เช็กด่วน "หมอเจด" เตือนแล้วนะ ปวดหลังแบบไหน ระวัง "โรคไต"
วันที่ 20 ก.ค. 2568 นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอเจด ให้ความรู้ด้านสุขภาพ เผยปวดหลังแบบไหน ระวัง "โรคไต"
เวลาคนปวดหลัง เราก็จะนึกถึงเรื่องของ "ยกของหนักหรือเปล่า" "ออกกำลังกายท่าไหนมา" หรือ "อายุเริ่มมาก กระดูกเสื่อมไหม"
แต่รู้มั้ยครับว่า "ไต" เองก็เป็นสาเหตุของอาการปวดหลังได้เหมือนกัน วันนี้ผมเลยอยากชวนคุณมาเช็กว่า ปวดหลังแบบไหน ที่ควรสงสัยว่า "ไตอาจมีปัญหา"
1. ปวดหลังตรง "เอว" ข้างใดข้างหนึ่ง หรือสองข้าง
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า ไตของเราอยู่ตรงไหน? ไตมันจะอยู่ด้านหลังของช่องท้อง บริเวณแนวกระดูกสันหลังช่วงเอว ถ้าวัดกันจริง ๆ ก็อยู่ระดับกระดูก T12–L3 ซึ่งถือว่าอยู่ "หลังล่าง แต่ไม่ล่างสุด" อาการปวดจากไตจะอยู่ตรงช่วงชายโครงด้านหลัง หรือที่เรียกกันว่า "costovertebral angle" ถ้าคุณเอามือจับเอว แล้วเอานิ้วกดจุดนั้นแล้วเจ็บแบบเสียวลึก ๆ หรือปวดแบบไม่รู้สึกว่ามาจากกล้ามเนื้อ ให้ระวังไว้ก่อนครับ โดยเฉพาะถ้าเป็น อาการปวดเฉพาะจุดข้างใดข้างหนึ่ง หรือมีการปวดสลับข้าง ๆ ซ้าย–ขวา ที่ไม่เกี่ยวกับท่าทางหรือการเคลื่อนไหว → แบบนี้ไม่ธรรมดาครับ
2. ปวดแบบ "ลึก ๆ" ไม่ใช่ตึง ๆ เหมือนกล้ามเนื้อ
ถ้าปวดจากกล้ามเนื้อทั่วไป เช่น ยกของหนัก ออกกำลังกายผิดท่า หรือกล้ามเนื้อล้า อาการที่เจอจะเป็นพวกปวดตึง ๆ เจ็บเมื่อขยับตัว เอี้ยวตัว หรือบิดหลัง
แต่ถ้าเป็นอาการปวดจากไต → มักจะมีลักษณะปวดแบบ "ลึก" และ "ลึกมาก" เหมือนมีอะไรมาดัน หรือจี๊ดอยู่ข้างในลึก ๆ บางคนจะใช้คำว่า "ปวดถึงไส้ถึงพุง" หรือ "เสียวขึ้นสมอง" ลักษณะนี้แหละครับที่ควรเอะใจว่า อาจจะไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อแล้ว โดยเฉพาะถ้าไม่เคยเล่นกีฬา ไม่ได้ยกของ ไม่มีอุบัติเหตุ แล้วอยู่ดี ๆ ปวดขึ้นมาเฉย ๆ
3. ปวดหลัง + มี "ไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะเปลี่ยนไป"
อาการปวดหลังจากไตมักจะไม่ได้มาแค่เดี่ยว ๆ หลายครั้งมันจะมาพร้อมเพื่อน คือ อาการของการติดเชื้อ หรือ ไตอักเสบ ให้สังเกตอาการเหล่านี้ประกอบด้วย
- มีไข้ แบบอยู่ดี ๆ ก็ร้อนวูบวาบ
- หนาวสั่น
- ฉี่แสบ ฉี่ขุ่น มีกลิ่นแรง บางคนบอกฉี่เป็นฟอง หรือมีสีเข้มกว่าปกติ
- ปัสสาวะเป็นเลือด หรือฉี่ได้น้อยลง
- คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร
ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมกับการปวดหลัง ต้องนึกถึง "ภาวะกรวยไตอักเสบ" หรือ "ไตติดเชื้อ" ไว้ก่อนและนี่เป็นโรคที่ ต้องได้รับยาฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง โดยเร็วที่สุด ถ้าปล่อยไว้ อาจลุกลามเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด หรือทำให้ไตพังได้เลยครับ
4. ปวดข้างเดียว ร้าวลงขาหนีบหรือท้องน้อย
อันนี้เป็นอาการสุดคลาสสิกของ "นิ่วในไต" หรือ "นิ่วในท่อไต" โดยทั่วไปจะเริ่มจากอยู่ดี ๆ ก็ ปวดหลังข้างใดข้างหนึ่งแบบจี๊ด ๆ แล้วอาการมันจะไม่อยู่นิ่งครับ มันจะ "ร้าวลง" ไปที่หน้าท้อง ขาหนีบ หรืออัณฑะ ในผู้ชาย คนไข้หลายคนจะบรรยายว่า "มันปวดจนทนไม่ไหว" บางคนดิ้น บางคนคลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะขัดหรือมีเลือดปน นิ่วในไตมักทำให้เกิดการอุดตันทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะไหลไม่สะดวก ไตก็จะเริ่มบวม กรวยไตจะเริ่มดัน ทำให้ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ การวินิจฉัยมักต้องอาศัยอัลตราซาวนด์ หรือ CT scan และอาจต้องใช้ยาหรือส่องกล้องเพื่อช่วยเอานิ่วออก
5. ปวดเรื้อรัง + ซีด บวม เหนื่อยง่าย
บางคนอาจไม่ได้มีอาการปวดหลังแบบจี๊ด ๆ หรือเฉียบพลัน แต่จะรู้สึกว่า “ปวดตุบ ๆ ตึง ๆ เรื่อย ๆ ที่หลังข้างใดข้างหนึ่ง” โดยไม่ชัดเจน
ถ้าอาการแบบนี้มาพร้อมกับ:
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ (แม้ไม่ได้ออกแรงมาก)
- บวมที่หน้า เท้า หรือรอบตา
- ปัสสาวะน้อยลง หรือมีฟอง
อาการทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณของ โรคไตเรื้อรัง หรือที่คนเรียกกันว่า "ไตเสื่อม"
โรคไตเสื่อมมักจะไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก คนไข้หลายคนมารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ค่า Creatinine สูง หรือไตเหลือทำงานน้อยกว่า 60% แล้ว ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น เบาหวาน ความดัน → ความเสี่ยงยิ่งสูงครับ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และดูค่า eGFR เป็นทางเดียวที่จะรู้ว่าไตยังโอเคอยู่ไหม
แต่อันนี้ต้องย้ำนะ ต้องระวังเรื่องอายุด้วยนะครับ เพราะ eGFR จะลดลงตามอายุเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น
- คนอายุ 60 ปี eGFR อาจเหลือราว 75–85 ได้ โดยยังไม่ถือว่าไตเสื่อม
- แต่ถ้าค่าลดเร็วผิดปกติ หรือมีอาการร่วม เช่น บวม ปัสสาวะผิดปกติ อันนี้ควรตรวจต่อ
ฝากนะทุกคน อาการปวดหลัง ใช่ว่าจะมาจากกล้ามเนื้อเสมอไป อย่าลืมสังเกตอาการที่พูดไปนะ เพราะถ้าไตมีปัญหา แล้วปล่อยไว้นานเกินไป → ไตเสียแล้ว…เรียกกลับมายากมากครับ ไปหาหมอ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะง่าย ๆ ใช้เวลาไม่นาน แต่อาจช่วย "รักษาไตของเราไว้ได้อีกหลายปี" เลยนะ
ขอบคุณ FB : หมอเจด