รู้จัก " วิทัย รัตนากร " ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 25
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งจากโครงสร้างเศรษฐกิจภายใน และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก นโยบายสงครามการค้าประเทศไทยกำลังต้องการ “ผู้ขับเคลื่อนนโยบาย” ที่มีความเข้าใจบริบทความเปลี่ยนแปลงนี้มานั่งเก้าอี้สำคัญของประเทศ - ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 25 ถูกคาดหมายว่า จะเป็นชื่อ “นายวิทัย รัตนากร” ที่จะเข้าม่าอยู่ในตำแหน่งนี้ในช่วงเวลา 5 ปีจากนี้ไป
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิชัย ชุณหวชิร ออกมายืนยันว่า จะเสนอรายชื่อผู้ว่าธปท.เข้าสู่การอนุมัติของ ครม. ในสัปดาห์หน้า 22 ก.ค.2568 เพราะตำแหน่งนี้มีความสำคัญจึงต้องดำเนินการให้รอบคอบ ย้ำว่า สัปดาห์จะเข้าครม.แน่นอน
นักบริหารมากประสบการณ์
วิทัย รัตนากร ปัจจุบันอายุ 54 ปี เติบโตมาในครอบครัวที่ผูกพันกับโลกการเงินการคลังโดยตรง มารดาคือ ศิริลักษณ์ รัตนากร ผู้บริหารหญิงคนแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในยุคเริ่มต้น ส่วนบิดาคือ โสภณ รัตนากร อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม
คุณวิทัย สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทถึง 3 ใบ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์การเมือง และกฎหมายธุรกิจจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงด้านการเงินจากมหาวิทยาลัย Drexel สหรัฐอเมริกา
ขณะที่ด้านวิชาชีพ คุณวิทัยยังผ่านหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงทั้งจาก วปอ., วตท., นยปส., บ.ย.ส. และ TEPCoT ซึ่งล้วนเป็นหลักสูตรที่เตรียมผู้นำประเทศในด้านนโยบาย การคลัง และธรรมาภิบาล
เส้นทางสายการเงิน: จากสายการบินถึงธนาคารรัฐ
คุณวิทัย เริ่มต้นในสายวิจัยหลักทรัพย์ ก่อนก้าวเข้าสู่บทบาทผู้จัดการกองทุนของ กบข. และเป็นที่ยอมรับในแวดวงการลงทุน จนถูกดึงตัวเป็น CFO ของสายการบินนกแอร์ (NOK) ซึ่งเขาสามารถพลิกฟื้นกิจการจนมีกำไรสูงสุด 1,700 ล้านบาท พร้อมนำนกแอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สำเร็จในปี 2556
คุณวิทัยเคยรับบทบาทรองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และยังได้เคยแสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในการฟื้นฟูธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) ที่อยู่ในภาวะขาดทุนสะสมมายาวนาน โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือนในการพลิกสถานการณ์
จากนั้นกลับมารับตำแหน่งเลขาธิการ กบข. ในปี 2561 เพื่อดูแลเงินสะสมของสมาชิกกว่าล้านราย พร้อมวางแผนให้ กบข. มีบทบาทมากกว่า “กองทุน” แต่เป็นเสาหลักสวัสดิการของประเทศ
ต่อมาในปี 2563 เขาถูกแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการปรับภาพลักษณ์องค์กรสู่ “ธนาคารเพื่อสังคม” (Social Bank) อย่างจริงจัง ด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
ความท้าทายของผู้ว่าคนใหม่: นโยบายการเงินในยุคที่ไม่เหมือนเดิม
การก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 25 ผู้ที่ได้รับคัดเลือกอย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 ต่อเนื่องจากการหมดวาระลงของผู้ว่า ธปท.คนก่อน ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและแตกต่างจากยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 90% ต่อGDP ที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจกับการหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ
ส่วนประเด็นความอิสระ ของธนาคารกลางก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้ว่า ธปท.ถูกจับตามอง เพราะหากเป็นชื่อของคุณวิทัย ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองชัดเจน ดังนั้นหากได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ว่า ธปท.อย่างเป็นทางการ ช่วงเวลาต่อจากนั้นคือ การแสดงผลงานการดำเนินนโยบายทางการเงินท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยที่ดูเหมือนกำลังเดินถอยหลัง…