‘ไอซ์ รักชนก’ ร่ายยาวฉะกระทรวงเกษตรฯ งบอื้อแต่ชาวบ้านยังยากจน
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้องบประมาณวันละตอน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะประมาณ 29% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งตั้งคำถามกันมาตลอดว่า ทำไมเกษตรกรบ้านเรายังยากจน กี่ปีกี่ชาติก็ลืมตาอ้าปากกันไม่ได้ซักที ทั้งที่งบประมาณแต่ละปีไม่ใช่น้อยๆ กระทรวงเกษตรได้งบแสนล้านขึ้นทุกปี และงบในการบริหารจัดการน้ำก็ปีละแสนล้าน แต่เกษตรกรก็ยังยากจน นวัตกรรมเพื่อการเกษตรก็ไม่ค่อยมี การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตรก็ล้มเหลว บางที่ทั้งท่วมทั้งแล้งในพื้นที่เดียวกันปีเดียวกัน มันเป็นไปได้ยังไง
น.ส.รักชนก ระบุต่อว่า ทั้งหมดนี้หากมาดูวิธีการจัดงบ กระจายงบประมาณในกระทรวงเกษตร ท่านอาจจะหายสงสัย ว่าทำไมเรายังดักดาน ปี 69 กำแพงเพชร ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 1,126 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรม 3.6 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจ ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, อ้อย, ข้าว พะเยา ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 1,280 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรม 2 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจ ข้าว, ข้าวโพด, ลำไย, ยางพารา ราชบุรี ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 613 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรม 2.5 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจ อ้อย, สับปะรด, มะพร้าว, ส้ม (เกษตรแปรรูป+เชิงพาณิชย์) ฉะเชิงเทรา ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 1,227 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรม 2.37 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, และมะม่วง
นครราชสีมา ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 1,354 ล้านบาท มีพื้นที่เกษตรกรรม 8.91 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจ ข้าว, มันสำปะหลัง, อ้อยโรงงาน, และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อุบลราชธานี ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 1,890 ล้านบาท มีพื้นที่เกษตรกรรม 5.5 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจ ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, และปาล์มน้ำมัน สุรินทร์ ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 828 ล้านบาท มีพื้นที่เกษตรกรรม 3.1 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจ ข้าวหอมมะลิ, อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง
ข้อสังเกตจากการดูงบภาพรวมและพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 1) จะขอหยิบยกมา 7 จังหวัด ที่เป็นจังหวัดเกษตรกรรม โดยมี 4 จังหวัด กำแพงเพชร พะเยา ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ที่มี สส. จากพรรคกล้าธรรม ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าโควตากระทรวงเกษตรเป็นของพรรคกล้าธรรม และ อีก 3 จังหวัด โคราช อุบล สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทางการเกษตรและมีเกษตรกรจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย 3 อันดับแรก เพื่อทดสอบสมมุติฐานเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่และปัญหา
2) หากดูตัวเลขภาพรวม หากดูงบกระทรวงเกษตรเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรม จะเห็นได้ว่าจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช มีพื้นที่เกษตรกรรม 8.91 ล้านไร่ มากที่สุดและเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรมากที่สุดในประเทศ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1,354 ล้านบาท อุบลราชธานี มีพื้นที่เกษตรกรรม 5.5 ล้านไร่ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1,890 ล้านบาท เทียบกับกำแพงเพชร ฉะเชิงเทราและพะเยา ดูตัวเลขจังหวัดพะเยา มีพื้นที่เกษตรกรรม 2 ล้านไร่ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1,280 ล้านบาท ดูตัวเลขฉะเชิงเทรา มีพื้นที่เกษตรกรรม 2.37 ล้านไร่ ได้งบจากกระทรวงเกษตร 1,227 ล้านบาท ทั้งที่สองจังหวัดนี้มีพื้นที่เกษตรกรรมน้อยว่าหลายเท่า แต่ได้งบประมาณรวมทั้งจังหวัดพอๆ กันกับโคราช เป็นเพราะอะไร? เพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบชลประทานในจังหวัดโคราชดีอยู่แล้วไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม? เพราะว่าเกษตรกรในโคราชเดือดร้อนน้อยกว่าพื้นที่อื่น? ก็ไม่น่าจะใช่ หรือเพราะว่าอะไรลองดู ไหนลองชื่อพรรค เกี่ยวกันไหมนะ?
น.ส.รักชนก ระบุต่อว่า 3) กำแพงเพชร พื้นที่ใหญ่ งบเยอะ แต่กระจุกตัว มีพื้นที่เกษตรกรรม 3.6 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจหลัก ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และข้าว ซึ่งต้องพึ่งพาระบบชลประทานอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกกินพื้นที่เขต 2 และ 3 รวมพื้นที่เกษตรกรรม 2,000,000 ไร่ ทั้งที่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ เขต 1 ของ สส. ไผ่ ลิกค์ พรรคกล้าธรรม พื้นที่เกษตรกรรม 500,000 ไร่ ได้รับงบถึง 497.2 ล้านบาท 44% ของงบทั้งจังหวัด และในขณะที่เขต 4 ขาณุวรลักษบุรี, บึงสามัคคี, ทรายทองวัฒนา, ไทรงาม (บางตำบล) ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ไม่แตกต่างกันนัก แต่มีพื้นที่เกษตร 850,000 ไร่ ได้รับงบเพียง 128 ล้านบาท
ลักษณะเช่นนี้สะท้อนว่า ปัญหาภัยแล้งในกำแพงเพชรจะมีอยู่จริง แต่จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นของพื้นที่หรือไม่? หรือเป็นเพราะอำนาจทางการเมือง สามารถเหนี่ยวนำเม็ดเงินให้ไปลงบางที่และไม่ไปลงบางที่ได้ หรือแต่แม้มาจากพวกเดียวกันก็ยังมีลำดับชั้นว่าใครได้น้อยได้มาก (จังหวัดนี้ในอนาคตมีโอกาสที่อีก 2 เขตจะย้ายไปกล้าธรรม*) ทั้งที่จริงควรกระจายงบประมาณไปแก้ไขปัญหาตามลักษณะของพื้นที่และดูความจำเป็นเร่งด่วน
4) ข้อมูลงบประมาณและพื้นที่เกษตร จังหวัดฉะเชิงเทรา งบ 1,227 ล้านบาท พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 2.2 ล้านไร่ เขต 1 ฐิติมา ฉายแสง เพื่อไทย : งบกระทรวงเกษตร 0 ล้าน พื้นที่เกษตร 200,000 ไร่ เขต 2 อรรถกร ศิริลัทธยากร กล้าธรรม : งบกระทรวงเกษตร 664 ล้าน พื้นที่เกษตร 500,000 ไร่ เขต 3 ศักดิ์ชาย ตันเจริญ เพื่อไทย : งบกระทรวงเกษตร 266 ล้าน พื้นที่เกษตร 1,000,000 ไร่ เขต 4 จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ประชาชน : งบกระทรวงเกษตร 297 ล้าน พื้นที่เกษตร 300,000 ไร่ บังเอิญว่า เขต 2 จากพรรคกล้าธรรม ที่ได้งบมากที่สุดในฉะเชิงเทรา พ่อเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตร แต่อาจจะเป็นการจัดงบตามความเร่งด่วนของพื้นที่ก็ได้นะ อย่าคิดมาก
5) ใครที่มีบ้านหรือที่ทำการเกษตรอยู่เขตพื้นที่ของ สส.บางพรรค ที่มีงบประมาณไปลงเยอะกว่าพื้นที่อื่นๆ ท่านอย่าเพิ่งหลงดีใจว่างบมาลงเยอะๆ แล้วบ้านท่านจะดีขึ้น มีโครงการต่างๆ มาลงแล้วปัญหาของพี่น้องเกษตรกรจะถูกแก้ไข ท่านลองนึกดูดีๆ ดิฉันยกตัวอย่างเช่น สส. ไผ่ ลิกค์ เป็นรัฐบาลมา 3 สมัยแล้ว ก่อนหน้านี้ก็เป็นคุณพ่อของคุณไผ่ เป็นมาอีก 8 สมัย ชีวิตของคนกำแพงเพชรอยู่กับครอบครัวคุณไผ่มานับสิบๆ ปี ดิฉันอยากถามว่าคุณภาพชีวิตของท่าน จังหวัดของท่าน ผลผลิตทางการเกษตร ราคาสินค้าเกษตร มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างจับต้องได้บ้างไหมคะ ?
“ดิฉันอยากให้ประชาชนทั้งประเทศได้ลองตรองดู บางตระกูล ที่ชนะเลือกตั้งอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เค้าอาจจะใส่ซองไปงานศพงานบุญงานบวชหรือช่วยท่านคราวละห้าร้อยพันนึง แต่กี่สิบปีมาแล้วที่ช่วยกันมาแบบนี้ บ้านของท่านหรือทุกอย่างในชีวิตท่านดีขึ้นบ้างไหมคะ หรือว่ามันก็เหมือนเมื่อ 10 ปี 20 ปีที่ผ่านมา แต่มีแค่ สส. เขตบ้านท่านกับคนในเครือข่ายที่ดูแล้วจะได้กินดีอยู่ดีและมีฐานะดีขึ้นๆ หรือไม่?” น.ส.รักชนก ระบุ
น.ส.รักชนก ระบุต่อไปว่า 6) สส.หรือนักการเมือง ที่คุยโวโอ้อวดว่า สามารถโยกเอางบมาลงพื้นที่ตัวเองได้ ท่านคิดว่าเค้าเป็น สส. ที่ดีหรือไม่? การจัดสรรงบประมาณควรจัดแบบไหน? ควรถูกจัดสรรไปให้พื้นที่ที่มีปัญหาก่อน หรือควรจัดแบบพรรคกูพวกกูต้องได้ก่อน? ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการทั้ง 22 ลุ่มน้ำ โดยต้องเรียงลำดับตามความเร่งด่วน เพราะถ้าแก้เรื่องน้ำทำไม่สำเร็จก็ไม่มีวันที่จะมีจังหวัดไหนได้อยู่อย่างสงบสุข ต้องมากังวลว่าจะท่วมจะแล้งกันอยู่ร่ำไป ปัญหาเช่นนี้มันเป็นปัญหาที่ต้องมองภาพรวมทั้งประเทศแล้วเอาเงินไปแก้ในจุดที่สำคัญเร่งด่วนก่อน
แต่ถ้าหากใช้ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา สส. หรือพรรคการเมือง สามารถโยกงบมาลงในบางพื้นที่ได้เยอะๆ นั่นอาจแปลว่าได้ไปเบียดเบียนหรือไปตัดทอนเอามาจากคนพื้นที่อื่นจังหวัดอื่นที่เค้าอาจจะเดือดร้อนมากกว่าด้วย ซึ่งการดูดงบจากทั้งประเทศไปลงในพื้นที่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง สุดท้ายประเทศนี้แก้ไขปัญหาอะไรทั้งระบบไม่ได้เลย และพื้นที่นั้นๆ ที่งบไปลงก็แก้ไขปัญหาพื้นที่ตัวเองไม่ได้เช่นกัน เพราะมันไม่ตรงจุด เหมือนกับว่าบ้านจะพังแต่มีคนปะผุซ่อมแต่ห้องนอนตัวเอง สุดท้ายบ้านทั้งหลังมันจะถล่มลงมาอยู่ดี และสุดท้ายการโยกเอางบไปลงพื้นที่ตัวเอง ท่านคิดว่าเค้าเอามาแก้ปัญหาให้ประชาชนจริงๆ หรือเอามาให้ผู้รับเหมาและคนในเครือข่ายได้ดื่มกินกันละคะ ? ลองตอบในใจก็ได้ ดังนั้น สส.หรือนักการเมือง ที่คุยโวโอ้อวดว่า สามารถโยกเอางบมาลงพื้นที่ตัวเองได้ สำหรับดิฉันคนพวกนี้คือตัวถ่วงความเจริญของชาติค่ะ
7) ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีมาก่อน ที่ สส. จะไปยุ่งกับงบประมาณในพื้นที่อื่น? เป็นคำพูดที่เบาปัญญาและตื้นเขิน รวมถึงแสดงให้เห็นว่าไม่เคยสนใจการอภิปรายงบประมาณเลยในการอภิปรายงบประมาณ วาระ 1 ในทุกๆ ปี เช่นปีนี้ สส. พรรคประชาชนคนหนึ่ง จะพูดถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณในภูมิภาค บางคนพูดถึงภาพรวมทั้งประเทศ และยังมีการตั้งข้อสังเกตเสมอว่า มีบางจังหวัดบางเขตที่เชื่อมโยงกับรัฐมนตรีบางกระทรวงแล้วมีงบมาลงเยอะผิดปกติหรือไม่? อยู่เสมอ และในห้องกรรมาธิการงบประมาณ ถ้างบไหนไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะให้เหตุผลและเสนอตัดได้ ดิฉันไม่เข้าใจว่า บางคนเป็น สส. กันมาตั้งกี่สมัยแล้ว ทำไมไม่มีความรู้เรื่องงบประมาณเลย วันๆ เอาเวลาไปทำอะไร? การที่คนแบบนี้ได้เป็น สส. ดิฉันคิดว่ามันช่างเสียโอกาสประเทศและสิ้นเปลืองทรัพยากรสิ้นดี!
น.ส.รักชนก ระบุต่อไปว่า หรือถ้าหากหมายถึง ในอดีตปกติ สส. เขาจะไม่ยุ่งกัน งบใครงบมันไม่เหยียบตีนกัน มึงไม่เล่นกู กูก็ไม่เล่นมึง ไอ้การเมืองแบบนี้ก็ควรเลิกได้แล้ว สส. เป็นปากเสียงให้กับคนในพื้นที่ที่เลือกตัวเองมาจริง แต่ก็มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศเช่นกัน ถ้าอะไรที่มันไม่ถูกไม่ควร เป็น สส. ก็ควรจะพูดถึงปัญหา ถ้าเป็น สส. แล้วไม่มีปัญหา ไม่มีความกล้าหาญที่จะแก้ไขในสิ่งผิดก็เสียชาติเกิดเปล่าๆ แล้วโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่พวกบอกว่า ไม่ยุ่งงบกัน เงินที่ลงในพื้นที่ไม่ได้ถึงประชาชนหรอก ถึงผู้รับเหมาซะมากกว่า เลยต้องปกป้องกันนักหนา
น.ส.รักชนก ระบุต่อว่า 8 ) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ภายใต้การนำของเครือข่ายเดิมๆ มากี่ปีแล้วคะ ไล่ชื่อกลับไปจะ รมว. หรือ รมช. เปลี่ยนกี่ชื่อทุกคนรู้ว่าเป็นโควตาจริงๆ ของใคร กี่ปีกี่ชาติมาแล้ว ชีวิตเกษตรกรในประเทศดีขึ้นบ้างหรือยังคะ? ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้นบ้างไหม? เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นไหม? หรือชีวิตเกษตรกรก็ยังเหมือนเดิม
“พูดกันโหดๆ นะ ประชาชนประเทศนี้ไม่ได้โง่ ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าเงินที่ใช้สร้างพรรค เงินที่ใช้ดึงดูด สส. เงินที่ใช้ดูแลเครือข่าย เค้าหาจากไหน แต่ไอซ์เข้าใจ เข้าใจจริงๆ มีประชาชนบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอะไรแบบนี้ แต่มันคือการปะผุไปวันๆ ท่านมองภาพรวมประเทศของเราวันนี้สิคะ ชีวิตของเกษตรไทยทำไมถึงได้ยากจนอยู่แบบนี้ ทั้งๆ ที่งบประมาณแต่ละปีมันไม่ใช่น้อยๆ” น.ส.รักชนก ระบุ
9) สุดท้ายนี้ ดิฉันไม่เห็นความจำเป็นในการโต้เถียงกับคนอย่างคุณไผ่ ลิกค์ วิญญูชนที่มีสติปัญญาฟังเค้าพูดแล้วก็ตีความเองได้ว่าคนๆนี้เป็นอย่างไร แต่ดิฉันอยากชี้ให้ประชาชนทั้งประเทศได้มองเห็นถึงโครงสร้างอำนาจ ที่ค้ำจุนทำให้คนเช่นนี้ ได้มาเป็น สส. นั่นคือสิ่งที่เราต้องช่วยกันทำลายทิ้ง พอกันทีกับการบีบให้จนแล้วแจก กดให้โง่แล้วปกครอง ปล่อยให้ป่วยแล้วรักษา ภาษีควรจะกระจายอย่างเป็นธรรมเพื่อไปแก้ปัญหา ให้ทุกๆ ชีวิตในประเทศอย่างตรงจุด ไม่ใช่ใช้อำนาจรวบไว้ที่เดียว แล้วค่อยแจกกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างบุญคุณ ให้ระบบนี้อยู่ไปเรื่อยๆ#งบประมาณวันละตอน.