ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ภัยเงียบผู้หญิง แพทย์เผยอาการและวิธีรักษา
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS ) คือ ภาวะที่รังไข่ของผู้หญิงมีถุงน้ำเล็ก ๆ จำนวนมาก ส่งผลให้ระบบฮอร์โมนทำงานผิดปกติ และมีฮอร์โมนเพศชายสูงเกินไป ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ไม่มีการตกไข่ มีโอกาสเกิดภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จากข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 1 ใน 10 คน หรือราว 10–15% อาจเป็น PCOS โดยไม่รู้ตัว
5 สัญญาณ PCOS ถุงน้ำรังไข่หลายใบ จุดเริ่มต้นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
วิธีรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ สาเหตุที่อันตรายควรรีบรักษาและไม่ควรกังวล
สาเหตุของ PCOS
ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศชายที่สูงผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการตกไข่ ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน นอกจากจะพัฒนาไปสู่ภาวะนี้ได้ง่ายแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต นอกจากนี้ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็น PCOS ก็มีแนวโน้มเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 50
อาการของ PCOS
- ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ขาดหายไปนาน หรือมาน้อยผิดปกติ
- อาการของฮอร์โมนเพศชายสูง เช่น มีสิวขึ้นเรื้อรัง ขนขึ้นดกผิดปกติบริเวณคาง หน้าอก หรือท้อง ผมบาง ศีรษะล้านแบบผู้ชาย
- น้ำหนักขึ้นง่ายและลดน้ำหนักยาก โดยเฉพาะการมีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง
- ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ผู้ป่วย PCOS กว่า 70% มีภาวะดื้อต่ออินซูลินร่วมด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต
การวินิจฉัย PCOS อาศัยอาการประจำเดือนผิดปกติ อาการของระดับฮอร์โมนเพศชายสูง ร่วมกับการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงพบถุงน้ำหลายใบในรังไข่
PCOS กับภาวะมีบุตรยาก
สาเหตุสำคัญของภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง เพราะไม่มีการตกไข่อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่เป็น PCOS หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จมาก 70–80 %
แนวทางการรักษา PCOS
แม้ว่า PCOS จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การปรับพฤติกรรมและการใช้ยา
การปรับพฤติกรรม
ลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักลงเพียงร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น สามารถช่วยให้การตกไข่กลับมาเป็นปกติได้
โภชนาการ เน้นรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง ลดน้ำตาล แป้ง และอาหารแปรรูป
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้ออกกำลังกายแบบปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
การใช้ยา หากการปรับพฤติกรรมยังไม่เพียงพอ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาร่วมด้วย เช่น
ยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนและควบคุมประจำเดือนให้มาปกติ
- ยา Metformin เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและปรับปรุงภาวะดื้อต่ออินซูลิน
- ยากระตุ้นการตกไข่ สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร
ผู้หญิงที่เป็น PCOS สามารถตั้งครรภ์ได้ หากได้รับการดูแลและวางแผนที่เหมาะสม จากการศึกษาพบว่าหากผู้หญิงที่เป็น PCOS สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างน้อยร้อยละ 10 โอกาสในการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ควบคุมน้ำหนักเลย
ภาวะ PCOS แม้จะฟังดูซับซ้อน แต่เป็นภาวะที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จำนวนไม่น้อยต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม ด้วยความเข้าใจในสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสมโดยสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วย PCOS ก็สามารถควบคุมอาการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีประจำเดือนผิดปกติ สิวขึ้นเรื้อรัง ขนดก หรือผมร่วงผิดปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการดูแลอย่างถูกต้องและทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร