น้ำท่วมจีน-เนปาล เหตุจากธารน้ำแข็งละลาย ผู้เชี่ยวชาญชี้อนาคตเกิดบ่อยขึ้นแน่
ศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการ หรือ ICIMOD ประเมินสาเหตุเบื้องต้นของเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันรุนแรงที่เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและเนปาล คาดว่าเกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาลังตังทางตอนเหนือของเนปาลอย่างรวดเร็ว ปริมาณน้ำจำนวนมากเอ่อล้นจนไหลทะลักลงมาฉับพลัน เดิมทีทะเลสาบแห่งนี้เป็นเพียงแอ่งน้ำเล็กๆ รองรับน้ำจากการละลายของธารน้ำแข็ง แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าทะเลสาบขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงปริมาณน้ำมหาศาลที่พร้อมเอ่อทะลัก สาเหตุหลักคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น
อุทกภัยจากธารน้ำแข็งละลายเกิดถี่ขึ้น
ที่ผ่านมาอุทกภัยจากธารน้ำแข็งบริเวณเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาฮินดูกูชมีคาบอุบัติซ้ำทุกๆ 5-10 ปี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับพบว่าความถี่ของอุทกภัยที่มีสาเหตุจากธารน้ำแข็งละลายกลับเกิดถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านี้ พื้นที่บางส่วนของเนปาล อัฟกานิสถาน และปากีสถานพบว่ามีเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันซึ่งมีสาเหตุจากการละลายของธารน้ำแข็งเช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขาแบบบูรณาการระบุว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น และเชื่อมโยงกับการละลายของธารน้ำแข็งที่มากผิดปกติ ในปี 2020 มีการสำรวจพบทะเลสาบธารน้ำแข็งในเนปาลมากกว่า 2,000 แห่ง และในจำนวนนี้มีถึง 21 แห่งที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุทกภัยได้ แต่เหตุการณ์อุทกภัยจากธารน้ำแข็งละลายที่เกิดขึ้นในจีน-เนปาลนั้น กลับมีสาเหตุจากทะเลสาบธารน้ำแข็งที่มีขนาดเล็กจนไม่มีใครคาดคิด นั่นหมายถึงความไม่แน่นอนของภัยพิบัติและความยากต่อการคาดการณ์
สัญญาณเตือนจากธรรมชาติ
อุทกภัยที่เกิดจากธารน้ำแข็งละลายนั้นสามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรงมากกว่าสถานการณ์น้ำท่วมปกติ เนื่องจากปริมาณน้ำมหาศาลที่ไหลลงจากพื้นที่สูงที่มีความลาดชันเพิ่มความแรงและเร็วของกระแสน้ำ รวมถึงยังกวาดเอาหิน ดิน และเศษซากไหลรวมกันลงมา สร้างความเสียหายได้มากกว่าปกติ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเกิดถี่ขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเร่งการละลายของธารน้ำแข็งให้เร็วกว่าเดิม ภัยพิบัติจากการละลายของธารน้ำแข็งจึงเป็นความท้าทายของทุกประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาสูง การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดจึงมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “น้ำป่า” ทะลักท่วม จ.ตราด บ้านเรือนจมน้ำ 45 หลังคา ยังไม่ถึงจุดวิกฤตแต่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ
- งานวิจัยชี้ฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น ทำ “เท็กซัส” น้ำท่วมหนัก จนเกินที่จะควบคุม
- เตือนคนป่วย “เบาหวาน” โลกร้อนอาจทำให้ร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม
- เตือน 16 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม
- “ธารน้ำแข็งละลาย” ภัยเงียบที่อาจจุดชนวน “ภูเขาไฟระเบิด” ทั่วโลก