พัฒนาการ ‘ทุเรียนซานย่า’ ก้าวหน้า สะท้อนคุณภาพการเกษตรเขตร้อนของจีน
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ซานย่า, 21 ก.ค. (ซินหัว) — “ทุเรียน” ลูกอวบอ้วน ณ เขตนิเวศวิทยาอวี้ไฉในเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ได้สะท้อนการยกระดับคุณภาพการเกษตรเขตร้อนของจีนผ่านการส่งเสริมปัจจัยต่างๆ ทั้งการสนับสนุนทางนโยบาย การสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยี และการบูรณาการอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยให้การเพาะปลูกทุเรียนเชิงอัจฉริยะในท้องถิ่นสามารถก้าวข้ามข้อจำกัด นำสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมครบวงจร ตั้งแต่เพาะต้นกล้า เพาะปลูก แปรรูป จัดจำหน่าย และอื่นๆ
จีนนั้นครองตำแหน่งผู้นำเข้าและผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยข้อมูลสถิติศุลกากรจีนระบุว่าปริมาณการนำเข้าและส่งออกทุเรียนของจีนในปี 2015 รวมอยู่ที่ 2.98 แสนตัน แต่ตัวเลขดังกล่าวพุ่งทะยานขึ้นเป็น 1.55 ล้านตันในปี 2024 ซึ่งอุปสงค์ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมทุเรียนภายในประเทศที่มีอนาคตสดใส
เมืองซานย่าและเขตนิเวศวิทยาอวี้ไฉได้ดำเนินนโยบายเงินอุดหนุน พร้อมสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการจัดหาต้นกล้า บ่มเพาะเทคโนโลยี และรับประกันยอดจำหน่าย เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกทุเรียนในท้องถิ่นจาก “ทดลองปลูก” สู่ “ปลูกขนานใหญ่” โดยจูหนาน ผู้อำนวยการสำนักเกษตรและกิจการชนบทของเขตนิเวศวิทยาฯ เผยว่าเมืองซานย่าจะขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนมากขึ้นและยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่การเกษตรเขตร้อนอันมีประสิทธิภาพ
ฐานเพาะปลูกทุเรียนหลักของเขตนิเวศอวี้ไฉมุ่งมั่นสร้างมาตรฐาน “การเกษตรอัจฉริยะ” ซึ่งมีการควบคุมสภาพแวดล้อมของต้นทุเรียนอย่างแม่นยำผ่านระบบรดน้ำอัตโนมัติ ระบบฝนเทียม และอุปกรณ์ผสมน้ำกับปุ๋ย กอปรกับเครื่องตรวจจับแมลง เครื่องวิเคราะห์สปอร์ แพลตฟอร์มคลังข้อมูลขนาดใหญ่ และวิธีการทางเทคนิคอื่นๆ โดยทั้งหมดหลอมรวมเป็นดัง “พี่เลี้ยง” คอยดูแลการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนแบบครบวงจรชีวิต
นอกจากเพาะปลูกให้ดีแล้ว ยังต้องจำหน่ายให้ดีด้วย โดยเมื่อไม่นานนี้ เมืองซานย่าได้เปิดใช้สายการผลิตสำหรับคัดแยกทุเรียนที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งร่วมพัฒนาโดยบริษัท การเกษตรไห่หนาน โยวฉี จำกัด และบริษัทเทคโนโลยีฝ่ายที่สาม สามารถทำการซีทีสแกน (CT Scan) ทุเรียนแต่ละลูก เพื่อคัดทิ้งทุเรียนที่มีจุดบกพร่อง เช่น หนอนทุเรียน ความเน่าเสีย หรือเนื้อตาย พร้อมวิเคราะห์จำนวนพูทุเรียนและความสมบูรณ์
ปัจจุบันอุตสาหกรรมทุเรียนภายในประเทศจีนเริ่มปรากฏผลลัพธ์เชิงบวกอย่างต่อเนื่อง บริษัทผู้ประกอบการถ่ายทอดประสบการณ์เพาะปลูกและเทคนิคการจัดการแก่เกษตรกรท้องถิ่น ซึ่งช่วยยกระดับการเพาะปลูกที่นำพาสู่ความเจริญมั่งคั่งร่วมกัน เช่น หมู่บ้านหมิงซ่านได้พัฒนาอุตสาหกรรมเพาะปลูกทุเรียนแซมกับพืชผลอื่นๆ ผ่านโมเดล “ผู้ประกอบการ+สหกรณ์+เกษตรกร” เพื่อบรรลุแนวทางการสนับสนุนระยะสั้นสำหรับผลประโยชน์ระยะยาว
ไช่จวิน เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านหมิงซ่าน กล่าวว่ามีการเพาะปลูกพืชผลอย่างสับปะรด หมาก และกล้วย ซึ่งสร้างผลตอบแทนในระยะสั้นและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน ครั้นต้นทุเรียนพร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิต คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 2 ล้านหยวน (ราว 9.02 ล้านบาท) ต่อปี
การเพาะปลูกทุเรียนช่วยสร้างงานและการมีงานทำช่วยเพิ่มรายได้ โดยปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในเขตนิเวศวิทยาอวี้ไฉสูงเกิน 12,000 หมู่ (ราว 5,000 ไร่) แล้ว ช่วยให้เกษตรกรท้องถิ่นจำนวนมากมีงานทำใกล้บ้าน และดึงดูดชาวบ้านเพาะปลูกทุเรียนของตนเอง โดยเติ้งฉี่ชาง ชาวบ้านคนหนึ่ง กล่าวว่าแรงสนับสนุนจากทีมเทคนิคช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเพาะปลูกและการกล้าลงทุนมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันเมืองซานย่ากำลังส่งเสริมการก่อสร้าง “ศูนย์แลกเปลี่ยนทุเรียนนานาชาติ” ที่บูรณาการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ความคิดสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม และธุรกิจรูปแบบอื่นๆ เพื่อบุกเบิกโมเดลการพัฒนาใหม่ๆ เช่น “ทุเรียน+การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” หรือ “ทุเรียน+แบรนด์ทรัพย์สินทางปัญญา” พร้อมเดินหน้าพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนที่ทนหนาวทนแล้งเก่งขึ้นด้วยความหวังขยายตลาดของทุเรียนภายในประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น