ศิษย์งอก-ศิษย์งัน
สถาพร ศรีสัจจัง
คำ “ศิษย์งอก-ศิษย์งัน” เป็นศัพท์ที่ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ชอบใช้ อาจารย์สุุธิวงศ์ เป็นผู้สถาปนาสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่เกาะยอ(เมืองสงขลา), เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ “สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้” จนสำเร็จ (ปีพ.ศ.2529) และพัฒนากลายเป็น “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย 4 ภาค” ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในภายหลัง เป็นเมธีวิจัยอาวุโส ด้านสังคมศาตร์คนสำคัญของ สกว. เป็นผู้เขียนตำราเล่มสำคัญคือ “หลักภาษาไทย” ที่สนพ.ไทยวัฒนาพานิชจัดพิมพ์จำหน่ายมาอย่างยาวนาน ฯลฯ
ถ้าจำไม้ผิด ท่านบอกว่าคำนี้เป็นคำของ “อาจารย์ผู้ใหญ่” คนหนึ่งของท่านที่ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร(มศวในภายหลัง) และ ต้องขอภัยที่จำชื่อ “อาจารย์ผู้ใหญ่” ของอาจารย์สุธิวงศ์ท่านนั้นไม่ได้
ถ้าจะแปลความหมายแบบง่ายๆสั้นๆ(อย่างที่อาจารย์สุธิวงศ์เคยอธิบายให้ฟัง) คำ “ศิษย์งอก-ศิษย์งัน” นั้น หมายถึง ศิษย์ของ “ครู” หรือ “อาจารย์” 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า “ศิษย์งอก” หมายถึงศิษย์ที่ “ปฏิบัติตามคำสอน และนำคำสอนนั้นไปพัฒนาต่อยอดให้จำเริญยิ่งขึ้นในทุกด้าน” ส่วน “ศิษย์งัน” ก็ ย่อมหมายถึง ศิษย์ที่มีเนื้อหาประเภทตรงกันข้ามกับคำ “ศิษย์งอก” ดังได้นิยามไว้แล้ว!
เกี่ยวกับเรื่องคำว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” ก็เช่นเดียวกัน อาจารย์สุธิวงศ์เคยให้ความหมายในทัศนะของท่านไว้ประมาณว่า ท่านเห็นด้วยกับทัศนะของท่านพุทธทาส ภิกขุ ที่ว่า “ครู” ที่มาจากคำ “ครุ” (คะรุ ออกเสียงแบบควบกล้ำ) ในภาษาบาลีที่แปลว่าหนัก เป็นคำสูง หมายถึง เป็นผู้เปิดประตูทางจิตวิญญาณ เพื่อให้สามารถนำจิตวิญญาณไปสู่คุณธรรมเบื้องสูงได้ ไม่ได้เรื่องเชิงวัตถุ ถ้าเป็นสันสกฤตก็คือ “คุรุ” ที่ฝรั่งรับไปใช้เป็นคำว่า “GURU” นั่นเอง
ไม่กี่วันก่อนมีเด็กหนุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ลูกศิษย์” (ศิษย์ที่เป็นเหมือนลูก?) คนหนึ่ง ซึ่งเคยมาฝึกฝนเรียนรู้เรื่อง “การเขียน” (โดยเฉพาะการเขียนกวีนิพนธ์เชิงขนบของไทย) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังได้แวะเวียนมาพบปะเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง ส่งหนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มแรกของเขามาให้อ่าน
อ่านแล้วก็เกิด “ภาพเห็น” เกี่ยวกับความหมายของคำ “ศิษย์งอก” ตามแนวคิดของท่านอาจารย์สุธิวงศ์ มากและชัดเจนขึ้น ทำนอง “อ๋อ น่าจะเป็นเช่นนี้เอง”
หนังสือรวมบทกวีสมัยใหม่เล่มนี้มีชื่อเล่มว่า “แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน” เขา “คัดสรร” รวบรวมเอาบทกวีที่เคยเขียนอย่างต่อเนื่อง(และได้รางวัลมากมาย)มาหลายปี อย่างมี “แก่นเล่ม” (Theme)หรือ “แนวเนื้อหาหลักของเรื่อง” ในเล่ม ที่น่าสนใจไม่น้อย
