ป้าวัยหลังเกษียณ สุดช้ำ ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นสภาทนายความ หลอกโอนเงิน 36 ครั้ง เกลี้ยงบัญชีกว่า 4.2 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 นางดวง (นามสมมุติ) อายุ 65 ปี อดีตพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาเข้าร้องทุกข์ต่อสื่อมวลชนที่ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) หลังถูกกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หลอกให้โอนเงินกว่า 30 ครั้ง มูลค่ารวมประมาณ 2.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเก็บหลังเกษียณ และเงินที่กู้ยืมเพื่อเป็นค่าเทอมปีสุดท้ายให้กับลูกชาย
นางดวงเล่าว่า หลังเกษียณจาก กฟภ. เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้รับเงินบำเหน็จราว 3 ล้านบาท กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2566 ลูกชายมาสารภาพว่าติดหนี้พนันออนไลน์ ด้วยความเป็นห่วงลูก เธอจึงตัดสินใจช่วยเหลือ และในวันที่ 22 มกราคม 2567 ได้เข้าไปขอคำปรึกษาผ่านเพจเฟซบุ๊กที่แอบอ้างว่าเป็นของ สภาทนายความ ซึ่งทางแอดมินเพจดังกล่าวแนะนำให้เธอติดต่อกับ ตำรวจไซเบอร์ อ้างว่าจะช่วยตามเงินคืนให้ จากนั้นเริ่มมีการพูดคุยผ่านแชทเฟซบุ๊กและไลน์ โดยกลุ่มมิจฉาชีพส่งลิงก์และรหัสผ่านระบบที่อ้างว่าใช้ติดตามเงิน และอ้างว่าพบเงินจำนวน 300,000 บาทของลูกชายในระบบที่ยังไม่ถูกฟอกเงิน เธอจึงทำตามขั้นตอน โดยไม่รู้ว่าถูกหลอกให้โอนเงินเรื่อย ๆ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกรกฎาคม 2568 นางดวง ถูกหลอกให้โอนเงินถึง 36 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 2.2 ล้านบาท โดยยอดโอนสุดท้าย 55,000 บาท มิจฉาชีพอ้างว่าเป็น ยอดปิดบัญชี ก่อนที่เงินทั้งหมดจะถูกโอนคืน โดยหลอกว่าเงินอยู่ที่สำนักงาน ปปง.
ต่อมา นางดวงเริ่มสงสัยว่าอาจถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก จึงโทรไปยังศูนย์รับแจ้งอาชญากรรมออนไลน์ 1441 ซึ่งแนะนำให้ไปให้ปากคำที่ สภ.เมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 หลังรอคอยความคืบหน้าเกือบ 6 เดือน โดยไม่มีความคืบหน้า เธอจึงเดินทางไปที่สำนักงาน ปปง. เมื่อต้นปี 2568 และได้รับแจ้งว่า ชื่อ-นามสกุล ที่ถูกส่งมาทางลิงก์นั้นเป็นของมิจฉาชีพ ไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการแต่อย่างใด และต่อจากนั้น เธอเดินทางไปที่ บช.สอท. เมืองทองธานี ซึ่งแนะนำให้ติดต่อ สอท.3 ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แต่เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่า คดีอยู่ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ไม่ได้ส่งมาที่ สอท.
หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงเดือนมกราคม 2568 นางดวงได้เข้าไปปรึกษาเพจเฟซบุ๊กเกี่ยวกับคดีหลอกลวงออนไลน์อีกครั้ง ได้รับการติดต่อจากบุคคลที่อ้างว่าเป็น ป้า รู้จักตำรวจสืบสวนนครบาลที่เพิ่งช่วยคนได้เงินคืน และต่อมามีการส่งต่อให้คุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นทีมงานของ สารวัตรแจ๊ะ ซึ่งอ้างว่าจะช่วยให้ได้เงินคืน เธอได้รับเอกสารปลอม 2 ฉบับ หนึ่งระบุเป็นเอกสารจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ลงชื่อ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช และอีกฉบับจากกรมบัญชีกลาง ระบุการเรียกเก็บภาษีโอนเงิน 10% โดยหลอกให้เธอโอนเงิน ค่าประกันวงเงิน และ ภาษี รวมอีกหลายครั้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง เธอจึงโอนเงินเก็บที่เหลือทั้งหมด รวมถึงเงินที่กู้ยืมเพิ่มเติม ส่งผลให้ชีวิตล้มละลาย ถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้ที่บ้านทุกวัน ลูกชายไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม และเธอไม่กล้ากลับบ้านเพราะกลัวต้องเผชิญหน้ากับครอบครัว
นอกจากนี้ นางดวงยังได้เผยว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา นางดวงเดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อแจ้งความ แต่กลับถูกปฏิเสธ และแนะนำให้กลับไปแจ้งที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ จากนั้นไปที่ สอท. ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถรับแจ้งความซ้ำได้ แนะนำให้ไปร้องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมาเมื่อเดินทางไปสอบถามที่กระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่า ไม่มีเคสในลักษณะของตน ไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร มีเเต่ปลอบใจว่าใคร ๆ เขาก็โดนแบบนี้ มีทั้งอัยการ ผู้พิพากษาก็โดนกันทั้งนั้น
ทั้งนี้ นางดวงยังเล่าในตอนท้ายว่า ด้วยความสิ้นหวัง ตนจึงกลับมาที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอีกครั้ง และต้องอาศัยนอนที่หน้าร้านกาแฟ ข้างกองปราบปรามในคืนที่ผ่านมา ซึ่งถูกยุงกัดทั้งคืน เพราะไม่มีที่พักและไม่กล้ากลับบ้าน