โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

ผวาสหรัฐฟาดภาษีไทย 5 เด้ง สูงสุดทะลุ 60% ทุบขีดแข่งขันทรุด ทยอยม้วนเสื่อ

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 10 ชั่วโมงที่ผ่านมา

สหรัฐอเมริกาได้ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับสินค้านำเข้าจากคู่ค้าทั่วโลกในอัตรา 10-50% โดยระบุว่า ประเทศที่มีโครงสร้างภาษีนำเข้าสหรัฐอย่างไม่สมดุลจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงขึ้น เพื่อเป็นการตอบโต้ทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ

สำหรับประเทศไทย สหรัฐประกาศจะจัดเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 36% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐ ในช่วงเวลานับถอยหลังนี้ทุกประเทศ รวมถึงไทย ต่างเร่งยื่นข้อเสนอและเดินหน้าเจรจาต่อรอง กับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อปรับลดอัตราภาษี และหวังได้ข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับภาคธุรกิจส่งออก

อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงนอกเหนือจากภาษีตอบโต้ใหม่ดังกล่าว ที่ผู้ส่งออกไทยจะต้องเผชิญแล้ว ปัจจุบันยังมีกฎหมายด้านภาษีของสหรัฐอีกหลายฉบับ ที่ยังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐให้ลดลงไปอีก

ประกอบด้วยภาษีภายใต้มาตรา 232 (Section 232) ที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการดำเนินมาตรการทางการค้า เช่น การเก็บภาษีนำเข้า ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ, ภาษีตอบโต้ตามมาตรา 301 (Section 301) ที่ให้อำนาจสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ในการสอบสวนและตอบโต้การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงกฎหมาย Tariff Act ( Tariff Act of 1930) ในการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD)กับสินค้าจากต่างประเทศ

ทั้งนี้เมื่อรวมภาระภาษีทั้งหมด ในสินค้าบางรายการของไทยที่ส่งไปจำหน่ายในสหรัฐอาจต้องเสียภาษีนำเข้าโดยรวมสูงถึง 50-60% สถานการณ์นี้ส่งสัญญาณถึงความท้าทายอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออกของไทยที่มีตลาดใหญ่สุดอยู่ที่สหรัฐต้องเร่งปรับกลยุทธ์อย่างเร่งด่วน

เจอภาษี 4 เด้งสายป่านสั้นเสี่ยงปิดตัว

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากที่สุดแล้วไทยเจอภาษีตอบโต้จากสหรัฐในอัตรา 36% ขณะที่ในสินค้าบางรายการต้องเจอภาษีตามกฎหมายของสหรัฐในหลายฉบับ เช่น กฎหมายตามมาตรา 232 ที่เวลานี้มีสินค้าไทยถูกเก็บภาษีตามมาตรานี้แล้วในอัตรา 25% ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงภาษีตาม Tariff Act ที่มีสินค้าไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เช่น ล้อยางรถยนต์ (รถยนต์นั่ง,รถบรรทุก,รถบัส อัตรา 3.89-12.33%) แผงโซลาร์เซลล์อัตรา 300% รวมถึงท่อเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ และอื่น ๆ ที่เจอภาษีเอดีในอัตราแตกต่างกันไป

ขณะที่สินค้าไทย เดิมยังต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐในอัตราพื้นฐานปกติเป็นการทั่วไป (อัตรา MFN) ตามหลักการขององค์การการค้าโลก ในอัตราเฉลี่ย 2-5% ซึ่งเมื่อรวมกับอัตราภาษีตอบโต้ 36% ที่สหรัฐจะเก็บจากไทย และรวมอัตราภาษีทุกรายการแล้ว ในบางสินค้าของไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 50-60% ซึ่งในสินค้าที่มีมาร์จิ้นหรือกำไรต่อหน่วยต่ำไม่เกิน 5% คงจะแข่งขันลำบาก หากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งขันอื่น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐที่ได้รับอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ทำให้มีช่วงห่างภาษี ได้เปรียบไทยอยู่ถึง 16% หากไทยไม่สามารถเจรจาให้สหรัฐปรับลดภาษีลงจาก 36% ให้มาอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือไม่เสียเปรียบเวียดนามมากได้ จะยิ่งเสียเปรียบมาก

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน

“สินค้าไทยบางรายการหากต้องโดนภาษีนำเข้าโดยรวมสูงถึง 50-60% ในการส่งออกไปตลาดสหรัฐคงไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจต้องล้มหายตายจาก บางรายอาจต้องผันตัวเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายแทน เฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีราคาถูก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและทำตลาดในประเทศตามมาอีก

ดังนั้นคงต้องลุ้นว่าข้อเสนอใหม่ของไทยจะโดนใจสหรัฐให้ลดภาษีไทยลงจาก 36% ได้หรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าฉากทัศน์ที่ดีที่สุด ไทยจะได้รับการลดภาษีลงมาอยู่ที่ระดับ 25-30% ส่วนโอกาสได้ภาษี 20% เท่าเวียดนามมีความเป็นไปได้น้อย เพราะเวียดนามลดภาษีให้สหรัฐเป็น 0% ในสินค้าทุกรายการ ขณะที่ไทยไม่สามารถทำได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการในประเทศอย่างรุนแรง”

ภาษี On Top ทุบขีดแข่งขันไทย

สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ ที่เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ “ว่า ปกติการนำเข้าสหรัฐ จะมีการจัดเก็บอัตราภาษีศุลกากรกับผู้นำเข้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศ เช่น ข้าวเก็บภาษี 5% ยางล้อเก็บภาษี 40% เฟอร์นิเจอร์ 3%

ปัจจุบันสหรัฐมีการประกาศใช้ภาษีตอบโต้พื้นฐาน (Baseline Tariff) 10% กับทุกประเทศ ทำให้สินค้าทุกรายการถูกเก็บภาษีแบบ On top เช่น เฟอร์นิเจอร์ สหรัฐเก็บภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(MFN) 3% และภาษีตอบโต้พื้นฐาน 10% รวมเป็น 13% แต่กรณีที่มีสินค้าถูกสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ทางสหรัฐก็จะมีการเก็บภาษีในส่วนนี้เพิ่ม ซึ่งขึ้นอยู่ตัวรายการสินค้าและรายบริษัท

ยกตัวอย่าง เช่น เฟอร์นิเจอร์ ภาษีนำเข้าสหรัฐปกติ 3% เก็บภาษีการทุ่มตลาด 30% และภาษีตอบโต้ 10% รวมเป็น 43% หากสหรัฐปรับขึ้นภาษีตอบโต้กับไทยเป็น 36% ในวันที่ 1 ส.ค. 2568 ก็ต้องเสียภาษีศุลกากรนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 69% เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า สหรัฐฯ มีอัตราภาษี MFN ดังนี้ ภาษีนำเข้าเฉลี่ย 2.2% (trade-weighted average tarff) และ 3.3% (simple averace tariff) โดยภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเฉลี่ย 4% (trade-weighted average tariff) และ 5% (simple average tariff) ส่วนภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมเฉลี่ย 2.1% (trade-weichted average tariff) และ 3.1% (simple averase tarif)

20 สินค้าเสี่ยง สหรัฐลดนำเข้ามากสุด

ขณะเดียวกันจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า สินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ในช่วง 5 เดือน ของปี 2568 (ม.ค.- พ.ค.) ใน 20 อันดับแรกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐมาก หากไม่ได้รับการปรับลดลงจาก 36% ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่งออกมูลค่า 6,567 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ผลิตภัณฑ์ยาง 1,985 ล้านดอลลาร์,เครื่องโทรสารโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,802 ล้านดอลลาร์

อัญมณีและเครื่องประดับ 1,049 ล้านดอลลาร์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,045 ล้านดอลลาร์, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 990 ล้านดอลลาร์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 979 ล้านดอลลาร์, รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 765 ล้านดอลลาร์,เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ 762 ล้านดอลลาร์,อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด 709 ล้านดอลลาร์

เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 556 ล้านดอลลาร์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก 553 ล้านดอลลาร์, แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า 497 ล้านดอลลาร์, อาหารสัตว์เลี้ยง 438 ล้านดอลลาร์, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 385 ล้านดอลลาร์, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 377 ล้านดอลลาร์, เครื่องนุ่งห่ม 371 ล้านดอลลาร์, ข้าว 369 ล้านดอลลาร์, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 336 ล้านดอลลาร์, ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ 336 ล้านดอลลาร์ และอื่น ๆ มูลค่า 6,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาษี 36% กระทบเชื่อมั่น-ลงทุนไทย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กนอ.) ระบุว่า หากสหรัฐฯ ยังคงจัดเก็บภาษีตอบโต้จากไทยในอัตรา 36% ขณะที่เวียดนามถูกเก็บตํ่ากว่า อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเบนเข็มไปลงทุนเวียดนามเพิ่มขึ้น 10–20% โดยเฉพาะการลงทุนประเภท Footloose Industry ที่มุ่งการผลิตและส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นหลัก

ยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้หากการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ ไทยยังถูกเก็บภาษีในระดับเดิม ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจะหดตัว การลงทุนใหม่ชะลอ การลงทุนเดิมอาจต้องถอนฐาน และการส่งออกจะซบเซาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจฉุดการเติบโตของ GDP ไทยให้ตํ่ากว่า 1% ในปี 2568 แม้จะประเมินผลกระทบเชิงตัวเลขได้ยากในขณะนี้ แต่ไทยจำเป็นต้องเดินหน้าฟื้นการลงทุน โดยมุ่งเจรจาเพื่อให้ได้อัตราภาษีที่แข่งขันได้ในระดับ Best Case (15–20%) หรืออย่างน้อยไม่เกิน Base Case (25%) เพื่อไม่เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

20 อุตฯไทยคาดกระทบหนัก

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า มีมากกว่า 20 อุตสาหกรรมจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.ที่จะได้รับผลกระทบหนักหากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าไทย 36% โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหาร ส่งผลให้คู่ค้ากังวล และกระทบการส่งออกโดยรวม ขณะที่เวียดนามซึ่งถูกเก็บภาษีตํ่ากว่ากำลังได้เปรียบในการแข่งขัน

ทั้งนี้แม้อุตสาหกรรมสุขภาพและความงามยังเติบโตดี แต่ก็ต้องรับมือกับต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามและจีน โดยเฉพาะจีนที่มีวัตถุดิบราคาถูกกว่า ซึ่งอาจส่งผลต่อศักยภาพการส่งออกไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก เพื่อใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปยังประเทศที่สาม หากถูกเก็บภาษีเพิ่ม อาจทำให้การลงทุนใหม่ชะลอตัว ส่วน SMEs ไทยหลายรายก็เริ่มทยอยปิดตัว

ด้านนางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ระบุว่า กลุ่ม OEM ที่รับจ้างผลิตให้แบรนด์ต่างชาติเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจน แม้มูลค่าจะไม่สูงมาก แต่หากระดับภาษียังคงอยู่ที่ 36% จะกระทบการตัดสินใจของนักลงทุนแน่นอน โดยระดับภาษีที่พอรับได้ควรอยู่ที่ 20-25% ไม่เกินนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการเมืองในประเทศที่ยังเป็นความเสี่ยงต่อภาพรวมปี 2568

มองไทยรอดยากภาษี 36%

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้จากสหรัฐฯในอัตราที่แตกต่างกันไป โดยล่าสุดไทยถูกเก็บภาษีที่ 36% ยังไม่รวมภาษีที่สินค้าไทยบางรายการถูกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากสหรัฐ หากเป็นเช่นนี้ไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรง ทางออกต้องลดต้นทุน และมองหาน่านนํ้าใหม่

ขณะที่การเจรจา ของรัฐบาลก่อนเส้นตายวันที่ 1ส.ค.นี้ ประเมินว่าอย่างดีสุด ไทยจะได้ลดภาษีลงจากเดิมไม่เกิน5% แต่กรณีเลวร้ายสุด จะคงเดิมที่ 36% เนื่องจากไทยไม่ชัดเจนในเรื่องของการแก้ปัญหาจีนสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกไปสหรัฐ จีนเทา แหล่งสแกมเมอร์ บ่อนพนันโดยคนมีสี ฯลฯ เมื่อเทียบเวียดนามมีความชัดเจนมากกว่าที่จะขจัดปัญหาจีนสวมสิทธิ์สินค้าและสแกมเมอร์ โดยอาศัยความเป็นชาติสังคมนิยม

ส่วนอัตราที่ 20-25% ใกล้เคียงกับเวียดนาม หากสหรัฐลดหย่อนให้ไทยได้จริงมองว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็คงต้องแลกกับที่ไทยสงวนมากพอสมควรโดยไม่เก็บภาษีสหรัฐฯโดยเฉพาะสินค้าเกษตร

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ฐานเศรษฐกิจ

ทำเนียบส่งหนังสือแจ้งรัฐมนตรี เร่งแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กข้าราชการ

16 นาทีที่แล้ว

“พลังงาน” ยันหนุนทีมไทยแลนด์เจรจาลดภาษี 36% นโยบายทรัมป์

18 นาทีที่แล้ว

สธ. ลุยอบรมเข้ม 6 กลุ่มวิชาชีพ-หมอพื้นบ้าน สั่งจ่าย 'ช่อดอกกัญชา'

27 นาทีที่แล้ว

เช็กรายชื่อหลักสูตรสถานศึกษาเข้าร่วมกู้เงิน กยศ.2568 ฉบับที่ 3

29 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความสังคมอื่นๆ

🔴ผลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2568

THE ROOM 44 CHANNEL

ผยง ชี้เศรษฐกิจไทยติดกับดักซ้ำซ้อน เร่งปฏิรูป-ใช้ทรัพยากรให้ตรงจุด

ฐานเศรษฐกิจ

ยกเลิกชะลอส่งแรงงาน ไทยเตรียมส่ง 2,000 คนบินกลับอิสราเอล

Thai PBS

หลังเปิดศูนย์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา 2 วัน มีประชาชนแจ้งเบาะแสแล้วเกือบครึ่งร้อย

สวพ.FM91

ทำเนียบส่งหนังสือแจ้งรัฐมนตรี เร่งแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กข้าราชการ ด่วน

ฐานเศรษฐกิจ

“พลังงาน” ยันหนุนทีมไทยแลนด์เจรจาลดภาษี 36% นโยบายทรัมป์

ฐานเศรษฐกิจ

“บิ๊กเล็ก” ลงพื้นที่ชายแดนใต้ มั่นใจแม่ทัพภาคที่ 4 คุมพื้นที่ได้

THE ROOM 44 CHANNEL

ผบ.ทบ. เปิดฝึก CPX รับมือศึกเขมร

THE ROOM 44 CHANNEL

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...