จุดเปลี่ยนการเมืองไทย ศาลฯ รับ-ไม่รับ คำร้องถอดถอนนายกฯ | เช้านี้ที่หมอชิต
2 ดูเช้านี้ที่หมอชิต - เรียกได้ว่าอุณหภูมิการเมืองร้อนระอุขึ้นอีกครั้งทั้ง ๆ ที่อยู่ในฤดูฝน เพราะวันนี้ 1 ก.ค. จะมีการพิจารณาคดีสำคัญที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยอีกครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคำร้องถอดถอน นายกฯ แพทองธาร หลังมี สว. 36 คน เข้าชื่อยื่นคำร้องให้ศาลฯ พิจารณาว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง 4 หรือไม่ จากกรณีคลิปเสียงสนทนาที่พูดคุยกับ สมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ในประเด็นความตึงเครียดชายแดนไทย-กัมพูชา ต้องบอกว่าไม่ใช่เฉพาะ นายกฯ แพทองธาร ที่จะต้องลุ้นระทึกกับคำวินิจฉัยของศาลฯ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็จะเดินทางไปศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เช่นกัน ซึ่งเป็นการไปตามนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีมาตรา 112 กรณีไปให้สัมภาษณ์สื่อฯ เกาหลีใต้พาดพิงสถาบันฯ ซึ่งมีคำยืนยันแล้วว่าจะเดินทางไปด้วยตัวเอง คดีของ นายทักษิณฯ แม้จะเป็นเพียงการตรวจพยานหลักฐาน แต่เชื่อว่าหากเจอสื่อฯ ก็น่าจะมีการให้สัมภาษณ์ในหลาย ๆ ประเด็น เพราะเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสื่อฯ ครั้งแรกในรอบ 1 เดือนเศษ ๆ ยกเว้นว่าจะแอบไปขึ้นด้านหลังศาลฯ เมื่อวาน 30 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวสอบถาม นายกฯ แพทองธาร ว่ากังวลกับเรื่องนี้หรือไม่ สำหรับแนวทางการพิจารณาคดีของ นายกฯ แพทองธาร หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกคำร้องขึ้นมาพิจารณา ก็น่าจะมี 3 แนวทางในการวินิจฉัย คือ 1. ศาลฯ ตีตกคำร้อง ทำให้ยุติคดีนี้ทันที และนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม 2. ศาลฯ รับคำร้อง โดยไม่ได้สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะทำให้นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม 3. ศาลฯ รับคำร้อง และมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ รองนายกฯ ภูมิธรรม ในฐานะรองนายกฯ ลำดับที่ 1 จะปฏิบัติหน้าที่แทน หลายฝ่ายมองข้ามช็อตไปว่า หากเหตุการณ์เกิดขึ้นตามแนวทางที่ 3 เชื่อว่า นายกฯ แพทองธาร จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในคณะรัฐมนตรี แต่เป็นตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะล่าสุดตามโผ ครม. ที่มีการปรับเปลี่ยนสะเด็ดน้ำกระทั่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ปรากฏว่า นายกฯ แพทองธาร ได้นั่งควบตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ด้วย แม้เจ้าตัวยืนยันว่าต้องการเข้าไปดูเรื่อง Soft Power ไม่ได้เกี่ยวกับคดีนี้เลยก็ตาม ประเด็น นายกฯ แพทองธาร จะได้ปฏิบัติหน้าที่ใน ครม. ต่อหรือไม่นั้น มีความเห็นของนักกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 แนวคิด โดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า กรณีนี้ให้ลองเทียบเคียงกับกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ว่าในตอนนั้นสามารถทำหน้าที่ รัฐมนตรีกลาโหม ต่อได้หรือไม่ ? แต่ด้านหนึ่ง คือ นายศุภชัย ใจสมุทร มือกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย โพสต์ข้อความผ่าน F acebook มองว่าเป็นคนละกรณีกัน เพราะกรณี พลเอกประยุทธฯ คือ กรณีศาลฯ วินิจฉัยตามมาตรา 158 วรรค 4 กรณีดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี หรือไม่ ก่อนศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่ยังปฏิบัติหน้าที่ รัฐมนตรีกลาโหม แตกต่างจากกรณี นายกฯ แพทองธาร ที่เป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของ รัฐมนตรี ไม่ใช่กล่าวหา นายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากศาลฯ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ อาจเพราะสงสัยว่า รัฐมนตรี ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจนขาดคุณสมบัติ และสถานะความเป็น รัฐมนตรี จึงต้องหยุดลงจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น กดติดตามช่อง CH7HD News ได้ที่ : https://cutt.ly/YTch7hdnews ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://news.ch7.com #เช้านี้ที่หมอชิต #ข่าวช่อง7 #CH7HDNEWS ติดตาม CH7HD News และ TERO Digital ได้ที่ : https://linktr.ee/ch7hdnews_tero
เล่นอัตโนมัติ