ปชน.ยื่นร่างแก้รธน. 3 ฉบับ หวังศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ยึดโยงประชาชน
วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่รัฐสภา พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.ของพรรค ร่วมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ประเด็นศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา
พรรคประชาชนระบุว่า แม้วิกฤตหลักของประเทศในขณะนี้คือปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา แต่ในระยะยาว การมีระบบการเมืองที่มั่นคง กลไกตรวจสอบเข้มแข็ง และการเคารพเจตจำนงของประชาชน จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด
พรรคประชาชนชี้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต เช่น การยุบพรรคการเมือง การเพิกถอนสิทธิผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง การละเลยตรวจสอบคดีทุจริต และกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ล้วนสะท้อนความล้มเหลวขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจสูงแต่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน
โดยเสนอ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ร่างที่ 1 – เปลี่ยนระบบอย่างเป็นรูปธรรม
- เสนอเปลี่ยนโครงสร้างที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระ โดยมี 3 แนวทางหลัก:
- เพิ่มความหลากหลาย: เปิดช่องทางเสนอชื่อจากหลายฝ่าย เช่น ศาล, สส. ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และ สว. แทนการเสนอผ่านคณะกรรมการชุดเดียว
- ยุติการผูกขาดโดย สว.: เปลี่ยนจากการให้ สว. รับรองลำพัง เป็นให้รัฐสภาพิจารณาร่วมกัน โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1/2 ของ สส. รัฐบาล, 1/2 ของ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ 1/2 ของสมาชิกทั้งหมด
- เปิดช่องตรวจสอบ: ให้ประชาชน 20,000 รายชื่อ หรือ สส. เข้าชื่อเสนอถอดถอนตุลาการฯ หรือกรรมการองค์กรอิสระได้ หากมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ร่างที่ 2 – ปรับลดอำนาจ สว.
เสนอให้เปลี่ยนกระบวนการรับรองบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรอิสระ จากเดิมที่ ส.ว. มีอำนาจชี้ขาด มาเป็นการพิจารณาร่วมของรัฐสภาทั้งสองสภา
ร่างที่ 3 – คืนอำนาจประชาชนตรวจสอบ
เสนอคืนสิทธิให้ สส. หรือประชาชนจำนวน 20,000 รายชื่อ สามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้
พรรคประชาชนยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการแก้ไขครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็น “การปลดชนวนระเบิดเวลา” ของปัญหาทางการเมืองที่หมักหมมมายาวนาน
แม้พรรคจะยังยึดเป้าหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ย้ำว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในประเด็นเร่งด่วน สามารถเดินหน้าได้ทันที โดยหวังว่าทุกพรรคการเมืองและสมาชิกสภาจะร่วมกันผลักดันร่างดังกล่าวในสมัยประชุมนี้
ขอบคุณภาพสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร