ป.ป.ช.แม่กลอง ลงพื้นที่สังเกตการณ์ 3 โครงการใหญ่ ไม่พบความผิดปกติ พร้อมรณรงค์ใช้งบประมาณคุ้มค่าโปร่งใส
นายธนวัฒน์ มะแม้น เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ได้รับมอบหมายจาก น.ส.กาญจนา คำสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช ประจำ จ.สมุทรสงคราม พร้อมภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.สมุทรสงคราม (ก.ธ.จ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 7 จ.นครปฐม และสำนักงาน ป.ป.ช. จ.เพชรบุรี ร่วมสังเกตการณ์และเฝ้าระวังโครงการหน่วยงานภาครัฐใน จ.สมุทรสงคราม ตามนโยบายของเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. และตามมติคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จ.สมุทรสงคราม สังเกตการณ์และเฝ้าระวังโครงการที่สำคัญของหน่วยงานภาครัฐ หรือโครงการที่มีงบประมาณจำนวนมาก รวมทั้งความคืบหน้าและผลสัมฤทธิ์จากโครงการ
เริ่มที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตสมุทรสงคราม โครงการจัดซื้อชุดระบบปฏิบัติการจำลองสถานการณ์ทางการแพทย์และพยาบาลแบบ Virtual Reality งบประมาณ 15,230,000 บาท ของวิทยาลัยพยาบาลฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตสมุทรสงคราม โดย ผศ.ดร.ทัศนีย์ อรรถารส คณบดีวิทยาลัย และคณะ ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อโดยสรุปว่า เนื่องจากวิทยาลัยไม่มีโรงพยาบาลเป็นของตนเอง ทำให้นักศึกษาวิชาพยาบาล ต้องพึ่งพาแหล่งฝึกภายนอก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านจำนวนและเวลา จึงมีความจำเป็นในการจัดหาเทคโนโลยีมาฝึกจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยระบบ VR เพื่อยกระดับการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และตอบสนองต่อมาตรฐานวิชาชีพโดยได้รับอนุมัติจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยจัดซื้อเมื่อต้นเดือน ก.ค.68 นี้
โครงการที่ 2 การพัฒนาพื้นที่ชุมชนบริเวณวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา งบประมาณ 59,960,000 บาท นางพีชยา ทวีเลิศ โยธาธิการและผังเมือง จ.สมุทรสงครามชี้แจงว่า เนื่องจากท้องถิ่นได้แสดงถึงความต้องการของชุมชนสร้างเขื่อนต่อเนื่องริมแม่น้ำแม่กลอง จากวัดนางวังถึงวัดบางกะพ้อม เขื่อนป้องกันตลิ่ง ช่วงที่ 1 ยาว 75 เมตร ช่วงที่ 2 ยาว 545 เมตร พร้อมถนนกว้าง 6 เมตร ทางลาดขึ้น-ลงเรือและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ตลอดจน ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเชื่อมโยงกับเขื่อนป้องกันตลิ่งเดิมที่มีการก่อสร้างไว้แล้ว อีกทั้งให้เกิดความต่อเนื่องกับสถานที่สำคัญๆ เช่น ตลาดน้ำอัมพวา วัดจุพามณี วัดนางวัง ฯลฯ เป็นการรองรับการเจริญเติบโตทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม ส่งผลต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจในชุมชน จึงของบประมาณและดำเนินการก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ผู้รับเหมาและลงนามสัญญาแล้ว ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 16 ก.ค.68 ถึงวันที่ 15 มิ.ย.70 แล้วเสร็จภายใน 700 วัน
ส่วนโครงการที่ 3 กิจกรรมบำรุงรักษาทางหลวง งานบำรุงตามกำหนดเวลา ทางหลวงหมายเลข 325 (ถนนสมุทรสงคราม-บางแพ) ระหว่าง กม.39+450 - 40+630 ความยาว 1.8 กิโลเมตร งบประมาณ 14,975,000 บาท นายโกวิท รัศมิทัต ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสงคราม ชี้แจงสรุปว่า เป็นการก่อสร้างงานปรับปรุงผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตนำกลับมาใช้ใหม่ IN-PLACE ดำเนินการแล้วเสร็จและตรวจรับเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เป็นการนำผิวจราจรเดิมกลับมาใช้ใหม่โดยการเผาด้วยเครื่องจักรผสมแอสฟัลท์ติกแล้วปูใหม่ เพื่อลดการไหลลื่นของถนนเวลาฝนตกและเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการขับขี่ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียวัสดุเดิม ประหยัดทั้งทรัพยากรธรรมชาติและงบประมาณ
นายธนวัฒน์ มะแม้น เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษสำนักงาน ป.ป.ช.สมุทรสงครามกล่าวว่า จากการติดตามพบว่าทุกโครงการเป็นไปตามระเบียบ แต่คณะสังเกตการณ์ได้ฝากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาฯ ขอดูเอกสารเกี่ยวข้องจัดซื้อเพิ่มเติม, สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองฯ ให้กำชับผู้รับเหมาก่อสร้างติดตั้งป้ายโครงการตามรูปแบบให้ถูกต้อง, ส่วนแขวงทางหลวงสมุทรสงคราม ให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อความปลอดภัยในการใช้เส้นทางที่มีการก่อสร้างด้วย