ยุติธรรมลุยแก้ปัญหาหนี้ภายใต้"มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ปีที่ 2"ที่สุรินทร์
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ที่ห้องประชุมชมพูพันธุ์ทิพย์ ชั้น 3 อาคารเรียนรวม คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ พลตำรวจโทพัฒนวุธ อังคะนาวิน ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 จังหวัดสุรินทร์ โดยมี นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายประภาส ศรีจันทร์เวียง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมตลอดทั้งวัน
ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ประชาชนทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด - 19 สินค้าอุปโภคบริโภค มีราคาแพงขึ้น จนทำให้เกิดหนี้สินกับสถาบันการเงินต่างๆบ้าง รัฐบาลจึงกำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน เพื่อช่วยคลายหนี้ให้กับประชาชนเท่าที่จะทำได้ กระทรวงยุติธรรมได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ของผู้มีภาระหนี้สิน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อีกทั้งต้องเกิดจากความสมัครใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน เป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนต่อไป โดยในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้จัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 1 มาแล้วทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 89 ครั้ง ช่วยเหลือลูกหนี้ได้ จำนวน 132,303 ราย จำนวนทุนทรัพย์กว่า 23,901.84 ล้านบาท
สำหรับการจัดงานในจังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้ กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 19 - 20 กรกฎาคม 2568 จำนวน 2 วัน ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม นำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดีร่วมกับสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐ, รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ได้เชิญชวนลูกหนี้เข้าร่วมงานทั้ง 2 วัน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนที่สนใจและลงทะเบียนร่วมงานไม่ต่ำกว่า 5,000 รายและมีสถาบันการเงิน หน่วยงานที่เข้าจัดการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้
โดยงานประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. การให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา 2. การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์และให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการสร้างวินัยทางการเงินและหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ ในกรณีก่อนฟ้อง คือ การผ่อนผันการชำระหนี้, ลดเบี้ยปรับลดดอกเบี้ย, ลดค่างวดรายเดือนงดฟ้องดำเนินคดีและรับเงื่อนไขปลดผู้ค้ำประกัน สำหรับในส่วนของชั้นบังคับคดี หรือหลังคำพิพากษา ประโยชน์ที่จะได้รับคือการขยายเวลาผ่อนชำระหนี้, ลดเบี้ยปรับ, ลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้, งดยึดทรัพย์, งดขายทอดตลาด, ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดีและยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย