DELTA กำไรสุทธิ Q2/68 เหลือ 4,629 ลบ.ต่ำคาด
หุ้นวิชั่น
อัพเดต 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 18 ชั่วโมงที่ผ่านมา • HoonVision | หุ้นวิชั่น - หุ้น ข่าวหุ้น หุ้นไทยวันนี้ หุ้นวันนี้ หุ้นเด่น วิเคราะห์หุ้น ธุรกิจ การเงิน เศรษฐกิจ การลงทุน ดัชนีราคาหุ้นหุ้นวิชั่น -DELTA บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ขอชี้แจงผลการดำเนินงานในไตรมาสสอง (เม.ย. – มิ.ย.) ปี 2568 ตามงบการเงินรวมฉบับสอบทานสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2568
ยอดขายสินค้าและบริการในไตรมาสนี้อยู่ที่ 44,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเติบโตร้อยละ 4.1 จากไตรมาสที่แล้ว ขับเคลื่อนโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีการขยายตัวสูง ทั้งกลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ และโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ภายใต้แนวโน้มการลงทุนที่เร่งตัวขึ้นเพื่อรองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งต้องการโซลูชันกำลังไฟฟ้าและการระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์เซอร์วิส รวมถึงโซลูชันเครือข่าย
ภาพรวมตลาดยังคงมีศักยภาพการเติบโตสูงในปีนี้ ขณะเดียวกัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโซลูชันโครงสร้างพื้นฐานพลังงานและการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตในระดับปานกลาง ส่วนโซลูชันระบบพลังงานโทรคมนาคมฟื้นตัวอย่างจำกัด ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ EV Power มียอดขายปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน แต่ยังชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับฐานสูงในปีที่แล้ว จากสภาวะตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลกที่ผันผวนและอ่อนตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม ภาษี และการตอบโต้ทางการค้า ทำให้ประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ลดลงทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีความพร้อมเชิงกลยุทธ์ในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ พร้อมตอบโจทย์ทิศทางความต้องการเชิงโครงสร้างในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้มีจำนวน 11,109 ล้านบาท ปรับตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 1.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสที่แล้ว สอดคล้องกับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้ว แต่หดตัวพอสมควรเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในปีนี้ ประกอบกับช่วงปีที่แล้วมีการกลับรายการตั้งสำรองสินค้าคงคลังในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลดีต่ออัตรากำไรขั้นต้น
บริษัทฯ ยังคงดำเนินกลยุทธ์ผลักดันยอดขาย พร้อมจัดการควบคุมสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามสภาวะอุตสาหกรรม
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (รวมวิจัยและพัฒนา) อยู่ที่ 6,011 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 11.3 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการขายในส่วนภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น หลังตลาดสหรัฐเริ่มประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้แบบเท่าเทียมในไตรมาสนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ เกิดค่าใช้จ่ายอากรเพื่อส่งออกสินค้าภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน (ซึ่งสามารถเรียกเก็บคืนจากลูกค้าตามเงื่อนไขที่กำหนด)
นอกจากนี้ บริษัทฯ พบว่ามีลูกค้าในกลุ่มพัดลมและระบบระบายความร้อนสำหรับยานยนต์ประสบปัญหาทางธุรกิจ และอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้พร้อมฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญเพื่อสะท้อนความเสี่ยงดังกล่าว ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาไตรมาสนี้ปรับตัวสูงขึ้นตามกลยุทธ์การขยายขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในภูมิภาคเพื่อรองรับลูกค้าระดับโลก
กำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสนี้มีจำนวน 5,098 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไร ร้อยละ 11.5 ลดลงจากร้อยละ 13.9 ของงวดเดียวกันในปีก่อน และร้อยละ 13.3 ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านอากรและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญ รวมถึงการลงทุนวิจัยพัฒนาที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้บันทึกรายได้อื่น ๆ เพิ่มเติม พร้อมกับการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายในการยุติข้อพิพาทด้านสิทธิบัตร และภาษีส่วนเพิ่มตามกฎ OECD ส่งผลให้ กำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 4,629 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 29.5 คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 10.4 และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.37 บาท เทียบกับ 0.53 บาทต่อหุ้นในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน