อังกฤษเดินหน้าปฏิรูปเลือกตั้ง ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ 16 ปี หนุนเยาวชนมีเสียงในประชาธิปไตย
สหราชอาณาจักรเตรียมลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปจาก 18 ปี เหลือ 16 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศมีอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับประเทศที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยรัฐบาลระบุว่าเป็นความพยายามในการ “ทำให้ประชาธิปไตยทันสมัยขึ้น”
รัฐบาลพรรค Labour สายกลางฝั่งซ้ายประกาศแผนดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (17 กรกฎาคม) โดยเป็นการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายแผนปฏิรูปกฎการเลือกตั้งเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย และลดอุปสรรคในการใช้สิทธิเลือกตั้ง
โดยเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า สำคัญมากที่เยาวชนอายุ 16 และ 17 ปีจะมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะพวกเขาโตพอที่จะทำงานได้ โตพอที่จะเสียภาษีแล้ว ถ้าเสียภาษี ก็ควรมีสิทธิในการตัดสินใจว่าภาษีจะถูกนำไปใช้อย่างไร รัฐบาลควรเดินหน้าไปทางไหน ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนอายุ 16–17 ปีในสหราชอาณาจักรราว 1.6 ล้านคน
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังต้องผ่านการออกกฎหมายในรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว และจะทำให้อายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งสอดคล้องกันทั่วประเทศ
ขณะนี้เยาวชนอายุ 16 ปีในเวลส์และสกอตแลนด์มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและรัฐสภาท้องถิ่นแล้ว แต่ยังไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศ
ทั่วโลก ประเทศส่วนใหญ่กำหนดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ 18 ปี แต่บางประเทศ เช่น ออสเตรีย อาร์เจนตินา บราซิล และเอกวาดอร์ อนุญาตให้ผู้มีอายุ 16 ปีสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับประเทศได้
ขณะที่เบลเยียม เยอรมนี และมอลตา อนุญาตให้ผู้มีอายุ 16 ปีลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป แต่ไม่รวมถึงการเลือกตั้งระดับประเทศ
พรรค Conservative ซึ่งเป็นฝ่ายค้านวิจารณ์นโยบายนี้ โดยพอล โฮล์มส์ โฆษกด้านกิจการชุมชนของพรรคกล่าวต่อหน้าสภาสามัญ ตามรายงานของสำนักข่าว PA Media ว่า “นโยบายนี้สร้างความสับสนอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับอายุของการบรรลุนิติภาวะ ทำไมรัฐบาลนี้ถึงคิดว่าเด็กอายุ 16 ปีเลือกตั้งได้ แต่ยังไม่สามารถซื้อสลากกินแบ่ง ดื่มแอลกอฮอล์ แต่งงาน ไปรบ หรือแม้แต่ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ตัวเองกำลังเลือกอยู่?”
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้สนับสนุนนโยบายนี้เช่นกัน นาโอมิ สมิธ ผู้บริหารองค์กรรณรงค์ภาคประชาสังคม Best for Britain ระบุว่า “นี่คือการตัดสินใจที่กล้าหาญ และจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต”
ส่วนแฮร์รี ควิลเทอร์-พินเนอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ (IPPR) กล่าวกับ AFP ว่า “ประชาธิปไตยของเรากำลังอยู่ในวิกฤต และเราเสี่ยงที่จะเข้าสู่จุดที่การเมืองหมดความชอบธรรม”
ภาพ: photo by Daniel Harvey Gonzalez/In Pictures via Getty Images
อ้างอิง: