6 กลุ่มอาการป่วยทางจิต สัญญาณใจบอกไม่โอเค อย่าปล่อยเบลอ!
ความผิดปกติทางจิต หมายความว่า อาการผิดปกติของจิตใจ ที่แสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ความจํา สติปัญญา ประสาทการรับรู้ หรือการรู้เวลา สถานที่ หรือบุคคล รวมทั้ง อาการผิดปกติของจิตใจ ที่เกิดจากสุราหรือสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
การจําแนกผู้ป่วยจิตเวช สามารถทําได้โดยพิจารณาจากลักษณะอาการและกลุ่มอาการที่แสดงออกมาโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. กลุ่มความผิดปกติทางจิต (Psychotic disorders) ประกอบด้วย
- โรคจิตเภท มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน หูแว่ว การพูดไม่ปะติดปะต่อหรือมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ
- โรคอารมณ์แปรปรวน ชนิดมีอาการทางจิต มีอาการทางอารมณ์ร่วมกับอาการทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว ที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย
- โรคหลงผิด มีอาการหลงผิดอย่างเดียว โดยไม่มีอาการทางจิตอื่น ๆ เช่นหลงผิดว่าตนเองมีพลังพิเศษ หรือถูกปองร้าย
2. กลุ่มความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood disorders) ประกอบด้วย
- โรคซึมเศร้า มีอาการซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย หรือมีความคิดอยากตาย
- โรคอารมณ์สองขั้ว มีอาการทั้งซึมเศร้าและอาการคลั่ง สลับกันไปมา
3. กลุ่มความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurotic disorders) ประกอบด้วย
- โรควิตกกังวล มีอาการวิตกกังวล กลัว หรือตื่นตระหนกในสถานการณ์ต่าง ๆ
- โรคย้ำคิดย้ำทํา มีความคิดหรือพฤติกรรมซ้ํา ๆ ที่ควบคุมไม่ได้
- โรคกลัว มีความกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหรือสถานการณ์บางอย่าง
4. กลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality disorders) มีลักษณะบุคลิกภาพที่ผิดปกติและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจําวัน
5. กลุ่มความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด มีอาการทางจิตหรือพฤติกรรมผิดปกติจากการใช้สารเสพติดต่าง ๆ เช่น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด
6. กลุ่มอาการทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อม (Dementia) มีอาการความจําเสื่อม หลงลืม การใช้ความคิดและการตัดสินใจผิดปกติ ความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไปความผิดปกติของการกิน เช่น กินมากเกินไป หรือเบื่ออาหาร ความผิดปกติทางพัฒนาการ เช่น ออทิสติกหรือสมาธิสั้น
ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
พญ.ปานชนก ทองมโนกูร แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพและจิตเวช ชุมชนท้องถิ่นต้องส่งเสริมสุขภาพจิตและดูแลผู้ป่วยจิตเวช ในเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ประจำปี 2568 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่นอภิวัฒน์ระบบบสุขภาวะประเทศ ว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทยน่ากังวลใจ
โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2568 จากผู้ประเมินราว 6 ล้านคน พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี มี ภาวะซึมเศร้า มีความเครียด เสี่ยงฆ่าตัวตายค่อนข้างสูง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวและส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน
นอกจากนี้ ได้ทำการเก็บ สถิติการฆ่าตัวตาย ปี 2566 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เฉลี่ยวันละ 14 คน และฆ่าตัวตายสำเร็จในทุก 2 ชั่วโมง จึงต้องคอยดูแลสุขภาพจิตสุขภาพใจคนใกล้ตัว และผู้ใช้ยาเสพติดมากกว่า 6 ล้านคน ยังต้องการการดูแลที่ครอบคลุมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
ขณะเดียวกันมีผู้ใช้สารเสพติดรายใหม่ ประมาณ 150,000 คน ก่อความรุนแรงถึง 13.86 % ในจำนวนนี้เป็นการก่อเหตุซ้ำราว 1.5 % ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงต้องเริ่มจากการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
5 ด้านส่งเสริมสุขภาพจิต
ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทาของระบบสาธารณสุข อีกทั้ง ผู้ป่วยขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องที่ค่อนข้างสูง ทั้งเรื่องการใช้สารเสพติด ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว หรือโรคจิตเภท เนื่องจากคนไข้มากขึ้น แต่สถานบริการ บุคลากรทางการกแพทย์มีอย่างจำกัด จึงต้องทำให้ระบบสาธารณสุขไปได้ภายใต้ความจำกัด โดยต้องเริ่มจากการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
กรอบแนวคิดในการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาทางจิตใจ 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.การสร้างนโยบายสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ
2.การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจิต เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียว
3.การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล การรอบรู้ด้านสุขภาพจิต รู้เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพ รู้จักประเมินสุขภาพจิตตัวเอง รู้ว่าต้องเข้าถึงการบริการเมื่อไหร่และอย่างไร
4.การสร้างความเข้มแข็งการดำเนินในชุมชน
5.การปรับระบบบริการสุขภาพ โดยการมุ่งเน้นที่การส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
ช่องทางการเข้าถึงบริการ
การจะลดคนไข้ในรพ.ได้ต้องอาศัยความร่วมมืของทุกคนในประเทศ จะต้องเริ่มจากการดูแลตนเอง รู้ว่าถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อย ปานกลางต้องทำอย่างไร เข้าถึงการรับบริการได้อย่างไร และหากพบบุคคลกลุ่มเสี่ยงมีช่องทางการส่งต่ออย่างไร ทั้งนี้ ช่องทางการเข้าถึง บริการด้านสุขภาพจิต ได้แก่
- สายด่วนสุขภาพ 1323
- กรณีเร่งด่วนโทร 1669
- หน่วยบริการสาธารณสุข
คนไข้ที่ป่วยสุขภาพจิตมีสิทธิเข้าถึงบริการบำบัดรักษา ฟื้นฟู ซึ่งคนทั่วไปหากพบเห็นบุคคลที่มีลักษณะน่าสงสัยมีความผิดปกติทางจิตหรือมีอันตราย สามารถนำเข้าสู่การบำบัดรักษาได้ด้วยการแจ้งพนักงานปกครอง หรือสาธารณสุข
"สังเกตจากบุคคลที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่า 1 อย่าง คือ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจนคนเดียว ฉุนเฉียว หวาดระแวง ”พญ.ปานชนกกล่าว
4 ระยะชุมชนดูแลผู้ป่วยจิตเวช
ทั้งนี้ ชุมชนมีบทบาทอย่างมากต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวช นายปวัน พรหมตัน ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยจิตเวชโดยชุมชนท้องถิ่น ดำเนินการทั้ง 4 ระยะ ประกอบด้วย
1.ระยะเฝ้าระวัง แยกเป็นกลุ่มที่ไม่มีประวัติป่วย แต่มีพฤติกรรมเสี่ยงใช้สารเสพติด การดื่มสุราเรื้อรัง ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว และได้รับการกระทบทางใจเฉียบพลัน ต้องมีการคัดกรอง และฐานข้อมูล และกลุ่มแสดงอาการ ต้องมีกลไกเฝ้าระวัง สังเกตอาการ ทานยาทั้งจากฝ่ายตำรวจ ท้องถิ่นและญาติ
2.ระยะฉุกเฉิน ต้องมีทักษะในการเกลี้ยกล่อม ความรอบรู่ในการประสานส่งต่อ ทีม MCATT ประจำหมู่บ้าน ตำบล ระบบบริการส่งต่อ
3.ระยะบําบัดรักษา เมื่ออาการดีขึ้น มีการรับ-ส่งคืนชุมชน จะต้องมีแผนการรักษาต่อเนื่อง กรณีมีญาติ ให้ญาติและรพ.สต.เข้าร่วม หากไม่มีญาติ มีกลไกรับรอง เช่น ผู้นำท้องที่ หรือรพ.สต.
4.ระยะดูแลต่อเนื่อง ทั้งมิติสุขภาพ มิติสังคมในการให้โอกาสอยู่ร่วมกับชุมชน มิติเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างอาชีพ