รัฐบาลเตือนระวัง 14 เพจอันตราย หลอกลวงเตือนอย่าหลงเชื่อ
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีและดิจิทัลมีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายใหม่ ๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันยังพบการหลอกลวงเหยื่อ โดยมักจะใช้วิธีการที่มาในรูปแบบของการสร้างแรงจูงใจผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น หลอกให้ลงทุน หลอกหารายได้พิเศษ หรือหลอกให้หลงเชื่อใส่ข้อมูลส่วนตัว ด้วยวิธีการหลอกลวงดังกล่าว กลุ่มมิจฉาชีพมักจะใช้วิธีการแอบแฝงในโลกออนไลน์โดยมาในรูปแบบของการสร้างเว็บไซต์ หรือเพจปลอม โดยล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยตัวเลขช่วงระยะเวลาดำเนินงานเฝ้าระวังและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดกั้นเพจปลอมที่หลอกลวงผู้บริโภคตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567-พ.ค. 2568 จำนวนกว่า 325 เพจ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังคงพบ 14 เพจ ที่ถูกรายงานแล้ว แต่ยังคงพบการเปิดดำเนินการซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อผู้บริโภค
นายอนุกูล กล่าวอีกว่า เพื่อสร้างความตระหนักรู้เท่าทันต่อกลโกงของมิจฉาชีพ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านการหลอกลวงด้วยข้อเสนอที่ดึงดูด หรือขายสินค้าราคาถูกเกินจริง ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังต่อเว็บไซต์หรือเพจ จำนวน 14 เพจ ดังต่อไปนี้ 1.เพจ ขายผลไม้ตามฤดูกาล จัดส่งทั่วไทย เปลี่ยนชื่อเป็น ขายผลไม้ตามฤดูกาล ราคาส่ง 2.เพจ เจ๊ อิงฟ้า 3.เพจสินค้าแฟชั่น ราคาถูก น้องนาว 4.เพจ TT Watch Shop เปลี่ยนชื่อเป็น Video KH 5.เพจ S1le sale2 6. เพจ นำเข้าผลไม้พรีเมี่ยม ราคาถูก 7.เพจ Shoes มือสองของแท้ 8.เพจ Kil’Groth เปลี่ยนชื่อเป็น 186 โกดังพร้อมส่งกรุงเทพ 9.เพจ โปรดีดี Ddshop 10.เพจ Tienda Ropa Store 11.เพจ กิ๊บช่อเกล้าผม 12.เพจ ประมูล จักรยานราคาถูกพร้อมส่งทุกจังหวัด เปลี่ยนชื่อเป็น Cyclist’s Heaven (สวรรค์ของนักปั่น จักรยาน) 13.เพจ เครื่องปั่นอเนกประสงค์ ทนทานปั่นละเอียด และ 14.เพจปลอมแอบอ้างรีสอร์ต Ennkai Resort Koh-Larn
นายอนุกูล กล่าวด้วยว่า รัฐบาลย้ำเตือน เพื่อป้องกันและรับมือปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า การโอนเงิน ขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลของเว็บไซต์หรือเพจให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมต่าง ๆ หากพบพฤติกรรมที่น่าสงสัย อย่างการเสนอราคาสินค้าที่ถูกเกินจริงจนผิดปกติ ควรตั้งข้อสังเกตและหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมอย่างเด็ดขาด ลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ หากประชาชนตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพหรือพบเห็นเว็บไซต์หรือเพจที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวง สามารถดำเนินการแจ้งเบาะแสได้ที่สภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502 หรือเว็บไซต์ https://complaint.tcc.or.th/complaint เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพ.