‘พร้อมพงศ์’ วอน ‘ณัฐวุฒิ-เชิดชัย’ ทบทวนนั่งกมธ.สันติสุข- ห่วงเข้าทางนักร้องยื่นสอบ
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.68 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุขพ.ศ…. และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ…. รวม 3 ฉบับ และได้ตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ 32 คน มาพิจารณา สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 7 คนนั้น หลายท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้าน แต่มีบางประการที่ค่อนข้างกังวล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในอดีตแกนนำนปช. นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ และหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน
ทั้งนี้หลักการตรากฎหมาย ต้องเกิดจากตัวบุคคล ที่ไม่มีส่วนได้เสียหรือจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายใด ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติให้ใช้กับบุคคลเป็นการทั่วไป ไม่เลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันผู้ร่วมตรากฎหมาย ต้องไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะ ที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วย
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ผู้ที่ร่วมตรากฎหมาย ร่วมจัดทำกฎหมาย ควรจะเป็นคนกลาง เพื่อให้กฎหมายนั้นได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ร่างพ.ร.บ.เสริมสร้างสังคมสันติสุข จุดประสงค์เพื่อต้องการเสริมสร้างสังคม บ้านเมือง มีความสงบสุข สันติสุข ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขจัดความขัดแย้ง เพื่อทำให้บ้านเมืองเดินหน้ากันอย่างปรองดอง ในอดีตนายณัฐวุฒิ นพ.เชิดชัย เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองการชุมนุมของคนเสื้อแดงนับตั้งแต่ปี 51 ตนในฐานะกัลยาณมิตรของพรรคเพื่อไทยและของทั้ง 2 ท่าน ที่พูด ไม่ได้มีจุดประสงค์ไม่ดี เพียงแต่พูดในหลักการตามข้อเท็จจริง หากจะทำให้ทั้ง 2 ท่านไม่สบายใจ ขออภัยไว้ล่วงหน้า
เวลานี้พรรคเพื่อไทย เผชิญประเด็นอ่อนไหวหลายเรื่อง รัฐบาลกับจำนวนเสียงปริ่มน้ำในสภาฯ การตรวจสอบจากฝ่ายค้าน คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประเด็นคลิปเสียงไทย-กัมพูชา กำแพงภาษี การเคลื่อนไหวนอกสภาฯก็หาทุกเรื่องมาล้มรัฐบาล ที่ล้วนอาจเป็นชนวนลุกลามสร้างความไม่พอใจขยายวงกว้างได้ทั้งนั้น ย้อนไปรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ.ร.บ.สุดซอย ในเนื้อหากฎหมายนั้นดี เมื่อฝ่ายค้าน กลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาฯ นำไปปลุกระดมมวลชน สุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในชนวนให้เกิดการยึดอำนาจเมื่อปี 57
สมัยตนทำหน้าที่โฆษกพรรคเพื่อไทย เคยเป็นนักร้องเรียน จนได้ฉายา พร้อมพงศ์พร้อมซอง ไปร้องมาทุกหน่วยงานตรวจสอบ โดนเขาตรวจสอบกลับก็เยอะ กรณีนี้ก็เช่นกัน เห็นแสงรำไรของพวกนักร้องเลย ไม่อยากให้ฝ่ายตรงข้าม รอจังหวะที่เรากลับตัวไม่ทัน เอานิติสงครามมาเล่นงาน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือแม้แต่กฎหมายไปสู่มือสว. อาจเป็นเหตุให้บุคคลอีกกลุ่มใช้เป็นข้ออ้าง การขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมตรากฎหมาย แล้วมาใช้เหตุมาคว่ำกฎหมายได้ ทั้งที่ผลสุดท้ายคนที่เสียประโยชน์ที่สุดคือ พี่น้องประชาชน
“ยังพอมีเวลาให้ทั้ง 2 ท่าน ทบทวน กระบวนการยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง เนื้อหาหลักการของกฎหมายนั้นเพื่อมุ่งหวังช่วยเหลือประชาชน มุ่งหวังทำให้บ้านเมืองสงบ สันติสุขนั้นดีอยู่แล้ว เป็นห่วงว่ากฎหมายนี้จะตกไปเป็นเครื่องมือให้บุคคลที่ไม่เห็นด้วย ร่วมกันคว่ำกฎหมาย รัฐบาลภายใต้การนำพรรคเพื่อไทย 2 ปีจะครบเทอม แต่ขณะนี้เผชิญมรสุมรุมเร้า ถาโถม ดังนั้นการตัดไฟแต่ต้นลม ปิดทุกช่องทางอันอาจนำไปสู่การขยายผลทางการเมือง ปลุกระดมได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าว