กล่าวเฉพาะด้านฝีมือการเขียน “กลอน” นั้น อาจกล่าวได้ว่า มีการพัฒนาจากจุดเดิมๆของเขาเอง(ที่เคยอ่านและเคยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้)ไม่น้อย เป็นการพัฒนาที่สังเกตุได้ว่า น่าจะเกิดจากความเพียรพยายามในการศึกษาเก็บเกี่ยวข้อมูลทั้งด้าน “แนวความคิดในการอธิบายปรากฏการณ์ชีวิตและสังคม” (ภววิสัยและอัตวิสัย) “ประเด็นเนื้อความ” (Content) และ “รูปแบบ”(Form) มากขึ้น กว้างขวางและลงลึกมากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด
กวีร่วมสมัยหนุ่มคนนี้มีชื่อว่า “วิศิษฐ์ ปรียานนท์” เพื่อนๆพี่ๆเรียกว่า “บอย” เป็นเด็กหนุ่ม 2 เมือง คือเป็นทั้งเด็ก “สทิงพระ” เมืองสงขลา และเด็กเมืองสตูล (ซึ่งอาจมีส่วนในการเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคน 2 ฝั่งทะเลภาคใต้ที่เหมือนและแตกต่าง คือระหว่างวิถีแบบฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกหรืออันดามัน)
ประเด็นที่น่าสนใจมากสำหรับบทกวีในหนังสือเล่ม “แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน” ของ “วิศิษฐ์ ปรียานนท์” เล่มนี้ก็คือ วิศิษฐ์สนใจที่จะเลือกประเด็น “เล็กๆ” เกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง ที่มา “ตกกระทบอารมณ์ความรู้สึก” (อย่างเป็นรูปธรรม) ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว พ่อแม่ พี่น้องผองเพื่อนและชาวบ้านแวดล้อมที่พ้องพาน(ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตน)มาเล่า ไม่มีลักษณะโอ้อวดไปสู่รู้เรื่องราวใหญ่ๆไกลตัว ที่กวีหรือนักเขียนร่วมสมัยคนอื่นๆชอบทำกัน
ทำให้ “เนื้อหา” ของเรื่องดังกล่าวมีความ “สมจริง” อย่างน่าสนใจ โดยใช้รูปแบบของ “กลอน” ที่มี “ชุดคำ” สมัยใหม่ธรรมดาๆ มาเรียงร้อยขึ้นอย่างมีขั้นเชิงและมีศิลปะจาก “ลีลาจังหวะ” ของ “นำหนักคำ” แบบ “กวี”
คงไม่มีพื้นที่พอจะจะยกตัวอย่างบทกลอนดีๆที่ “กระทบใจ” จากหนังสือรวมบทกวีชื่อ “แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน” ของ “กวีบอย” วิศิษฐ์ ปรียานนท์(ของพี่ๆเพื่อนๆ)ที่น่าจะนับได้ว่าเป็น “ศิษย์งอก” (อ้างตามแนวคิดของศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์)มาให้เห็นในที่นี้ แต่อยากสรุปความรู้สึกคิดเห็นเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ไว้ดังนี้:
ข้อที่พอจะสรุปได้จากการอ่านเล่ม “แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน” ของ กวี-วิศิษฐ์ ปรียานนท์ น่าจะคือ ในแง่ “เนื้อความ” (content) เขาน่าจะกำลังย่างก้าวข้ามสะพานไปพบกับความเป็น “สัจจะสังคมใหม่” (Neo Social Realism) และ ในแง่ “รูปแบบกวีนิพนธ์” (Poetic Form) เขาก็น่าจะเริ่ม “ข้ามสะพาน” ไปพบกับเค้า “ความหนักเบาของเสียงในชุดคำ” “การผูกร้อยจังหวะ” (Rhythm) และ “ลีลา” (Stye) ที่เป็นของตัวเอง (Identity) มากขึ้น….
ในชิ้นงานที่ชื่อ “บทกวีของลูกชาย” ทั้ง 2 บท น่าจะเป็นตัวแทนชัดเจนในการ “ฉายภาพ” ความเป็นบทกวีแบบ “สัจจะสังคมใหม่” ที่เรียบง่าย (Simplisity) แต่เปี่ยมด้วยพลัง อันเกิดจาก “ศักยภาพ” ในการผูกร้อยความหนักเบาของ “ชุดคำ” ขึ้นเป็น “จังหวะ” จนก่อ “ลีลา” ที่ค่อนข้างเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในวงการกวีนิพนธ์ (Poetry)ไทย ที่ยังเชื่อมโยงรูปแบบการเขียนแบบ “กลอนเชิงขนบ” ในรุ่นปัจจุบัน…!!"