กสทช. จ่อรื้อโครงสร้างค่าโทรใหม่ ดัน "แพ็กเกจธงฟ้า" โทร-เน็ต ไม่เกิน 240 บาทต่อเดือน
ถือเป็นเรื่องดีๆ ของผู้ใช้งานมือถือในไทยที่ไม่อยากได้ราคาที่สูง เมื่อสำนักงาน กสทช. กำลังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อผลักดัน "แพ็กเกจธงฟ้า" หรือแพ็กเกจพื้นฐานให้มีราคาถูกลงกว่าเดิม เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างการโทรและอินเทอร์เน็ตได้ในราคาที่ย่อมเยาและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ตั้งเป้าราคาไม่เกิน 240 บาท/เดือน
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ได้เห็นชอบในหลักการที่จะทบทวนประกาศฯ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากสภาพตลาด เทคโนโลยี และต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
"แพ็กเกจธงฟ้า โฉมใหม่ จะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?
การปรับปรุงครั้งนี้จะเน้นไปที่แพ็กเกจเริ่มต้นที่ทุกค่ายต้องมี โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ราคาถูกลง: จากเพดานเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 240 บาทต่อเดือน จะถูกปรับลดลงอีก โดยอ้างอิงจากการคำนวณรายรับเฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ของผู้ให้บริการ ซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น
โฟกัสบริการที่จำเป็น: แพ็กเกจใหม่จะเน้นเฉพาะบริการเสียง (โทร) และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่เท่านั้น โดยจะไม่รวมบริการ SMS และ MMS ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานในปัจจุบันถูกทดแทนด้วยแอปพลิเคชันแชตไปแล้ว
บังคับมี 2 รูปแบบ: ผู้ให้บริการทุกค่ายจะต้องมีแพ็กเกจธงฟ้าให้เลือกอย่างน้อย 2 ประเภท คือ
Pay Per Use (จ่ายตามการใช้งานจริง): เหมาะสำหรับคนใช้น้อย โทรหรือเล่นเน็ตเมื่อจำเป็น
Flat Rate (เหมาจ่ายรายเดือน): เหมาะสำหรับคนที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย มีปริมาณการใช้งานที่แน่นอน
ทำไมต้องปรับปรุง?
กสทช. ให้เหตุผลว่า การทบทวนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภทมีทางเลือกแพ็กเกจราคาประหยัดสำหรับการใช้งานพื้นฐาน ทำให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ สามารถ กำหนดราคาและเสนอขายแพ็กเกจให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง และเข้าใจง่าย และยังสามารถควบคุม และดูการกำกับถึงอัตราค่าบริการส่วนเกินเมื่อใช้หมดแพ็กเกจ เพื่อป้องกันปัญหาบิลช็อก (Bill Shock)
และหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเร่งยกร่างประกาศฉบับใหม่ตามแนวทางที่บอร์ดเห็นชอบ เพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าในไม่ช้าเราจะได้เห็นทุกค่ายมือถือเปิดตัว "แพ็กเกจธงฟ้า" โฉมใหม่ที่ราคาถูกลงและตอบโจทย์การใช้งานที่จำเป็นมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในวงการโทรคมนาคมที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด