‘โฆษกกองทัพบก’ แจงเหตุฝ่ายกัมพูชากล่าวหาทหารไทยเป็นผู้ฝังทุ่นระเบิด ยืนยันที่พบไม่ใช่ของไทย
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนจากกรณีที่นายแฮง รัตนา ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติกัมพูชา (CMAA) ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวหาว่าทหารไทยเป็นผู้ฝังกับระเบิดใหม่บริเวณแนวชายแดนไทย–กัมพูชา พร้อมอ้างว่ามีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่บ่งชี้พฤติกรรมดังกล่าว โดยมีข้อเท็จจริง ว่า ทุ่นระเบิดที่ตรวจพบในพื้นที่ชายแดนไทย–กัมพูชา บริเวณช่องบกและพื้นที่อื่นๆ เป็นระเบิดชนิด PMN-2 ซึ่งเป็นระเบิดสังหารบุคคล ผลิตจากประเทศรัสเซีย โดยกองทัพบกไทยไม่มีระเบิดชนิดนี้อยู่ในครอบครอง ไม่เคยมีอยู่ในสารบบ การจัดหาเข้ามาใช้ในหน่วยทหารของกองทัพไทย และไม่เคยมีการนำมาใช้ในการปฏิบัติงานในทุกพื้นที่แนวชายแดนแต่อย่างใด
ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยสื่อ Fresh News ของกัมพูชา ซึ่งถูกนำเสนอว่าเป็นหลักฐานการวางระเบิดของทหารไทยนั้น ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นภาพจากภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (T-MAC) ในช่วงการฝึกเก็บกู้ หรือช่วงเวลาพักของกำลังพล ไม่ใช่การวางกับระเบิดแต่อย่างใด การนำเสนอข้อมูลในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และสร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างร้ายแรง และการที่นายแฮง รัตนา กล่าวว่า ทุ่นระเบิดอยู่ในเขตไทย ฝ่ายไทยต้องรับผิดชอบ พร้อมอ้างมาตรา 5 ของอนุสัญญาออตตาวา (Ottawa Treaty) ซึ่งระบุว่า “เจ้าของอธิปไตยเหนือดินแดนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” นั้น ยิ่งสะท้อนว่าทุ่นระเบิดที่พบอยู่ในเขตอธิปไตยของไทย และแสดงถึงการรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย ด้วยวิธีการแอบลักลอบข้ามแดนเข้ามาวางทุ่นระเบิดเอาไว้
นอกจากนี้ ยังขัดแย้งกับการให้ข่าวของทางการกัมพูชาเอง โดยวันที่ 20 ก.ค. โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชาได้แถลงผ่านเพจเฟซบุ๊กกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ระบุว่า ทหารไทยเหยียบกับระเบิดที่บ้านเตโชรโกฏ ต.มรกต อ.จอมกสาน จ.พระวิหาร ซึ่งกรณีการออกมาให้ข่าวย้อนแย้งกันเองของฝ่ายกัมพูชาในประเด็นที่ นายแฮง รัตนา กล่าวว่า ทุ่นระเบิดอยู่ในเขตไทย ฝ่ายไทยต้องรับผิดชอบ แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการพยายามบิดเบือนข่าวสารจนต้องออกมาแก้ข่าวกันเอง
พล.ต.วินธัย กล่าวว่า กองทัพบก ขอยืนยันว่า ประเทศไทยและกองทัพไทยปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด พร้อมเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชายุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสร้างความเข้าใจผิดในระดับนานาชาติ