รวบ 2 แก๊งคอลฯปอยเปต อ้างเป็นผู้กำกับ ขู่เหยื่อโอนเงิน ยอดเสียหายรวม 308 ล้าน
ตร.ไซเบอร์รวบ 2 แก๊งคอลปอยเปต ตั้งฐานบนคาสิโนในเขมร อ้างเป็นผู้กำกับ โทรขู่เหยื่อโอนเงิน เผยเคยโดนบังคับหลอกเหยื่อ
ตามนโยบายของรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศปปง.ตร. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส./ผอ.ศตคม.ตร. และพล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว
วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่บก.สอท.2 (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์สุดสงวน รองผบช.สอท., พล.ต.ต. วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว กรณีตำรวจไซเบอร์รวบ 2 แก๊งคอลปอยเปต ตั้งฐานบนคาสิโนในเขมร อ้างเป็นผู้กำกับ โทรขู่เหยื่อโอนเงิน เผยเคยโดนบังคับหลอกเหยื่อได้สูงสุดถึง 12 ล้านบาท”
สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงวันที่ 10 ก.ค. 66 ถึง 16 ต.ค.66 ตำรวจไซเบอร์ ได้สืบสวนคดีHybrid Scam ที่รับแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ thaipoliceonline.go.th โดยเริ่มต้นจากมีผู้เสียหายรายหนึ่งถูกติดต้อจากบุคคลใช้ภาพโปรไฟล์หน้าตาดีผ่านโซเชียล จากนั้นได้ชวนผู้เสียหายพูดคุยกันจนเกิดความสนิทสนมและชอบพอกัน ต่อมาจึงหลอกให้โอนเงิน โดยอ้างว่านำไปลงทุนคริปโตเคอเรนซี่ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป จำนวน 147 ครั้ง ไปยังบัญชีม้าจำนวน 79 บัญชี เกิดความเสียหายรวมเป็นเงินจำนวน 308,204,326.5 บาท
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ต้องหาคดีดังกล่าวได้แล้ว จำนวน 76 ราย สามารถจับกุมตัวได้แล้ว จำนวน 46 ราย
จากกรณีดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เจ้าหน้าที่พบพยานหลักฐานว่า ผู้ต้องหาตามหมายจับกลุ่มดังกล่าว เป็นผู้ร่วมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีผู้ร่วมขบวนการกว่า 100 คน โดยมีชาวจีนเป็นหัวหน้ามีฐานที่ตั้งอยู่ที่ภูลิคาสิโน (Pu Li Casino) ตั้งอยู่ในเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ซึ่งขบวนการดังกล่าว ทำหน้าที่หลอกลวงคนไทยหลากหลายรูปแบบ อาทิ หลอกลวงเป็นหน่วยงานรัฐแล้วข่มขู่ให้โอนเงินเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเงินของเหยื่อไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา, หลอกให้ผู้สนใจลงทุนโอนเงินลงทุนรูปแบบต่างๆ, หลอกลวงให้รักแล้วชักชวนลงทุน (Hybrid Scam) เป็นต้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติต่อศาลออกหมายจับผู้ทำหน้าที่ต่างๆ ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลุ่มดังกล่าวได้แล้ว รวมจำนวน 44 ราย โดยแบ่งเป็น
- ผู้ทำหน้าที่ สาย 1 (ติดต่อผู้เสียหาย หลอกลวงตามบทที่ได้รับ) จำนวน 20 ราย (จับกุมได้แล้ว จำนวน 6 ราย)
- ผู้ทำหน้าที่ สาย 2 (สนทนาตอกย้ำ สร้างความมั่นใจให้ผู้เสียหลงเชื่อแบบสนิทใจ ต่อจากสาย 1 เช่น เป็นร้อยเวร
หรือ เจ้าหน้าที่ต่างๆ) จำนวน 11 ราย (จับกุมได้แล้ว จำนวน 2 ราย)
- ผู้ทำหน้าที่ สาย 3 (ปิดเกม สั่งผู้เสียหายให้โอนเงิน โดยอ้างตัวเป็นหัวหน้าของหน่วยงานที่แอบอ้าง เช่น ผู้กำกับสถานีตำรวจของร้อยเวรในสาย 2) จำนวน 7 ราย (จับกุมได้แล้ว จำนวน 2 ราย)
- ผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุนด้านอื่นๆ (การทำหนังสือราชการปลอม ทำหมายปลอม จัดหาซิมผีจัดหาบัญชีม้า) จำนวน 6 ราย (จับกุมแล้ว 2 ราย)
โดยล่าสุด พ.ต.ต.ชัยโชติ ศรีวรขาน และ พ.ต.ท.รุ่งเรือง แสนโคตร สว.กก.2 บก.สอท.1 ได้ร่วมนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเข้าจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญกลุ่มดังกล่าว ดังนี้
1. จับกุม นายสมศักดิ์ อายุ 37 ปี (ทำหน้าที่ หัวหน้าสาย 2) ตามหมายจับที่ 4743/2567 ลง 27 ก.ย.67 ควบคุมตัวได้ที่ ซอยเชิงทะเล 14 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 3 ก.ค.68
2. จับกุมนายวราเมธ อายุ 20 ปี (ทำหน้าที่หัวหน้าสาย 3 อ้างตัวเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจ) ตามหมายจับที่ 3677/2567 ลง 7 ส.ค.67 ควบคุมตัวได้ในพื้นที่ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อช่วงสายของวันที่ 3 ก.ค.68 เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันอั้งยี่ , ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิว เตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน สมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน
จากการสอบถามนายวราเมธ ผู้ต้องหาทำหน้าที่สาย 3 เบื้องต้นยอมเปิดเผยข้อมูลว่า ตนเองได้ค่าตอบแทนประมาณ 25,000 บาท ต่อเดือน และค่าคอมมิชชั่น 3.5 เปอร์เซ็นต์ แต่หากไม่เอาเงินเดือน จะได้ค่าคอมมิชชั่น 6.5 เปอร์เซ็นต์
ช่วงหลังตนเองจึงรับแค่ค่าคอมมิช ชั่น โดยตนเองเริ่มต้นจากเคยข้ามแดนอย่างถูกกฎหมายไปทำงานเป็นแอดมินของแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ชื่อดังในประเทศกัมพูชามาก่อน หนึ่งปีต่อมาได้ถูกชักชวนผ่านเฟซบุ๊กให้ไปทำงานเป็นแอดมินขายของอีกครั้ง โดยถูกนัดหมายให้ไปพบที่ภูลิคาสิโน เมื่อไปถึงกลับโดนยึดอุปกรณ์สื่อสาร และเอกสารประจำตัว แล้วโดนบังคับให้ทำงาน
เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์สายหนึ่ง แต่ตนเองพูดไม่ได้ จึงได้ทำงานเป็นสายสอง โดยแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรับแจ้งความ ภายหลังจึงได้ทำงานเป็นสายสาม คอยแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงเพื่อพูดจาข่มขู่หลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน โดยตนเคยหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินได้มากสุดถึง 12 ล้านบาท ซึ่งขณะนั้นได้ค่าคอมตอบแทน 3.5 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ นายวราเมธ ยังอ้างว่า ตนเองถูกหลอกลวงมาและโดนบังคับให้ทำงาน หากไม่ทำงานจะโดนข่มขู่และทำร้ายร่างกาย โดยตนเองเคยเห็นคนที่ขัดคำสั่งถูกทำร้ายร่างกายในออฟฟิศของภูลิคาสิโนมาแล้ว ทำให้ตนเองจำใจต้องยอมทำงานหลอกลวงผู้อื่น
ส่วนนายสมศักดิ์ผู้ต้องหาทำหน้าที่สาย 2 ยอมรับว่าตนเองถูกหลอกลวงให้ไปทำงานแล้วโดนบังคับเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่นเดียวกัน ซึ่งเคยอ้างตัวเป็น “ร้อยตำรวจโทพีระ” ต่อมาได้หลบหนีออกจากภูลิคาสิโน แล้วโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศกัมพูชาจับกุมตัวได้ ติดคุกอยู่ที่ประเทศกัมพูชา 14 วัน จึงถูกส่งกลับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการเร่งสืบสวนขยายผล รวมทั้งติดตามจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวที่ยังหลบหนี มาดำเนินคดีตามกฎหมายเพิ่มเติมต่อไป