โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

นักท่องเที่ยวหด! โรงแรมเงียบ ร้านอาหารปิดตัว 3 นายกสมาคม แนะรัฐเร่งกระตุ้นธุรกิจพลิกเกม

Thairath Money

อัพเดต 17 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 17 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมของประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนและท้าทายหลายประการ แม้ว่าช่วงต้นปี 2568 โดยเฉพาะในเดือนมกราคม จะมีสัญญาณที่ดีจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดใหม่ในทุกตลาดสำคัญ ทั้งจีน ยุโรป และอเมริกา

สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่นำมาซึ่งความหวังในปี 2568 ว่าอุตสาหกรรมจะสามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 39 ล้านคน และคาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3 ล้านล้านบาท

ทิศทางธุรกิจโรงแรมไทย ปรับกลยุทธ์รับมือความไม่แน่นอน

เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ได้กล่าวถึงทิศทางธุรกิจโรงแรมไทยและโอกาสใหม่ของการท่องเที่ยวไทยในงานเสวนา "พลิกเกมธุรกิจ ปรับกลยุทธ์ ธุรกิจบริการไทย" ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปีนี้เริ่มต้นได้ดีในเดือนมกราคม โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 13 กรกฎาคม 68 มีจำนวนกว่า 17,754,055 คน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวลดลง 5.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยสูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย (2,456,345 คน) จีน (2,435,098 คน) อินเดีย (1,262,372 คน) รัสเซีย (1,068,240 คน) และเกาหลีใต้ (816,339 คน)

ทั้งนี้แนวโน้มโดยรวมของภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 และเดือนมกราคมถือเป็นเดือนที่มีนักท่องเที่ยวสูงสุดถึง 3.7 ล้านคน แต่โดยภาพรวม นักท่องเที่ยวจีนลดลงไปกว่า 40% ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา (ภาษีทรัมป์) และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

นอกจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว การกระจายรายได้ยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเห็นได้จากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมโครงการ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง" โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซั่น เทียนประสิทธิ์ เน้นย้ำว่า ยอดการลงทะเบียนรับสิทธิ์ ยังเหลืออีกกว่า 3 แสนสิทธิ์ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีการกระตุ้นมาตรการเพิ่มมากขึ้น และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการท่องเที่ยวในวันธรรมดาและช่วงโลว์ซีซั่น เนื่องจากนอกจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงแล้ว การท่องเที่ยวภายในประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม การซื้อขายห้องพักและตั๋วเครื่องบินในปัจจุบันใช้ระบบ Dynamic Pricing ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี เนื่องจากตัวเลขที่เห็นมาจากการปรับเปลี่ยนของอุปสงค์และอุปทานอย่างแท้จริง นายกสมาคมโรงแรมไทย ยังกล่าวเสริมว่านโยบาย “เที่ยวคนละครึ่ง” ของภาครัฐเป็นนโยบายที่ดีในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

การท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากหลายปัญหา และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการโฟกัสนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลาให้มากขึ้น และทำความเข้าใจพฤติกรรม วัฒนธรรม รวมถึงหลักปฏิบัติทางศาสนาของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม ถึงแม้ประเทศไทยจะยังคงมีเสน่ห์และบริการที่โดดเด่น โดยเฉพาะโรงแรมระดับ Luxury ที่ทำได้ดีมาก ขณะที่โรงแรมระดับรองก็ควรเน้นการสร้างประสบการณ์และการบริการที่อบอุ่นไม่แพ้กัน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวเชิง Wellness, Healthcare & Medical Tourism ยังเป็นโอกาสใหม่ที่มีมูลค่าสูง

ซึ่งงาน FHT เป็นงานที่ผู้อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวต้องมาเยี่ยมชมทุกปี เพื่อทราบแนวโน้มที่เกิดขึ้น โดยปีนี้สมาคมฯ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการประชุมใหญ่ประจำปี Member Meeting and Lunch Talk “Next Moves for Thai Hotels กลยุทธ์รับมือความไม่แน่นอน 2026” โดย ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมฯ การสัมมนา CEO Forum by THA Chapter "Amazing Grand Thailand: กลยุทธ์โรงแรมไทย สู่ฤดูกาลท่องเที่ยว" และ เจาะลึกเทรนด์ใหม่ โอกาสที่กำลังมาถึงกับธุรกิจ Wellness และ MICE การแข่งขันบาร์เทนเดอร์รายการ Thailand Hotel Bartenders' Championship 2025 ฯลฯ

ธุรกิจอาหารเหนื่อย “ทำครึ่งปี เลี้ยงครึ่งปี”

ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารว่า ผู้ประกอบการมักจะเจอสถานการณ์ "ทำครึ่งปี เลี้ยงครึ่งปี" โดยมูลค่ารวมของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 669,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงหรือเท่ากับปีที่ผ่านมา (2567)

เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ซบเซา ทำให้ผู้คนระมัดระวังในการใช้จ่าย ค่าแรงที่สูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวลง นอกจากนี้ ปัจจัยใหม่คือการที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศไทยที่ 36% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารด้วย

ดังนั้น การปรับตัวและพัฒนาร้านอาหารให้คงอยู่และเติบโตได้ในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ยังคงเห็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหารดำเนินต่อไปได้ การแข่งขันด้านราคาไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไป แต่ต้องกลับมามองที่หัวใจของธุรกิจร้านอาหาร คือเรื่อง รสชาติ คุณภาพ และความปลอดภัย ร้านอาหารที่ยังคงอยู่ได้และมีความคุ้มค่าต่อผู้บริโภค ได้แก่ ร้านอาหารจานเดียว ร้านแบบบุฟเฟต์ และร้านที่ขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์

อีกสิ่งสำคัญของร้านอาหารในยุคนี้คือ การสื่อสารและการสร้างเรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างตัวตนให้ลูกค้ารู้จัก ธุรกิจร้านอาหารยุคนี้ต้องสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ารู้สึกและอยากบอกต่อ ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI กิจกรรมของสมาคมภัตตาคารไทยที่จัดร่วมกับ FHT 2025 คือการอบรม “การสร้าง Content ธุรกิจให้ปังด้วย Tools AI” เพื่อเสริมทักษะการทำ Digital Marketing และยกระดับภาพลักษณ์ร้านอาหารไทยสู่ระดับสากล โดยครอบคลุมการใช้ AI ในการวางแผน สร้างเนื้อหา ภาพ วิดีโอ และเสียง รวมถึงเชื่อมต่อสู่เครือข่าย “ร้านเด็ดสมาคมภัตตาคารไทย” อีกด้วย

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โอกาสมูลค่าสูงที่ถูกมองข้าม

ในส่วนของโอกาสในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยสุนัย วชิรวราการ นายกสมาคมสปาไทย กล่าวว่า ในปี 2567 ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2566 ถึง 54% ซึ่งถือว่าสูงมาก หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจสปาไปโดยสิ้นเชิง

ปัจจุบันลูกค้าไม่ได้มองหาเพียงแค่ความผ่อนคลาย แต่ต้องการทราบถึง ประโยชน์และวัตถุประสงค์ ที่ได้รับ เนื่องจาก "ความเครียด" เป็นปัจจัยสำคัญ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับบริการและกลยุทธ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในประเทศ

สุนัย เน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ องค์ความรู้ บริการ และความเป็นไทยยังคงเป็น Soft Power ที่สามารถขายได้ดี แต่สิ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวกลุ่มนี้น่าสนใจมากขึ้นคือ บริการด้านการดูแลจิตใจ ฟื้นฟูความสุข และผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากปัจจุบันผู้คนทั่วโลกเผชิญกับความเครียดและแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทางสังคม ธุรกิจ การทำงาน และการใช้ชีวิต การท่องเที่ยวที่เยียวยาทั้งจิตใจและการพักผ่อนอย่างแท้จริงจึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักถูกมองเป็นกลุ่มรอง ทั้งที่เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูง ทำให้มีการขายบริการเหล่านี้ในราคาที่ต่ำเกินไป ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวกระแสหลัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานขึ้นและมีการใช้จ่ายมากขึ้น

ดังนั้น กิจกรรมของสมาคมสปาไทยที่ร่วมจัดในงาน FHT 2025 จึงมีทั้ง ASEAN Wellness Tourism Congress 2025 ซึ่งเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ประสบการณ์ และแนวโน้มธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญหลายชาติในอาเซียน รวมถึงการมอบรางวัลใหญ่แห่งปี Thailand Spa & Well-being Awards 2025 ครั้งที่ 8 จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมชมงานและร่วมกิจกรรมกับทางสมาคมฯ ที่จะจัดขึ้น

FHT 2025: เชื่อมโยงสู่ความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

สรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การจัดงานในปีนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากภาพรวมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไทยต้องปรับสมดุลใหม่ ดังนั้น งานในปีนี้จึงใช้แนวคิดคือ การยกระดับอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นมา โดยแต่ละปีมีผู้เข้าชมงานเติบโต 7-8% สำหรับปีนี้ตั้งเป้าผู้เข้าชมงานไว้ที่ 29,000 คน บนพื้นที่กว่า 22,000 ตารางเมตร

งาน FHT 2025 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงสู่ความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ” (Connecting Excellence in Food & Hospitality) ได้รับความร่วมมือจากกว่า 30 องค์กรภาครัฐ สมาคม และบริษัทชั้นนำ ร่วมจัดแสดงนวัตกรรม กิจกรรมให้ความรู้ และนำเสนอทิศทางธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดได้จริง

ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าจากบริษัทชั้นนำกว่า 3,000 แบรนด์ จาก 20 ประเทศ ใน 8 โซนหลัก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Drinks) คาเฟ่และเบเกอรี่ (Café & Bakery) เครื่องใช้สำหรับธุรกิจบริการ (Hospitality Style) เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจบริการ (Hospitality Technology) อุปกรณ์สำหรับธุรกิจอาหาร (Foodservice Equipment) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Sips & Spirits) ร้านค้าปลีก (Shop & Retail) และอุปกรณ์และเครื่องใช้สำหรับทำความสะอาด (Cleaning Supplies & Equipment)

นอกจากนี้ ยังมี 4 พาวิลเลียนนานาชาติจากจีน มาเลเซีย อิตาลี และแอฟริกาใต้ รวมถึง 6 วิลเลจ ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องดื่มและสุรา ช็อกโกแลต ชา อาหารแห่งอนาคต สุขภาพ และบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งกิจกรรมการประชุม สัมมนา Workshop และการแข่งขันระดับประเทศกว่า 60 รายการ และมี 2 งานแสดงสินค้าใหญ่ระดับเอเชียจากประเทศจีนอย่าง Hotelex Thailand และ Hotel & Shop Plus Thailand มาร่วมจัดงาน ทำให้คาดว่าการจัดงานในปีนี้จะดึงดูดผู้ประกอบการชาวไทยและภูมิภาคเข้าร่วมงานได้มากกว่า 29,000 คน

ทั้งนี้งาน Food & Hospitality Thailand (FHT) 2025 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2025 ณ ชั้น G ฮอลล์ 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของไทยต่อไป

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่

https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นักท่องเที่ยวหด! โรงแรมเงียบ ร้านอาหารปิดตัว 3 นายกสมาคม แนะรัฐเร่งกระตุ้นธุรกิจพลิกเกม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Money

"ทอท.”จ่อเก็บค่าใช้สนามบินเพิ่ม

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

RAGTAG แฟชั่นลักชัวรี่มือสองญี่ปุ่นบุกไทย

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

"EGCO Group”ลงทุน9หมื่นล้าน วางเดิมพัน "ไต้หวัน-สหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง”

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันพรุ่งนี้ 24 ก.ค. 2568 อัปเดตราคาน้ำมันทุกชนิดล่าสุดลิตรละกี่บาท

13 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

“ไฮแอท รีเจนซี่ฯ” ขานรับเทรนด์ Gastronomy Tourism หยิบทุเรียนหมอนทอง จัดแคมเปญ ชุดน้ำชายามบ่าย

Thairath Money

นักท่องเที่ยวหด! โรงแรมเงียบ ร้านอาหารปิดตัว 3 นายกสมาคม แนะรัฐเร่งกระตุ้นธุรกิจพลิกเกม

Thairath Money
ดูเพิ่ม
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...