คลื่นความร้อนคุกคามซีกโลกเหนืออย่างรุนแรง กระทบหลายล้านคน
ในเอเชีย อุณหภูมิที่สูงอย่างต่อเนื่องในปากีสถานกำลังทำให้ผู้คนแทบจะใช้ชีวิตประจำวันกันไม่ไหว ที่เทียนเฉิง ประเทศจีน มีอุณหภูมิอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส ส่วนในญี่ปุ่น คลื่นความร้อนได้สร้างสถิติใหม่ทั่วทั้งหมู่เกาะ
หลายพื้นที่ของยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงและทำลายสถิติมานานหลายสัปดาห์แล้ว ส่งผลให้มีรายงานผู้เสียชีวิตหลายราย และหลายพื้นที่ต้องเผชิญไฟป่าขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง
แม้ว่าอุณหภูมิฤดูร้อนในสหรัฐอเมริกาน่าจะยังไม่ถึงจุดสูงสุด แต่เมืองใหญ่ๆ ทางตะวันตกก็กำลังเผชิญกับผลกระทบจากความร้อนจัดอยู่แล้ว รัฐเนวาดามีผู้เสียชีวิตจากความร้อนอย่างน้อย 29 ราย ส่วนรัฐแมรี่แลนด์มีผู้เสียชีวิต 11 ราย
คลื่นความร้อนที่แผ่ขยายไปทั่วซีกโลกเหนือครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ โดยข้อมูลใหม่เผยให้เห็นว่าโลกกำลังร้อนมากขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งนั่นหมายถึงการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น งานวิจัยล่าสุดชิ้นหนึ่งระบุว่า หากนับเฉพาะในอังกฤษและเวลส์ ความร้อนก็อาจคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 30,000 คนต่อปีภายในทศวรรษ 2070
ขณะที่อินเดียดูเหมือนจะเป็นประเทศที่รับผลกระทบจากความร้อนอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลอินเดียมีความล่าช้าในการรับรู้ถึงผลกระทบของความร้อนสูงต่อประชาชน ซึ่งทำให้การวางแผนรับมือให้ล่าช้าไปอีก แม้ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียขยายแนวคิดของตนให้ไกลกว่าการบรรเทาผลกระทบของคลื่นความร้อน แต่ต้องมองไปไกลถึงกลยุทธ์การปรับตัวต่อสภาพอากาศในระยะยาว
ปัญหาคือแม้อากาศจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนเหมือนปกติ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้อยู่แต่ในบ้านหรือหนีไปยังสถานที่ที่อากาศเย็นกว่า นั่นหมายความว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ต้องทำงานอยู่ภายนอกซึ่งมีความเสี่ยงจากความร้อนที่สูงขึ้นด้วย