สมาคมค้าปลีกชี้ทางรอดเศรษฐกิจ ปั้นสวรรค์นักช็อป-ยกเพดานช้อปดีมีคืน
สมาคมค้าปลีก แนะรัฐสร้าง “สวรรค์นักช็อป” มัดรวมลด-เว้น-คืนสารพัดภาษี หวังดูดนักช็อปคุณภาพสูง พร้อมขยายวงเงิน Easy e-Receipt เฟส 2-ช้อปดีมีคืนแตะแสนบาท เชื่อปลุกจับจ่ายพุ่งแสนล้าน ย้ำเร่งผ่านงบฯลอตแรก 1.15 แสนล้าน ก่อนจัดสรรก้อนสอง 4-5 หมื่นล้าน ลงปลุกเอสเอ็มอีฐานราก มั่นใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตแข็งแกร่งยั่งยืน
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังซื้อในไทยเปราะบาง ขณะที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชะลอการลงทุนรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (RSI-Retail Sentiment Index) ในเดือนมิถุนายนปรับลดลงต่อเนื่อง ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 42 เดือน
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกลดลงในทุกองค์ประกอบ ทุกภูมิภาค ทั้งยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ ความถี่ในการใช้จ่าย โดยคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 3 สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวและระมัดระวังในการจับจ่าย ถึงแม้จะมีสัญญาณบวกจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ยังขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่ชัดเจน ขณะที่ภาคเอกชนเฝ้ารอการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และต้องการเห็นมาตรการฟื้นฟูที่ลงมือปฏิบัติได้จริงในช่วงครึ่งปีหลัง
สถานการณ์ท้าทายนี้ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ที่บรรยากาศการจับจ่ายของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการจ้างงานของผู้ประกอบการไทยในภาคค้าปลีกต้องเผชิญแรงกดดันรอบด้าน
ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนทางการเมือง การบริโภคที่ชะลอตัว การลงทุนที่ลดลง และปัจจัยภายนอก อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย นโยบายภาษีของสหรัฐ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าไทยจะสามารถเจรจาให้ลดลงต่ำกว่า 36% หรือใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กในธุรกิจได้หรือไม่ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
ปั้นสวรรค์นักช็อป
นายณัฐกล่าวต่อไปว่า เพื่อรับมือสถานการณ์ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงพัฒนาแนวทางฟื้นเศรษฐกิจใน 2 แกนหลัก คือ อัดฉีดเม็ดเงินรัฐอย่างตรงจุด เพื่อฟื้นกำลังซื้อทั่วประเทศ ควบคู่กับปั้นไทยเป็นสวรรค์ของนักช็อป หรือ Thailand Shopping Paradise เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ
โดยการสร้าง Thailand Shopping Paradise นั้น อาจทดลองมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทันที ณ ร้านค้า (Instant Tax Refund) สำหรับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อขั้นต่ำ 3,000 บาท อาจเริ่มจากร้านค้าสมาชิกในย่านช็อปปิ้งหลักของกรุงเทพฯ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้ากลุ่มแฟชั่น เสื้อผ้า น้ำหอม และเครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 20-30% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาค และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง รวมถึงลดแรงจูงใจในการซื้อสินค้าจากตลาดสีเทา
พร้อมกับตั้งเขตปลอดภาษี (Free Tax Zone) ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการกลับมาเที่ยวซ้ำในระยะยาว รวมถึงนำโมเดลงานสิงคโปร์ลดทั้งเกาะ หรือ Great Singapore Sale มาปรับใช้ จัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ อาศัยความร่วมมือของห้างค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างบรรยากาศจับจ่ายทั่วประเทศ เป็นต้น
เสนอขยายระยะเวลาวีซ่าของนักท่องเที่ยวรัสเซียจาก 30 วัน เป็น 45 วัน หลังสิ้นสุดโครงการเดิม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยว โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงและมักนิยมพำนักระยะยาว
ขยายวงเงินช้อปดีมีคืนแสนบาท
ในส่วนของการอัดฉีดเม็ดเงินนั้น รัฐควรมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้วยโครงการกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงไฮซีซั่นอย่าง Easy e-Receipt เฟส 2 หรือช้อปดีมีคืน ช่วงระหว่างกันยายน-ธันวาคม โดยปรับเงื่อนไขให้เข้าร่วมง่ายขึ้น รวมสินค้าทั่วไปและสินค้า OTOP รวมถึงเพิ่มเติมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในวงเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 100,000 ล้านบาท จากเดิมราว 70,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ควรเร่งผ่านงบฯลอตแรก 1.15 แสนล้าน จากกรอบงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบกระจายการลงทุนครอบคลุมทั่วประเทศ
ส่วนงบฯคงเหลืออีก 40,000-50,000 ล้านบาท ควรจัดสรรเพื่อสร้างโครงการด้าน กระตุ้นกำลังซื้อฐานรากให้มากยิ่งขึ้น พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีมากกว่า 90% ของภาคธุรกิจทั้งหมด และเป็นผู้จ้างงาน 50-70% ของการจ้างงานโดยรวม ผ่านโครงการ อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
เช่นเดียวกับการเร่งเบิกจ่ายงบฯปี 2568 ให้แล้วเสร็จก่อน 30 ก.ย. 68 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว พร้อมจัดทำร่างงบประมาณรายจ่าย ปี 2569 ให้เป็นไปตามกรอบเวลา เพื่อความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินการ
รวมถึงต้องดำเนินการปราบปรามธุรกิจ “นอมินี” สวมสิทธิโดยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต และการคุมเข้มสินค้านำเข้าราคาถูกไม่ได้มาตรฐาน อย่างต่อเนื่องจริงจัง
สมาคมพร้อมร่วมหารือ
นายณัฐย้ำว่า สมาคมพร้อมที่จะร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยเชื่อมั่นว่าหากรัฐบาลผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ควบคู่กับความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สมาคมค้าปลีกชี้ทางรอดเศรษฐกิจ ปั้นสวรรค์นักช็อป-ยกเพดานช้อปดีมีคืน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net