ไทยส่งหนังสือถึง ‘ยูเอ็น’ ชี้แจงข้อพิพาทชายแดนกัมพูชา
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่มีการสอบถามจากสื่อต่างๆถึงเรื่องที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับหนังสือของเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชา ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ แจ้งความประสงค์ของกัมพูชาที่จะฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) นั้น ตนขอชี้แจงว่าเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2568 เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชา ณ นครนิวยอร์ก ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวทางชายแดนไทย-กัมพูชา โดยขอให้เวียนหนังสือเป็นเอกสารของสมัชชาสหประชาชาติ ภายใต้ระเบียบวาระที่ 32 ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 79 เรื่อง Prevention of armed conflict
นายนิกรเดช กล่าวอีกว่า ต่อมา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2568 เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ณ นครนิวยอร์ก ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาตินำส่งแถลงการณ์ Statement by the Royal Thai Government on Thailand - Cambodia Border Situation ลงวันที่ 18 มิ.ย.2568 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงท่าทีและการดำเนินการของฝ่ายไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ความตกลงบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ไทย-กัมพูชา พ.ศ.2543 และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาทวิภาคีตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงกันไว้ และมีพันธกรณี อีกทั้งขอให้เวียนทั้งหนังสือลงนามและแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสารของสมัชชาสหประชาชาติ ภายใต้ระเบียบวาระที่ 32 ด้วยเช่นกัน
นายนิกรเดช กล่าวว่า ขณะนี้เลขาธิการสหประชาชาติได้ลงทะเบียนหนังสือข้างต้นของเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชา ณ นครนิวยอร์ก และหนังสือของเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ณ นครนิวยอร์ก เข้าสู่ระเบียบวาระที่ 32 ของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 79 แล้วซึ่งมีนัยเป็นการเวียนหนังสือให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รับทราบ ทั้งนี้ ในหลักการ การเวียนหนังสือของประเทศสมาชิกภายใต้ระเบียบวาระของสมัชชาสหประชาชาติ เป็นกระบวนการเพื่อบันทึกข้อมูลหรือท่าทีของประเทศสมาชิกไว้เป็นหลักฐาน และทำให้เกิดการรับรู้ของประเทศสมาชิก ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อกัมพูชามีหนังสือถึงสมัชชาสหประชาชาติ ฝ่ายไทยจึงได้ดำเนินการมีหนังสือถึงสมัชชาสหประชาชาติเช่นกัน เพื่อชี้แจงท่าทีของประเทศไทย ทั้งนี้ การเวียนเอกสารดังกล่าวเป็นแนวทางการเวียนเอกสารปกติของสหประชาชาติ ซึ่งสามารถดูเอกสารของฝ่ายไทยที่ได้เวียนประเทศสมาชิกสหประชาชาติรับทราบ ได้ที่ https://www.mfa.go.th/th/content/letter-thai-to-unga