"นฤมล"เปิดไอเดียแก้หนี้ครู 9 แสนล้าน ตั้ง"สหกรณ์กลาง"รับโอนหนี้
วันนี้ (19 ก.ค. 68) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจเยี่ยมและประชุมติดตามการดำเนินงานด้านการศึกษา ณ ห้องประชุมธัชมุนี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี นายวิทยา เขียวรอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายณัฐวุฒิ รัตนอรุณ ผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึง ส.ส.พรรคกล้าธรรม นำโดย นายก้องเกียรติ เกตุสมบัติ (ส.ส.เขต 8) และ นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้การต้อนรับ
รมว.ศธ. ระบุว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟังเสียงจากครูและบุคลากรการศึกษา เพื่อออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ความเป็นจริง โดยยืนยันเป้าหมายชัดเจน 4 ด้าน ได้แก่
1.ผลักดันวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองเป็นวิชาหลัก
2.ลดภาระงานเอกสารของครู เพื่อให้มีเวลาสอนนักเรียนมากขึ้น
3.ยกระดับสวัสดิการครูให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ
4.แก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างยั่งยืน
เร่งแก้หนี้ครู 9 แสนล้าน
นางนฤมล เปิดเผยว่า ปัจจุบันครูทั่วประเทศมีภาระหนี้ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 9 แสนล้านบาท ทั้งในกลุ่มที่ยังรับราชการและกลุ่มที่เกษียณแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจึงอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดตั้ง “สหกรณ์กลางครู” โดยให้ครูที่มีหนี้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ โอนหนี้เข้าสู่ระบบใหม่ภายใต้สหกรณ์กลางนี้
แผนเบื้องต้นคือ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0% ในปีแรก และค่อย ๆ ปรับขึ้นตามขั้นบันได แต่ไม่เกิน 4.5% ซึ่งจะต่ำกว่าระดับปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5% พร้อมเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมโครงการต้องไม่ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม และจะได้รับสวัสดิการเพิ่มเติม เช่น ค่าที่พักอาศัย ค่าเดินทาง และค่าสาธารณูปโภค เพื่อช่วยให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดึงแบงก์รัฐ-กองทุนรัฐบาลร่วมลงทุน
รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า วันที่ 22 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อวางแนวทางจัดตั้งสหกรณ์กลางให้เป็นรูปธรรม พร้อมปลดล็อกกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรค
ขณะนี้ได้พูดคุยเบื้องต้นกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งพร้อมสนับสนุนเงินก้อนแรกกว่า 1 แสนล้านบาท สำหรับโครงการนี้ และหากความต้องการเงินทุนมากกว่านี้ ก็จะพิจารณาดึงเงินจากกองทุนรัฐบาล เช่น กองทุนประกันสังคม หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เข้ามาร่วม โดยจะพิจารณาความเป็นไปได้ตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
“เรามั่นใจว่า ภายใน 3 เดือน จะเห็นความชัดเจนรูปธรรมในโครงการนี้ และสามารถเปิดให้ครูลงทะเบียนเข้าร่วมได้” นางนฤมล กล่าว
ปรับเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ-เพิ่มรายได้ครู
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ รมว.ศธ. กล่าวถึงคือ เรื่องการประเมินวิทยฐานะ ซึ่งยอมรับว่า ระบบปัจจุบันแม้จะมีข้อดีในด้านความรวดเร็ว แต่กลับมีเสียงสะท้อนว่า มีครูผ่านเกณฑ์น้อยลง จึงเสนอให้ผู้ประเมินมีความเข้าใจงานในสถานศึกษาจริง เพื่อให้การประเมินเกิดความเป็นธรรม พร้อมย้ำว่า การมีวิทยฐานะสูงขึ้นไม่ใช่แค่เกียรติยศ แต่ยังหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าครองชีพครู
ชื่นชมโรงเรียนเบญจมราชูทิศ
รมว.ศธ. ยังกล่าวชื่นชมโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ที่มีนักเรียนมากความสามารถ และมีความภาคภูมิใจในสถาบัน พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเสนอแนะแนวทางการศึกษาเพิ่มเติม โดยสามารถส่งตรงถึงกระทรวงศึกษาธิการได้ เพื่อรวบรวมและกลั่นกรองเข้าสู่นโยบายการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับประถม มัธยม อาชีวะ และการศึกษาตลอดชีวิต
“การปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐมนตรี แต่ต้องมาจากเสียงของครู นักเรียน ผู้บริหาร และประชาชนร่วมกัน” นางนฤมล กล่าวทิ้งท้าย