เปิดใช้แล้ว!สะพานเชื่อมระบบนิเวศ จ.ระยอง-จ.จันทบุรี สาย รย.4060 “เขาอ่างฤาไน - เขาชะเมา - เขาวง”
“สุริยะ” เผย “ทช.” เปิดใช้สะพานเชื่อมระบบนิเวศ “เขาอ่างฤาไน - เขาชะเมา - เขาวง” ยกระดับการเดินทางสาย รย.4060 จ.ระยองและจ.จันทบุรี แก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานบนสายทาง รย.4060 อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เชื่อมต่อระบบนิเวศระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา - เขาวง ในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี 2 แห่ง ถือเป็นโครงการก่อสร้างสายทางสนับสนุนโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้อุดมสมบูรณ์และเกิดการสมดุลระหว่างระบบนิเวศ ปัจจุบัน ทช. ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้ในการสัญจรแล้ว รวมทั้งช้างป่าสามารถเดินลอดใต้สะพานได้อย่างสะดวกปลอดภัย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ควบคู่กับการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าได้อย่างยั่งยืน
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ได้ก่อสร้างสะพาน จำนวน 2 แห่ง พร้อมมีที่จอดรถบนสะพานทั้ง 2 ด้าน ความยาวด้านละ 30 เมตร สำหรับให้เจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ที่สนใจใช้ในการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เดินผ่านหรืออาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว สะพานมีโครงสร้างส่วนบนเป็นโครงสร้างเหล็กชนิดป้องกันการกัดกร่อนและส่วนล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ความกว้างสะพาน 11 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร (ไป - กลับ) และมีความสูงช่องลอด 10 เมตร ใช้งบประมาณ 587 ล้านบาท
มีรายละเอียดงานก่อสร้าง ดังนี้
- สะพานแห่งที่ 1 ความยาวสะพาน 630 เมตร ตั้งแต่ กม.ที่ 4+525 - 5+155 และมีถนนต่อเชื่อมผิวจราจรเดิม ความยาว 420 เมตร กว้าง 8 เมตร รวมไหล่ทาง ถนนคู่ขนานพร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน กว้าง 4 เมตร รวมไหล่ทาง ความยาว 1,596 เมตร พร้อมถนนจุดกลับรถทิศทางเดียว กว้าง 3.50 เมตร รวมไหล่ทาง ความยาว 180 เมตร
- สะพานแห่งที่ 2 ความยาวสะพานรวม 420 เมตร ตั้งแต่ กม.ที่ 9+517.25 - 9+937.25 และถนนต่อเชื่อมผิวจราจรเดิม ความยาว 380 เมตร กว้าง 8 เมตร รวมไหล่ทาง ถนนคู่ขนานพร้อมจุดกลับรถใต้สะพาน กว้าง 4 เมตร รวมไหล่ทาง ความยาว 1,596 เมตร พร้อมถนนจุดกลับรถทิศทางเดียว กว้าง 3.50 เมตร รวมไหล่ทาง ความยาว 180 เมตร
“สะพานดังกล่าวถือเป็นสะพานเชื่อมระบบนิเวศแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และเป็นสะพานเชื่อมระบบนิเวศแห่งแรกของ ทช. นับเป็นก้าวสำคัญในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้สามารถเคลื่อนย้ายข้ามถิ่นอาศัยได้อย่างปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุจากการข้ามถนน รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อันจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด“ นายมนตรี กล่าว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO