พลังงานไทยท่ามกลางความผันผวน
โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงานที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว กำลังส่งผลกระทบต่อราคาและความมั่นคงด้านพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ แม้ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่ Net Zero แต่ความเป็นจริงคือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา เห็นได้จากการที่สหรัฐชะลอการผลักดันเป้าหมาย Net Zero ในขณะที่บริษัทพลังงานทั่วโลกยังคงเห็นว่าทิศทางนี้เป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย
เช่นเดียวกับที่นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวในงาน iBusiness Forum Decode 2025 : The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคต เศรษฐกิจไทย ว่า ทิศทางพลังงานโลกในปัจจุบันต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจผันผวน แรงกดดันจากเงินเฟ้อ นโยบายที่ไม่แน่นอน และการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล
ในขณะที่ปัจจัยระยะยาวคือความท้าทายหลักในการลดคาร์บอนสู่เป้าหมาย Net Zero การเดินทางสู่พลังงานสะอาดจึงต้องอาศัยความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืน และราคาพลังงานที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ปตท.เองก็ยังคงให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งข้อมูลการใช้พลังงานโลกชี้ชัดว่า แม้พลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึง 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดจนถึงปี 2593 เนื่องจากข้อจำกัดด้านเสถียรภาพและราคา
ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดกว่าจึงยังคงมีบทบาทสำคัญและสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2566 เป็น 26% ในปี 2593 ในขณะที่น้ำมันจะลดลงจาก 31% เหลือ 28% แนวโน้มนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มองว่าก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ด้วยความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติได้เองในภูมิภาค เช่น ไทย เมียนมา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งตอบโจทย์ด้านความมั่นคงทางพลังงานได้เป็นอย่างดี
ทิศทางพลังงานของประเทศไทยเต็มไปด้วยทั้งโอกาสและความท้าทาย แม้กระทรวงพลังงานจะส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านความเสถียรในการผลิตและต้นทุนที่สูง ซึ่งส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ก๊าซธรรมชาติจึงยังคงมีบทบาทสำคัญและสัดส่วนการใช้ไม่ได้ลดลงในระยะยาว โดยประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้ 50% ของการใช้ทั้งหมด นำเข้าจากเมียนมา 15% และที่เหลือเป็นการนำเข้า LNG ถึง 30%
และเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า LNG ซึ่งมีความเสี่ยงด้านราคาในช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ การปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาไฮโดรเจน และการดักจับและจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ การลดการปล่อยคาร์บอนเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กลยุทธ์ที่สำคัญประกอบด้วย 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน : การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด 2.การใช้พลังงานสะอาด : การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์และลม 3.การปลูกป่า : การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 4.การใช้กฎหมายและกฎระเบียบ : การออกนโยบายที่สนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน
และ 5.CCS : เทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 500 โครงการทั่วโลกใน 5 ปีข้างหน้า รวมถึงการพัฒนาไฮโดรเจนซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพสูง แม้ปัจจุบันจะมีต้นทุนสูง แต่ในอนาคตเมื่อต้นทุนลดลง การนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น
ทิศทางพลังงานโลกและไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืน และราคาที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ บทบาทของภาครัฐและบริษัทพลังงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำพาประเทศไทยฝ่าคลื่นความผันผวนและสร้างอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า