ARDA ขานรับนโยบายรมว.เกษตรฯ ปลุกพลังวิจัย ใจกลางเมือง!!! โชว์ 14 นวัตกรรมจากแล็บสู่ไร่
ARDA ขานรับนโยบายรมว.เกษตรฯ ปลุกพลังวิจัย ใจกลางเมือง!!! โชว์ 14 นวัตกรรมจากแล็บสู่ไร่ เปลี่ยนโฉมเกษตรไทยสู่อนาคตเกษตรอัจริยะ
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA เปิด 14 นวัตกรรมวิจัยจากแล็บสู่ไร่ ตอบโจทย์เกษตรมูลค่าสูง สู่ความยั่งยืน ใช้ได้จริง…ภายใต้กิจกรรม “ARDA Mini Press @ KU” พร้อมขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับ “เกษตรอัจฉริยะ–เกษตรเพิ่มมูลค่า–เกษตรยั่งยืน” โดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ผ่านการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมจริงในภาคเกษตรพร้อมประกาศความร่วมมือกับภาควิชาการในการเร่งยกระดับผลผลิตเกษตรปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ภายใต้แนวทาง BCG Economy ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ARDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยไทยให้ก้าวข้ามจากการสร้างองค์ความรู้ให้สู่การเป็น “เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์” ที่ช่วยให้เกษตรกรรับมือการแข่งขัน
และมาตรการกีดกันทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขานรับนโยบายของนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่เกษตรกรได้จริง เช่น การพัฒนาสายพันธุ์พืช เกษตรแม่นยำ นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมถึงการรับมือภัยพิบัติแบบครบวงจร ทั้งการป้องกัน ฟื้นฟู และสร้างอาชีพใหม่
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ARDA จัดขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) เพื่อนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนผลงานวิจัยจากแล็บสู่ไร่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง KU ถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีนักวิจัยที่มีศักยภาพในการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคการเกษตรที่สำคัญ ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของ ARDA สนับสนุน โดยได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องมากถึง 533 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 121 ล้านบาท นำมาสู่ผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เกษตรกรทั่วประเทศ (ข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 – 2568
ณ วันที่ 24 มิ.ย. 68) โดยคัดเลือกผลงานเด่น 14 ชิ้นจาก 8 โครงการวิจัยของ KU มาจัดแสดง ได้แก่ นวัตกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เพิ่มรายได้ ใช้พื้นที่ว่างในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา ลดความเสี่ยงจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เช่น
KU ARDA 20 – ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ โตเร็ว ฝักใหญ่ ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวใน 100 วัน ให้ผลผลิตสูงถึง 400 กก./ไร่ ปัจจุบันขยายผลใช้ใน 14 จังหวัด สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้แล้วกว่า 45,600 กก. ในพื้นที่ 152 ไร่ สร้างมูลค่ารวมกว่า 8 ล้านบาท
ข้าวโพดสุวรรณ 5720/5821 – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ใหม่ทางเลือกแทนนาปรัง เพิ่มรายได้ 1,000 –2,000 บาท/ไร่ ปัจจุบันผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 5720 ขายให้แก่เกษตรกรปีละประมาณ 20 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 78 ล้านบาท/ปี
ถั่วเหลืองเกษตรศาสตร์ 80 – สายพันธุ์ใหม่โปรตีนสูง “ปลอดจีเอ็มโอ” รับมือวิกฤตนำเข้า ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 350 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเดิมถึง 16% ปัจจุบันมีการขยายผลในพื้นที่ 4 จังหวัด รวมกว่า 1,000 ไร่
นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูงภายใต้โครงการ “การบริหารจัดการ RAINs for Central Food Valley by KU” อาทิ กระดาษซับมันจากเปลือกทุเรียน–ใบสับปะรด ที่สลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผง MCT จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ที่สายสุขภาพต้องหามาเติมกาแฟทุกเช้า หรือแม้แต่ “แป้งวีแกน” ที่ผลิตจากกากถั่วเหลืองเหลือใช้ในโรงงาน ฯลฯ สอดรับกับเทรนด์โลกที่เน้น Zero Waste – Circular Econom
“เรามองว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ใช่แค่แหล่งวิชาการ แต่คือ ‘พันธมิตรหลัก’ ที่ร่วมกันเปลี่ยนอนาคตของภาคการเกษตรไทยผ่านงานวิจัย เราให้ทุนวิจัยเพราะเรามั่นใจว่างานวิจัยจากที่นี่ ‘ไม่จบงานแค่ในห้องแล็บ’ แต่พร้อมขยายผลต่อยอดสร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริงในแปลงของเกษตรกร เพราะสำหรับ ARDA งานวิจัยไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่มันคือคำตอบในการพาเกษตรกรไทยไปให้รอดในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” ดร.วิชาญฯ กล่าว
รศ. ดร.วราภา มหากาญจนกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า KU พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยความเชี่ยวชาญของนักวิจัยที่ครอบคลุมทุกมิติของระบบเกษตรไทย และโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และเครือข่ายนักวิจัยและระดับประเทศ-นานาชาติ โดยการสนับสนุนของ ARDA จะเป็นแรงผลักสำคัญในการเปลี่ยนองค์ความรู้ให้เป็นผลผลิตจริง ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทยอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้จากที่ผ่านมา KUสามารถพัฒนาผลงานวิจัยต้นแบบสำคัญได้ในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำเครื่องจักรกลอัตโนมัติ การแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า ระบบบริหารจัดการน้ำ-ดิน-พืชแบบยั่งยืน ฯลฯ
สำหรับในวันนี้ ทาง KU ได้คัดเลือกผลงานวิจัยที่ช่วยเสริมศักยภาพเกษตรกรในการยกระดับสินค้าเกษตร ซึ่งป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และหนึ่งในไฮไลต์ คือโครงการ “RAINs for Central Food Valley” ซึ่งเป็นต้นแบบ “Food Valley ภาคกลาง” โครงการนี้เป็นความตั้งใจของ ARDA ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation Network Support) เพื่อยกระดับระบบการผลิตอาหารของไทยให้เข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม ผ่านการใช้นวัตกรรมการแปรรูปที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
ด้วยมาตรฐานสากล ทดแทนการนำเข้าและรองรับตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือและผลผลอยได้ทำให้ไม่มีของเหลือทิ้งในทุกกระบวนการผลิต ลดการเกิด Food Waste อย่างไร้ประโยชน์ ARDA ตั้งเป้าหมายว่า โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย เพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านบาท ภายในปี 2570
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำผลงานวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือและผลพลอยได้ของผลิตผลทางเกษตรมาร่วมโชว์ด้วย อาทิ “ถั่วเหลือง…โปรตีนเกษตรสายพันธุ์ไทย” พลิกของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอาหาร สู่โปรตีนทางเลือก ลดนำเข้า 100% ปั้นโอกาสใหม่ให้เกษตรกร-ผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ยังมีสับปะรดไทยสู่ไซเดอร์ผงสุขภาพ “คอมบูชาสายพันธุ์ไทย” ผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ตลาดสุขภาพ ที่นำกากชาจากการหมักคอมบูชาไปพัฒนาเป็น ‘วุ้นสวรรค์’ ผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเหลือ ปลอดภัยตามมาตรฐาน อย. พร้อมต่อยอด SCOBY ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการหมักไปพัฒนาเป็นหัวเชื้อสำหรับผลิตเครื่องดื่มสุขภาพ ส่งเสริมแนวทาง Zero Waste อย่างเป็นรูปธรรม ฯลฯ
“แน่นอนว่าทุกการลงทุนของ ARDA ที่ให้กับ KU เพื่อพัฒนางานวิจัยคุณภาพ โดยมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง “องค์ความรู้-เทคโนโลยี-นวัตกรรม” ที่สามารถส่งต่อสู่เกษตรกรได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ-สังคม” รศ. ดร.วราภาฯ กล่าว
ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป “งานวิจัย” ไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว หากแต่คือหัวใจสำคัญของการยกระดับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน วันนี้ ARDA และ KU ได้แสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมไทยก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร ขอแค่เชื่อมั่นในพลังวิจัย และกล้าต่อยอดให้ถึงมือเกษตรกรจริงเพราะอนาคตของเกษตรไทย…ไม่ได้อยู่ที่ "ใครช่วยเรา" แต่อยู่ที่ว่า "เราจะกล้าขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยหรือไม่"