เขมรเปิดศึกปลาร้า ซัดไทย มั่วตราสินค้า GI “ปลาฮกเสียมเรียบ” จี้ห้ามส่งขาย
ปลาร้ากัมพูชา แต่สะเทือนคนไทย ซวง นวย รองปธ.อาวุโส โครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์เขมร อัดคลิป TikTok เหตุเผอิญเจอสินค้า GI ปลาฮกเสียมเรียบ แต่ฉลากเขียนเป็น “Product of Thailand” ขายอยู่ในอเมริกา
วานนี้ (12 ก.ค.) นายซวง นอย รองประธานอาวุโสคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ ได้โพสต์คลิปลงในติ๊กต็อก (TikTok) โดยตั้งคำถามทำไม ปลาร้าของกัมพูชา ถึงต้องไปผลิตและตีตราสินค้าจากประเทศไทยซึ่งเรื่องราวที่คาใจดังกล่าวมีสาเหตุมาจากที่เจ้าตัวสบโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชม “ตลาดกัมพูชา” ในเมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ
จากนั้นได้ไปพบเข้ากับ“ปลาฮก” หรือ “ปลาร้ากัมพูชา” ที่ทำจากปลากราย ฉลากเขียนว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากไทย “Product of Thailand” และบริษัทส่งออกอยู่ในกทม.
อย่างไรก็ดี นายซวงมองว่า “ปลาฮกเสียมเรียบ” ซึ่งเป็นชื่อที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนไว้แล้ว จึงไม่น่าจะต้องไปติดตราสินค้าที่มาจากบ้านเรา โดยกระปุกเล็กขายในราคาประมาณ 20 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยตกที่ประมาณ 600 บาท
ด้าน ไฮ ลี เอียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทคอนไฟเรล บริษัทแปรรูปอาหารชื่อดังของกัมพูชา ออกมาย้ำในประเด็นนี้ โดยยืนยันว่า ไทยไม่สามารถใช้ตราสินค้าปราฮกเสียมเรียบของกัมพูชาในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศได้ เนื่องจากพวกเขาได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนเม.ย. 2568 ที่ผ่านมา ดังนั้นประเทศไทยจะไม่มีสิทธิ์ส่งออกสินค้าที่มีตราสินค้า “ปราฮกเสียมเรียบ” ที่ผลิตในประเทศไทยไปยังตลาดต่างประเทศ เฉพาะสินค้าที่ผลิตในกัมพูชาเท่านั้นที่มีสิทธิ์ส่งออก
ប្រហុកសៀមរាប ផលិតនៅថៃ ហេតុអី? មេត្តាជួយទិញផលិតផលខ្មែរ ផលិតផលនៅខ្មែរយកទៅលក់
ข้อมูลจาก Cambodianess ระบุ ปลาฮก (Prahok) ปลาหมักแบบดั้งเดิมในจ.เสียมราฐ ของกัมพูชา ได้รับสถานะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2568 ซึ่งตรงกับวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก นับเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชนบท
ปราฮก ทำจากแป้งเตรย์เรียลซึ่งคือ “แป้งสาลีโฮลวีตชนิดหนึ่ง” เป็นหลัก และผลิตในช่วงฤดูทำประมงเดือนธ.ค.ถึงก.พ. เป็นอาหารหลักของครัวเรือนชาวเขมร คาดว่าสถานะ GI ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงตลาดสำหรับผู้ผลิต อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น
“ความสำเร็จครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของเราในการปกป้องและส่งเสริมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศผ่านกรอบทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่ง” จาม นิมุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในตอนได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอ.
เธอย้ำว่าการรับรอง GI ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องประเพณี แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กัมพูชาทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดโลกอีกด้วย
นิมุลกล่าวเสริมว่า รัฐบาลมองว่าระบบ GI เป็นเครื่องมือสำหรับ “การค้าและการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของกระทรวงที่จะใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างครอบคลุมและการค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
ส่วน ดิธ ทีนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สะท้อนความรู้สึกดังกล่าว โดยระบุว่า เสียมราฐปราฮก “เป็นตัวแทนของความเชื่อมโยงระหว่างประเพณีของเรากับการพัฒนาที่ยั่งยืน” และมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร.
การจดทะเบียน GI ของปลาฮกเสียมราฐได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการ CAPFISH-Capture: Post-harvest Fisheries Development ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ดำเนินการโดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับสำนักงานประมงและกระทรวงพาณิชย์
ปัจจุบัน “กัมพูชา” มีผลิตภัณฑ์ 7 รายการที่ได้รับการรับรอง GI ได้แก่ พริกไทยกัมปอต , น้ำตาลโตนดกัมปงสปือ , ส้มโอเกาะจุ้ง น้ำผึ้งมณฑลคีรี , เกลือกัมปอต-แกบ , กุ้งมังกรตาแก้ว และน้ำปลากัมปอต.
อ่านข่าวเพิ่มเติม