ขีปนาวุธจากกัมพูชา! ข้อมูลยังไม่ยืนยันจากหน่วยงานราชการหรือกองทัพ
กองทัพภาคที่ 2 ชี้แจง จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการยิงขีปนาวุธเข้าสู่ประเทศไทย ขอเรียนว่า ข้อมูลดังกล่าว ยังไม่มีการยืนยันจากหน่วยงานราชการหรือกองทัพ เพื่อความถูกต้องในการรับข้อมูลข่าวสาร ขอให้ประชาชนติดตามข่าวจากช่องทางทางการ โดยเฉพาะ เพจเฟซบุ๊ก “กองทัพบก Royal Thai Army” หรือ "กองทัพภาคที่ 2" ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก
ขณะที่ กองทัพอากาศไทย Royal Thai Air Force แจ้งเตือน ขอความร่วมมืองดเผยแพร่ สื่อ/เนื้อหา/ข้อมูล/ภาพ เกี่ยวกับขีดความสามารถอาวุธยุทโธปกรณ์เชิงลึก รวมถึงการวิเคราะห์แผนการปฏิบัติการทางทหารที่อาจเป็นไปได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการของกองทัพ ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อความมั่นคงของประเทศไทย
ยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเหตุชายแดนไทย-กัมพูชา
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า จากการติดตามสถานการณ์ข้อมูลเมื่อเวลา 09.00 น. มีประชาชนได้รับบาดเจ็บอาการหนักเพิ่มขึ้น 1 ราย ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บสะสมรวม 36 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย มีอาการหนัก 11 ราย ผู้เสียชีวิตยังเท่าเดิม 13 ราย
ส่วนโรงพยาบาลได้รับผลกระทบรวม 19 แห่ง โดยต้องปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ได้แก่ รพ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี, รพ.บัวเชด รพ.สังขะ จ.สุรินทร์ และ รพ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ รวมปิดให้บริการ 11 แห่ง ลดบริการเหลือเฉพาะฉุกเฉิน (ER) เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ รพ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ รวมเปิดบริการเฉพาะฉุกเฉิน 8 แห่ง ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 617 ราย มีการเปิดศูนย์อพยพเพิ่มเป็น 433 แห่ง มีผู้เข้าพัก 138,152 คน เป็นกลุ่มเปราะบาง 21,076 คน ส่งต่อผู้อพยพไปรักษาในโรงพยาบาล 139 ราย
"ความเสียหายของอาคารสถานที่ในโรงพยาบาล เบื้องต้น จ.ศรีสะเกษ มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้รับความเสียหาย 3 แห่ง จ.สุรินทร์ มีอาคารภูมิพัฒน์ รพ.พนมดงรักเฉิมพระเกียรติ 80 พรรษา มูลค่าความเสียหาย 1.5 ล้านบาท ส่วนอาคารอื่นๆ ต้องรอเข้าสำรวจหลังจากสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงกรณีมีการใช้อาวุธที่มีรัศมีทำการไกลขึ้น เตรียมวางแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยไว้ด้วย" นพ.วีรวุฒิกล่าว
นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับการวางระบบดูแลประชาชน ได้จัดทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ อนามัยสิ่งแวดล้อม และเยียวยาจิตใจ รองรับการดูแลประชาชนเพิ่มเป็น 321 ทีม หากพื้นที่ต้องการสนับสนุนเพิ่มเติมให้ประสานส่วนกลางที่กองสาธารณสุขฉุกเฉิน และกำชับเฝ้าระวังปัญหาโรคติดต่อในศูนย์อพยพ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งขณะนี้พบสัญญาณการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น รวมถึงให้การดูแลด้านจิตใจ ทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และบุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โฆษก ทบ. เผยกัมพูชายังไม่หยุดยิง ไทยต้องตอบโต้การรุกราน
- สถานการณ์ไทย-กัมพูชา! สมช. ศบ.ทก. วอนปิดโลเคชั่นศูนย์พักพิง-จุดล่อแหลม
- กัมพูชา เปิดฉากยิง! กระสุนปืนใหญ่ตกใส่บ้านประชาชนใน จ.สุรินทร์
- กองทัพภาคที่ 2 ยันปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นเรียกระดมพลกำลังสำรอง
- ภูมิธรรม เผยบทสนทกับทรัมป์ เห็นด้วยหยุดยิง แต่กัมพูชาต้องจริงใจ!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- F-16 ไทยโจมตีตอบโต้ หลังเขมรยิงจรวดใส่ปราสาทตาเมือนธม
- โฆษก ทบ. เตือนกัมพูชายังไม่น่าไว้วางใจพบการเคลื่อนไหวทางทหาร อาจใช้ PHL-03 ยิงสนับสนุนระยะไกล
- โฆษก ทบ. เผยกัมพูชายังไม่หยุดยิง ไทยต้องตอบโต้การรุกราน
- 5 พฤติกรรมสายลับ! ลอบส่งข้อมูลไทยให้กัมพูชา เตือนโทษสูงสุดประหารชีวิต
- ชายผ้าถุงแม่ เครื่องรางทางใจในสนามรบชายแดนไทย–กัมพูชา