โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ล้มประมูลคลื่น กสทช.เสี่ยง 157 ประชาชน ซิมดับ เอกชนเสียหาย

PostToday

อัพเดต 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา

หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 850, 1500, 2100 และ 2300 MHz เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 สิ้นสุดลง คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าทุกอย่างจบเรียบร้อยแล้ว แต่ความจริงยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญคือ การรับรองผลการประมูลโดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ กสทช. จะต้องรับรองผลการประมูลภายใน 7 วันนับจากวันสิ้นสุดการประมูล ซึ่งจะครบกำหนด 7 วันคือวันอาทิตย์ ที่ 6 ก.ค. 2568 นี้

คำถามสำคัญคือ หากวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ค. 2568 คณะกรรมการ กสทช. ไม่รับรองผลประมูล ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยมีอะไรบ้าง?

ประชาชนชนบท-ผู้สูงวัย เสี่ยง ซิมดับ

1. ผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการมือถือทั่วประเทศทั้งในวันนี้และในอนาคต รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ในระยะสั้น อาจดูเหมือนไม่มีผลอะไร เพราะมือถือยังใช้ได้ เน็ตยังเร็ว แต่ในความเป็นจริง คลื่นความถี่ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้ หากการรับรองผลล่าช้า หรือถูกยกเลิก ผู้ใช้บริการบางส่วน ที่ใช้บริการอยู่บนคลื่นความถี่ดังกล่าวโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท หรือผู้สูงวัยที่ยังใช้มือถือ จะเสี่ยงต่อภาวะ “ซิมดับ”

นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ดาต้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี (+20-30% ต่อปี) จะเริ่มเกิดภาวะคอขวดในระบบ เน็ตอาจช้าลง ความหน่วง (latency) สูงขึ้น วิดีโอคอลหรือเกมอาจกระตุก ตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนถนนที่รถเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เราไม่สามารถขยายหรือสร้างเลนใหม่ สุดท้ายรถก็ติดทุกเส้น

ผลกระทบในระยะต่อไปก็จะลุกลามไปกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Smart Farming, Telemedicine การแพทย์ทางไกล หรือ อุปกรณ์ IOT ที่เป็นนวัตกรรมที่ต้องการแบนด์วิธสูง การไม่สามารถขยายคลื่นความถี่เพื่อรองรับการต้องการทั้งหมด จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลสะดุด จนกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนภาพรวมของประเทศ

เอกชนถูกแขวน ความเสียหายทางธุรกิจ

2. ผลกระทบต่อผู้ให้บริการหรือเอกชนที่เข้าร่วมประมูล การลงทุนที่ถูกแขวน เอกชนที่เข้าประมูลตามประกาศของคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างครบถ้วนเรียบร้อย และผลการประมูลก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการประมูล ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดในประกาศทุกประการ แต่สถานการณ์กลับกลายเป็นว่า ผลการประมูลที่ถูกต้องของเอกชนทั้งคู่

กลับไม่ถูกใจ จนเป็นผลให้คณะกรรมการ กสทช.ไม่รับรองผลการประมูล หากเป็นเช่นนั้นคณะกรรมการ กสทช. ก็ต้องมีคำตอบกับสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศว่า การดำเนินการที่ถูกต้องทั้งหมดทุกขั้นตอน เหตุใด คณะกรรมการ กสทช.จึงไม่รับรองผลการประมูลครั้งนี้ ??

อย่าลืมว่า การประมูลครั้งนี้ แม้เป็นเอกชนในประเทศแต่ผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งก็เฝ้าติดตามผลการประมูลที่จะส่งผลต่อการขยายธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย การไม่รับรองผลครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับเอกชนที่เข้าร่วมประมูล

เนื่องจากการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูล เอกชนจะต้องจัดเตรียมแผนงาน จ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อวางแผนทางการเงิน จัดหาหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกัน จ้างที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเครือข่ายเพื่อศึกษาแนวทางการลงทุนที่คุ้มค่าของคลื่นแต่ละย่านความถี่ที่มีมูลค่าสูงนับหมื่นล้าน

ความเสียหายทั้งหมดจากที่เอกชนได้ลงทุนไปอาจจะสูญเปล่าเปรียบเสมือนการลงทุนที่ถูกแขวน โดยไม่ชัดเจนว่าจะเห็นผลตอบแทนอย่างไร

กสทช.เสี่ยง 157

3. ผลกระทบต่อ คณะกรรมการ กสทช. ในแง่กฎหมาย ตาม ประกาศ คณะกรรมการ กสทช. ระบุชัดเจนว่าคณะกรรมการ กสทช.จะต้องรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ภายใน 7 วัน นับจากวันสิ้นสุดการประมูล ดังนั้นหากหลังวันที่ 6 ก.ค. 2568 ซึ่งเป็นวันครบ 7 วันตามประกาศดังกล่าว คณะกรรมการ กสทช.ยังไม่รับรองผลการประมูล ก็จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สําหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740 - 1785/1835 - 1880 MHz ข้อ 9(5)

ซึ่งเป็นข้อกำหนดหน้าที่ให้คณะกรรมการ กสทช. ดำเนินการรับรองผลการประมูลให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว และไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่ปฏิบัติหรือไม่รับรองได้แต่อย่างใด อันจะถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรอันอาจถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) อีกทั้งยังเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นจากการละเมิด

นอกจากนี้การที่คณะกรรมการกสทช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายรู้ว่าตนมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องดำเนินการรับรองผลการประมูลให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาแต่มีเจตนาไม่ดำเนินการ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงอาจเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งต้องรับโทษทางอาญาอีกกรณีหนึ่งด้วย

ภาพลักษณ์การลงทุนสั่นคลอน

4. ผลกระทบต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น กรณีคณะกรรมการ กสทช. ไม่รับรองผลการประมูลโดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบที่คณะกรรมการ กสทช. กำหนดขึ้นมาเอง ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อภาพลักษณ์การลงทุนในประเทศไทย

โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เทคโนโลยีและดิจิทัลที่มีเสียงเรียกร้อง อยากให้รัฐสร้างแรงจูงใจให้เอกชนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ หรือแม้แต่ข้อเสนอจากองค์กรเอกชนNGO ที่อยากให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 2 รายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะมีเอกชนรายใดกล้าที่จะเข้ามาแบกรับความเสี่ยงจากการดำเนินการที่ไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนขององค์กรกำกับนโยบาย

ท้ายที่สุดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ จะทำให้ประเทศไทยเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่เดินหน้าแผนดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

ต้องจับตาดูว่า ในการลงมติวันที่ 6 ก.ค. 2568 ที่มีกสทช.ทั้ง 7 เสียง ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.,นายต่อพงศ์ เสลานนท์,พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร,พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ มติจะออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งในคราวที่บอร์ดกสทช.ลงมติให้ประมูลคลื่นมือถือนั้น มติ ไม่ได้เป็นเอกฉันท์ โดยนางสาวพิรงรองและนายศุภัช ลงมติไม่เห็นชอบกับการประมูล ขณะที่พล.อ.ท.ธนพันธุ์ งดออกเสียง

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก PostToday

ทรัมป์เมินเจรจา ส่งจดหมาย "ยื่นคำขาด" บีบ 12 ชาติ รับอัตราภาษีใหม่

33 นาทีที่แล้ว

"ดร.เอ้ สุชัชวีร์" ตั้งพรรคใหม่ ชู "ปฏิรูปการศึกษา" แก้วิกฤตชาติ

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“ชาดา” ซัดรัฐบาลอาฆาตแค้น แนะกลับไปทำงาน แก้ปัญหาประชาชน

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

กยศ. เดินหน้าทวงหนี้ 3.5 ล้านราย ส่ง SMS ย้ำ! ชำระคืน ก่อน 5 ก.ค.นี้

3 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าว ธุรกิจ-เศรษฐกิจ อื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...