เชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร 18 ประเทศ แจงกรณีกัมพูชาบิดเบือนข่าวทุ่นระเบิด
วันนี้ (22 ก.ค. 68) กองทัพบกโดยกรมข่าวทหารบก ได้เชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย รวม 18 ประเทศ (เวียดนาม, มาเลเซีย, เมียนมา, สิงค์โปร, อินเดีย, ญี่ปุ่น,ฟิลิปปินส์,อังกฤษ, บรูไน, ปากีสถาน, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย, จีน, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, กัมพูชา และรัสเซีย) เข้าร่วมประชุมรับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และกรณีการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี
โดยมี พลโท กำชัย วงศ์ศรี เจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นประธานในการประชุม ณ อาคารศรีสิทธิสงคราม ภายในกองบัญชาการกองทัพบก
สำหรับข้อมูลที่กรมข่าวทหารบกได้ชี้แจงต่อผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทยประกอบด้วย รายละเอียดสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในวันที่ 16 ก.ค.68 พร้อมยืนยันอย่างชัดเจนว่า ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่พบไม่ใช่ของไทย โดยหน่วยพิสูจน์ทราบได้พิสูจน์ทราบว่าหลุมระเบิดนั้นได้พบเศษวัตถุระเบิดชนิด PMN-2 และพบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเพิ่มอีก 2 จุด และจากการตรวจพบทุ่นระเบิดดังกล่าว ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นทุ่นระเบิด PMN-2 มีสภาพใหม่พร้อมทำงาน ปรากฏตัวอักษรชัดเจนบริเวณด้านข้างทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดชนิดนี้กองทัพไทยไม่มีอยู่ในระบบยุทโธปกรณ์
ขณะเดียวกันพบหลักฐานที่ชัดเจนว่าบริเวณวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลยังไม่มีวัชพืชหรือรากไม้ขึ้นปกคลุม และพบร่องรอยของการขุดเพื่อวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าในปี 2565 ฝ่ายไทยได้ดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่บริเวณช่องบก และไม่มีการตรวจพบทุ่นระเบิด PMN-2 แต่อย่างใด จากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าทุ่นระเบิด PMN-2 ที่ตรวจพบ เป็นการวางหลังจากเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้กรมข่าวทหารบกยังได้ชี้แจงในกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเผยแพร่ภาพและคลิปภารกิจการฝึกเก็บกู้ทุ่นระเบิดของหน่วย TMAC ของไทย พร้อมกล่าวหาว่าฝ่ายไทยเป็นผู้วางทุ่นระเบิด ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ในช่วงท้ายของการประชุม ฝ่ายไทยยังได้แสดงจุดยืนในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งในมิติความสัมพันธ์ทวิภาคีและพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาในกรอบทวิภาคีกับกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งประเทศไทยคาดหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะให้ความร่วมมืออย่างจริงจังโดยเฉพาะการเข้าร่วมการประชุม JBC, RBC, และ GBC ในอนาคต เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศอย่างรอบด้านเพื่อประโยชน์สูงสุดร่วมกัน