
มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาในวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคง บางคนต้องทำตัวเข้มแข็งตั้งแต่อายุน้อย บางคนต้องรับผิดชอบเกินวัย หรือไม่ได้รับความรักในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ จึงอาจทำให้ไม่เคยมีโอกาสได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างแท้จริงทฤษฎีความผูกพัน (Attachment) ของ John Bowlby ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถพึ่งพาอารมณ์ของผู้ดูแลได้ จะพัฒนารูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นคง และส่งผลต่อความสามารถในการดูแลใจตัวเองเมื่อโตขึ้นผู้ใหญ่หัวใจเด็ก จึงไม่ได้หมายถึงการเป็นคนไม่รู้จักโตหรือขาดความรับผิดชอบ แต่คือการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ตัวเอง เป็นการเยียวยาวัยเด็กที่ไม่เคยได้รับโอกาสในการเล่น ไม่เคยได้รู้สึกว่าตัวเองน่ารัก หรือไม่เคยมีใครให้พื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง พอเมื่อเติบโตขึ้นมาจนสามารถเลือกใช้ชีวิตแบบอิสระได้ จึงเยียวยาตัวเองด้วยสิ่งของที่มีความหมายในความทรงจำเหล่านั้นนั่นเอง4. ความสุขที่ไม่มีเงื่อนไข
ในโลกของผู้ใหญ่ ความสุขมักมาพร้อมเงื่อนไข เช่น ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ต้องเป็นพ่อแม่ที่ดูแลลูกได้ ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบเถึงจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขได้ แต่ในช่วงวัยเด็ก เราสามารถหัวเราะได้กับเรื่องง่ายๆ ร้องเพลงได้ทั้งวันโดยไม่ต้องเสียงเพราะ หรือได้ของเล่นหนึ่งชิ้นก็นับว่าวันนั้นเป็นวันที่แสนพิเศษแล้วDonald Winnicott นักจิตบำบัด กล่าวว่า เด็กไม่ต้องการความสมบูรณ์แบบจากแม่ พวกเขาต้องการแค่แม่ที่ดีพอ และบางทีผู้ใหญ่ก็อาจไม่ต้องการอะไรซับซ้อนเกินไป แค่ความสุขที่ดีพอโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเราสมควรได้รับมันดังนั้น การกลับไปทำอะไรที่เคยทำและมีความสุขกับมัน จึงไม่ใช่การหนีโลกความจริง แต่เป็นการหาพื้นที่ที่ทำให้ตัวเองได้หยุดพักบ้างเท่านั้นเองอ้างอิงWellandgoodTechtimesInsighttimer