‘ปฏิญญาทักษิณ’ มัดรวมขั้วเดิม ประคองสภาฯ ดีลรัฐบาลหน้า
ถอดรหัสสัญญะการเมือง“สามัคคีประเทศไทย ปกป้องอธิปไตย แก้ปัญหาเพื่อประชาชน” ชื่องานดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อ 22 ก.ค.2568 สะท้อนว่า “พรรคเพื่อไทย” ยังต้องอาศัยเสียงพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อตรึงองค์ประชุมสภาฯ รวมทั้งประกาศจุดยืนปกป้องแผ่นดินไทย ไม่ได้เป็นไปตามคำกล่าวหา “ขายชาติ” ตามที่ขั้วตรงข้ามเปิดศึกโจมตี หากไร้ข้อครหารัฐบาลจะลุยเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนทันที
ขณะเดียวกัน วันที่ 22 ก.ค.ยังถือเป็น“วันครบรอบ 2 ปี ปฏิญญาช็อกมินต์” ซึ่งวันนั้นเมื่อ 2 ปีก่อน พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล โดยปฏิเสธ “พรรคก้าวไกล” ที่มีแผล ม.112 ในขณะนั้น
ความหลังครั้งนั้น ค่ายนายใหญ่ จำเป็นต้องพึ่งพาบริการค่ายสีน้ำเงินของ “ครูใหญ่” เพื่อมาเติมเต็มเสียงในการจัดตั้งรัฐบาล จนเป็นรัฐบาลผสม 300 กว่าเสียง
ผ่านมา 2 ปี“พรรคเพื่อไทย”แตกหักค่ายน้ำเงิน ยึดกระทรวงมหาดไทยจาก “ภูมิใจไทย”ได้สำเร็จ
พรรคภูมิใจไทย พลิกสถานะเป็นฝ่ายค้าน เปิดหน้ารบกับ “เพื่อไทย” เปิดฉากโจมตีถึงปมปัญหาคลิปเสียงการเจรจาข้อพิพาทชายแดน ไทย - กัมพูชา ว่าเป็นการไม่ปกป้องอธิปไตยของผู้นำไทย รวมทั้งยังมีกลไก สว.สีน้ำเงินกว่า 130 เสียงพร้อมที่จะเดินเกมทางลัดโค่นล้มนายกรัฐมนตรีได้ทุกเมื่อ
แม้ “นายใหญ่” จะตอกย้ำผ่านเวทีดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลถึงความเป็นปึกแผ่นของรัฐบาล แต่ภายในพรรคร่วมรัฐบาลใช่ว่าจะมีเสถียรภาพเสมอไป
เห็นได้จากการชิงปิดประชุมสภาฯ 3 ครั้งก่อนหน้านี้ เพราะเกรงว่าเสียงปริ่มน้ำของพรรครัฐบาลจะทำให้สภาฯ ล่มลงก่อนเวลา
“พรรคร่วมรัฐบาลถึงแม้ว่าเสียงจะเกินกึ่งหนึ่งไม่มากเกินไปนัก แต่ด้วยความสามัคคี ความน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของชาติ เสียงหนึ่งเสียง ก็เกินพอเกินพอ” ทักษิณ ชินวัตร ระบุ
ต้องยอมรับว่า เสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน มีเสียง สส.ราว 254 เสียง หากนับรวม สส.ในทางลับที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองที่พร้อมกดปุ่มเห็นชอบตามรัฐบาล น่าจะมีราวเกือบ 10 เสียงได้ ซึ่งเสียงกึ่งหนึ่งในสภาต้องมีไม่น้อยกว่า 247 คน จากทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 493 คน
นั่นหมายความว่า เสียง สส.รัฐบาลจะมีเกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 10 กว่าเสียงเมื่อบวกรวมกับเสียง สส.ในทางลับ ฉะนั้นหากไม่ตรึงกำลังในสภาฯ อย่างเข้มงวด องค์ประชุมสภาฯ ก็สุ่มเสี่ยงล่มได้ทุกเมื่อ
ยิ่งมีข่าวสะพัดในหมู่ สส.เพื่อไทยทำนองว่า “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 อาจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อยุุติปมปัญหาที่ถููกร้องในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะตุลาการจะนัดชี้ชะตาวันที่ 1 ส.ค. นี้ หลังมือปิดประชุมสภาฯ ถูกพรรคประชาชน ยื่นตีความเกี่ยวกับเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเสนองบฯ สำนักเลขาธิการสภาฯ จนทำให้ “พิเชษฐ์” มีส่วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณปี 2568 โดยทางตรงหรือทางอ้อม
ทำให้เกิดสูตรโยนหินถามทาง จำเป็นหรือไม่ที่ รองประธานสภาฯ จะให้โควตากับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือพรรคกล้าธรรม เพื่อตรึงกำลัง สส.ในสภาฯ ให้อยู่หมัด แทนที่ให้ “เพื่อไทย” กินรวบรองประธานสภาฯ ทั้งหมด
ขณะที่“แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ประกาศท่าทีไปยังพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมกลับมาทำหน้าที่นายกฯอีกครั้ง ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเป็นบวกต่อสถานะนายกฯ หลังถูก สว.สีน้ำเงิน ยื่นเรื่องร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับคุณสมบัติเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมเกี่ยวกับคลิปสนทนากับ “สมเด็จ ฮุน เซน” ประธานวุฒิสภาแห่งกัมพูชา
“ดิฉันก็ยังมั่นใจอีกเรื่อง ในเรื่องของเจตนาอันบริสุทธิ์ ที่จะรักษาไว้ซึ่งชีวิตของพี่น้องประชาชน รักษาไว้ซึ่งชีวิตของเจ้าหน้าที่ของทหาร การยึดหลักในเรื่องของสันติวิธี เป็นสิ่งที่สำคัญ หวังว่าสิ่งพวกนี้ จะสามารถพิสูจน์ในเรื่องของกระบวนการต่างๆ ได้ และดิฉันจะได้มีโอกาสกลับมาทำเพื่อพี่น้องประชาชน รับใช้พี่น้องประชาชน รับใช้สถาบัน และได้มีโอกาสกลับมาทำงานร่วมกับทุกท่านอีกครั้ง” แพทองธาร กล่าว
พลันที่งานเวทีดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลจบลง แม้ตัวงานจะไม่คึกคักเหมือนเมื่อครั้งงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลปีแรกในยุคนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน
เมื่อคีย์แมนพรรคร่วมฯ รัฐมนตรีเพื่อไทยต่างทยอยเดินส่ง “นายใหญ่-นายน้อย” ออกจากงานเสร็จสิ้นแล้ว มีการวิเคราะห์ในหมู่ สส.พรรคร่วมรัฐบาลนอกรอบงานเลี้ยง โดยประเมินถึงการส่งสัญญาณของ “ทักษิณ”และ “แพทองธาร” เป็นการให้ขวัญกำลังใจพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ในสภาวะรัฐบาลผสมปริ่มน้ำ
ส่วนโอกาสทางรอด ทางร่วงสถานะนายกฯ หากรอดจะเท่ากับเดินหน้าทำงานฝ่าแรงต้านกันต่อไป โดยมองถึงท่าทีของนายกฯ เคยกล่าวคำขอโทษและยืนยันว่าคลิปเสียงสนทนาดังกล่าวไม่ได้เป็นการยกอธิปไตยให้กับกัมพูชา
หากนายกฯ รอดพ้นคดีร้อน จะเท่ากับเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับประเทศต่อไป ซึ่งอาจฝ่าแรงต้านอยู่ยาวถึงปีต้นปี 2570 ก่อนยุบสภาฯ ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม มีเสียงจากคนในพรรคร่วมรัฐบาล ยังมองว่าโอกาสรอดมีเพียง 50 ต่อ 50 เพราะประเมินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ยาก โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.นี้ ม็อบเครือข่ายรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย เตรียมนัดชุุมนุมใหญ่ ซึ่งคาดว่าหลังวันแม่ 12 ส.ค.ม็อบจะเดินเกมโหมกระแสปลุกเร้ากดดันศาลรัฐธรรมนูญอีกทางหนึ่ง
จุดเดือดทางการเมืองไทยจะ “ไปต่อ” หรือ “หยุดต่อ” จะอยู่ราวปลายเดือน ส.ค.จนถึงกลางเดือน ก.ย.นี้
ถ้า“แพทองธาร” ยังอยู่ต่อในตำแหน่งนายกฯ เท่ากับตัดกำลังก๊กสีน้ำเงินไปได้อีกระยะยาวที่ต้องการล้มรัฐบาลให้เร็วที่สุด
แต่ถ้านายกฯ ไม่รอดพ้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าโอกาสอยู่ยาวของรัฐบาลผสมปริ่มน้ำที่ไปต่อคงอยู่ได้ไม่นาน และรอวันที่เหมาะสมเพื่อยุบสภาฯ เท่านั้น
"ผมบอกกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า ทีมนี้แหละที่เมื่อเลือกตั้งแล้วก็จะเป็นเพื่อนร่วมงานกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่ทิ้งกันขนาดนี้ก็ไม่ทิ้งกันตลอดไปจริงหรือไม่”
ปฏิญญา“นายใหญ่”ทักษิณ ถือเป็นการส่งสัญญาณ หวังมัดใจพรรคร่วมรัฐบาลพันธมิตรก๊กเดิม โดยไม่มีสมการ“น้ำเงิน” และ “ส้ม”แบบปัจจุบัน หากจำเป็นต้องผนึกกันต่อไปหลังเสร็จศึกเลือกตั้งใหญ่
ไม่ว่าจะเลือกตั้งช้าหรือเร็ว“ทักษิณ” โยนไพ่ขอแชร์อำนาจกับพันธมิตรขั้วเดิม เพราะภายใต้การคำนวณคณิตศาสตร์การเมือง “V1” คงรู้ดีว่า โอกาสที่ “เพื่อไทย” จะได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 ไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา
ดังนั้นความจำเป็นต้องพึ่งพาพันธมิตรพรรคร่วมเดิม รวมทั้งพึ่งพาคะแนนจัดตั้งของบ้านใหญ่เป็นหลัก เพื่อกลับมาจัดตั้งรัฐบาล จึงเป็นสูตรที่ต้องใช้บริการต่อไป เพื่อไม่ให้ถูกคู่แค้นฝั่งตรงข้ามชิงนำจัดตั้งรัฐบาลได้