'3 ฉากทัศน์' ชี้ชะตานายกฯ ลุ้นศาล รธน.รับคำร้อง - เลื่อน - ปัดตก
วันที่ 1 ก.ค.2568 กำหนดดีเดย์ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมปรึกษาหารือคดี โดยเป็นการปรับรูปแบบประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เดิมมักประชุมกันในวันพุธ และพฤหัสบดี มาเป็นวันอังคาร ท่ามกลางการจับตาว่า จะมีการนำเรื่องร้องเรียนกล่าวหา “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี กรณีคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา มาพิจารณาในที่ประชุมหรือไม่
สำหรับการประชุมในวันที่ 1 ก.ค.68 นั้น เป็นการเลื่อนประชุมจากกำหนดเดิมจะประชุมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ศาลรัฐธรรมนูญติดการประชุมคณะกรรมการสมาชิกสมาคม (Board of Members Meeting – BoMM) จึงงดการประชุมปรึกษาคดีในสัปดาห์ดังกล่าวลงไป
ทว่า ประเด็นที่น่าสนใจ มีความเคลื่อนไหวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้จัดทำวาระการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยมีวาระการพิจารณาที่น่าสนใจคือ ในวันที่ 8 ก.ค.68 นี้ จะมีการหารือ รับทราบความคืบหน้า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งไปยังอัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อขอให้รายงานกรณี นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีล้มล้างการปกครอง เกี่ยวกับเรื่องกระบวนการเลือก สว.ด้วย
ดังนั้น หากไทม์ไลน์ในวันที่ 8 ก.ค.68 จะมีการพิจารณาในการหารือเรื่องกระบวนการเลือก สว.คาดว่ามีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่า ในวันที่ 1 ก.ค.68 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบยกกรณีร้องเรียนกล่าวหา “นายกฯ แพทองธาร” มาพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ถูกร้องเรียนโดย “กลุ่ม สว.สีน้ำเงิน” ผ่าน “ประธานวุฒิสภา” โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากกรณีปรากฏคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฮุน เซน
และในคำร้องดังกล่าว ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ น.ส.แพทองธาร ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 71 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 40 (8)
หากมีการประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนกล่าวหา “แพทองธาร” ในวันที่ 1 ก.ค.68 จริง คาดว่ามีแนวโน้มออกได้ 3 ทาง คือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวหยิบยกมาพิจารณา เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิดมากเกินไป เพราะประธานวุฒิสภาเพิ่งส่งเรื่องมาให้พิจารณาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
2.ศาลรัฐธรรมนูญ หยิบยกมาพิจารณา และอาจมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น สั่งรับคำร้อง หรือไม่รับคำร้อง หรือสั่งเรียกให้หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
3.ศาลรัฐธรรมนูญ หยิบยกมาพิจารณา แล้วเห็นว่าคำร้องดังกล่าวไม่มีมูล ให้คำร้องดังกล่าวตกไป
ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้ ในซีกรัฐบาลเอง ก็ไม่สามารถประเมินได้ว่า “แพทองธาร” จะอยู่รอดปลอดภัยบนเก้าอี้นายกฯหรือไม่
ดังนั้นในการปรับ ครม.ที่ผ่านมา นายกฯ จึงควบเก้าอี้ รมว.วัฒนธรรม ไว้อีก 1 ตำแหน่ง เผื่อเหลือเผื่อขาดว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องกล่าวหา และสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เป็นการชั่วคราวแล้ว “แพทองธาร” ยังสามารถเข้าประชุม ครม.ในฐานะ รมว.วัฒนธรรม ได้
เงื่อนปมคลิปเสียงฉาวดังกล่าว ถูกสะท้อนผ่านนักวิชาการฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในการเมืองช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เช่น แก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ “คตส.” ซึ่งเคยชงยึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตร และตรวจสอบสารพัดคดีทุจริตสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ขึ้นประกาศบนเวทีปราศรัยของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตยไทย เมื่อ 28 มิ.ย.68 ที่ผ่านมา เรียกร้องให้บรรดา “เพื่อน-พี่น้อง-ลูกศิษย์ลูกหา” ซึ่งทำงานอยู่ใน “องค์กรอิสระ” ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเกี่ยวกับข้อครหา “ชั้น 14” และปมคลิปเสียง “ฮุน เซน” โดยเร็ว
“ฝากถึงเพื่อนพี่น้องลูกศิษย์ทั้งที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา กกต. พยานหลักฐานชัดเจนหมดแล้วเรื่องชั้น 14 ปล่อยให้คดีชั้น 14 อยู่เป็นปี ไม่ทำอะไร การกระทำของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายครอบงำพรรคชัดๆ กกต. ไม่ทำอะไร จึงขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย อย่าคิดว่าเมื่อตัดสินไปแล้วจะถูกหาว่าอยู่ข้างนั้นข้างนี้” แก้วสรร ระบุ
ขณะเดียวกัน อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “มือฉมัง” อย่าง “จรัญ ภักดีธนากุล” ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นทีวี สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจถึงเรื่องนี้ สรุปได้ว่า ถ้าหากตนยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ จะรับเรื่องร้องเรียนกล่าวหา และสั่งให้ “นายกฯ แพทองธาร” ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อตรวจสอบคลิปเสียงดังกล่าวไว้ก่อน
โดย “จรัญ” ระบุว่า กรณีนี้เห็นว่า ค่อนไปในทำนองเดียวกันกับกรณีของอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเหตุว่ากระทบประเด็นเรื่องความขัดแย้ง ระหว่าง 2 ประเทศ เกี่ยวกับพื้นที่ที่อ้างสิทธิขัดแย้งกันอยู่ จนกระทั่งมีการปะทะกันทางทหารเล็กๆ แต่มันพร้อมที่จะลุกลามบานปลายได้
ถ้าไม่มีมาตรการชั่วคราว ก็ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อความแตกแยกของความสามัคคีในประเทศเราเอง เพราะอาจจะมีถึงข้อมูลให้เห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัยแล้วว่า ฝ่ายทหารกับฝ่ายรัฐบาล ขัดแย้งกันหรือไม่ เป็นคนละพวก คนละฝั่งกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นค่อนข้างเอียงไปในทางที่ มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีกรณีตามที่ สว.ร้องขอเข้ามา
“ส่วนปลายทางของคดี แล้วแต่พยานหลักฐาน เพราะว่าเราได้แต่ข้อมูลเบื้องต้น แต่จริงๆ ความจริงเป็นอย่างไร ใช่หรือไม่ ศาลต้องดูละเอียด เรื่องนี้คาดว่าต้องใช้เวลาพิจารณา 3-6 เดือน หากศาลรับคำร้อง” จรัญ ระบุ
เมื่อเครือข่ายอนุรักษนิยมเห็นตรงกันว่า เก้าอี้นายกฯ ของ “แพทองธาร” ควรหลุด สร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ” อีกครั้ง โดย “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 24 มิ.ย.68 ที่ผ่านมา ยอมรับว่า “หนักใจ” ในการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ในเมื่อเราอยู่ตรงนี้ก็ต้องทำตามหน้าที่
โดยในวันที่ 1 ก.ค.68 จะมีการพิจารณาเรื่องคลิปเสียงได้หรือไม่นั้น นครินทร์ ระบุว่า ก็มีความเป็นไปได้ แต่ตอนนี้แต่ก็ต้องให้คณะตุลาการตรวจเอกสารครบถ้วนก่อน ซึ่ง
หากมีการพิจารณาก็จะออกได้ 2 ทาง คือ รับหรือไม่รับเรื่องแต่วันที่ 1 ก.ค.68 จะมีคำสั่งได้เลยหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ ต้องรอตรวจเอกสารก่อน และเข้าองค์คณะ ทุกครั้งที่เราประชุมจะต้องมีองค์คณะครบ 9 คน
“หากวันที่ 1 ก.ค.68 ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคดีคลิปเสียง จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เสมอไป ซึ่งเราก็จะดูว่ามีข้อเท็จจริงว่าการหยุดปฏิบัติหน้าที่จะทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีที่เรารับคดี แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่” นายนครินทร์ ระบุ
ทั้งหมดคือ 3 ฉากทัศน์ และทัศนะจาก “นักวิชาการ-เครือข่ายอนุรักษนิยม” เกี่ยวกับประเด็นนี้ สุดท้ายบทสรุปจะออกมาแง่มุมไหน “แพทองธาร” จะยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯได้ต่อหรือไม่ ต้องติดตาม
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์