จีนวางเกมผู้นำสีเขียว ร่วมกองทุนป่าฝนบราซิล ดัน COP30
จีนส่งสัญญาณถึงรัฐบาลบราซิลว่าจะลงทุนใน กองทุน “Tropical Forests Forever Facility” หรือ กองทุนอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อน ซึ่งเป็นกลไกพหุภาคีที่ใช้ในการจัดสรรเงินทุนเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าที่ถูกคุกคามทั่วโลก ตามการเปิดเผยของสำนักข่าวรอยเตอร์
รายงานระบุว่า การที่จีนลงทุนในกองทุนซึ่งบราซิลเสนอขึ้นครั้งแรกในปี 2023 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาอาศัยเงินทุนจากประเทศร่ำรวยที่มีส่วนรับผิดชอบหลักต่อภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ การที่จีนให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนกองทุนดังกล่าว อาจเป็นการเปิดทางให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เข้ามามีบทบาทด้านเงินทุนในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก้าวข้ามข้อผูกพันตามพันธกรณีที่บังคับใช้เฉพาะประเทศพัฒนาแล้วตามข้อตกลงปารีส ปี 2015
แนวทางใหม่นี้เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ เริ่มถอยห่างจากคำมั่นสัญญาในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการลดโลกร้อน แม้จะเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศยากจนที่กำลังดิ้นรนรับมือกับผลกระทบของสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น
ยังไม่ชัดว่าจีนจะให้การสนับสนุนทางการเงินหรือไม่
ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว ผู้นำประเทศกำลังพัฒนาได้วิจารณ์ประเทศร่ำรวยอย่างหนักในเรื่องเป้าหมายการระดมทุนระดับโลกปีละ 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งครอบคลุมเพียงส่วนหนึ่งของวงเงิน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ที่นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าจำเป็น
หลาน โฝ่อาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีน แสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนกองทุนป่าฝน หรือที่รู้จักกันในชื่อ TFFF ในการประชุมร่วมกับ เฟอร์นานโด ฮัดดัด รัฐมนตรีคลังบราซิล แหล่งข่าวระบุว่า มีการหารือกันนอกรอบการประชุมรัฐมนตรีคลังก่อนการประชุมสุดยอด BRICS ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารายใหญ่ ซึ่งจะเริ่มขึ้นที่รีโอเดจาเนโรในวันอาทิตย์
ทั้งนี้ รัฐบาลบราซิลตีความข้อความจากรัฐมนตรีคลังจีนว่าเป็นสัญญาณว่าปักกิ่งจะให้การสนับสนุนทางการเงิน แม้จะยังไม่มีการประกาศต่อสาธารณะจนกว่าจะถึงการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP30 ในเดือนพฤศจิกายน
TFFF จะเป็นผลงานหลักในการประชุม COP30
รอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีลูอิส อีนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล ได้หารือเรื่องกองทุนกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ระหว่างการเยือนจีนในเดือนพฤษภาคม โดยบราซิลยังมีเป้าหมายที่จะดึงดูดประเทศกำลังพัฒนาที่มีทรัพยากรธรรมชาติเข้ามาร่วมในกองทุน โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลาง รัฐบาลบราซิลมองว่า TFFF มีศักยภาพที่จะเป็นผลงานหลักในการประชุม COP30 ซึ่งบราซิลจะเป็นเจ้าภาพในเมืองเบเลง พื้นที่แอมะซอน
ผู้กำหนดนโยบายได้วางแนวทางให้ TFFF เป็นกองทุนขนาด 1.25 แสนล้านดอลลาร์ โดยผสมผสานเงินทุนจากรัฐและภาคเอกชน ดำเนินการในลักษณะคล้ายกองทุนถาวร (endowment) ซึ่งจะจ่ายเงินรายปีให้แก่ประเทศต่าง ๆ ตามปริมาณพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนที่ยังคงเหลืออยู่
แม้แหล่งข่าวจะไม่คาดหวังว่ากองทุนจะเปิดตัวด้วยขนาดเต็มที่ตั้งเป้าไว้ แต่แนวคิดดังกล่าวได้รับสัญญาณสนับสนุนในเบื้องต้นจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในช่วงแรกได้หายไปหลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ความสนใจใน TFFF สะท้อนให้เห็นถึง ความสนใจระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนซึ่งอุดมไปด้วยคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