1 ตระกูล 3 นายกฯ กับสงครามยาเสพติด นโยบายยืนหนึ่งรัฐบาลเพื่อไทย
ปัญหายาเสพติด ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ปรากฏอยู่ในนโยบายของรัฐบาลมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยผลกระทบที่เกิดทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศ ทำให้รัฐบาลทุกยุค ต่างพยายามออกมาตรการจัดการอย่างจริงจัง แต่รูปแบบ วิธีคิด และทิศทางการแก้ไข ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับแนวทางของผู้นำรัฐบาลในแต่ละช่วงเวลา และเงื่อนไขทางสังคมการเมืองในขณะนั้น
น่าสนใจว่า ในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยอยู่ภายใต้การนำของ 3 ผู้นำจากตระกูลชินวัตร ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ และแพทองธาร ที่ต่างลุกขึ้นมารับมือกับปัญหายาเสพติดตามแนวทางของตนเอง
แม้มีสายเลือดเดียวกัน แต่ท่าที มาตรการ และวิธีคิด กลับสะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ความเชื่อมั่นทางนโยบาย และทัศนคติที่แตกต่างของผู้นำแต่ละคนอย่างชัดเจน
ยุคทักษิณ: ประกาศสงครามยาเสพติด
‘ทักษิณ ชินวัตร’ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายเร่งด่วน ที่รัฐจะต้องเร่งจัดตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาควบคู่กับการปราบปรามและป้องกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน โดยหลักการป้องกันนำหน้าการปราบปราม ผู้เสพจะต้องได้รับการรักษา
ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้าจะต้องได้รับการลงโทษที่เด็ดขาด และมีการจัดตั้ง ศูนย์ต่อสู้เอาชนะยาเสพติด (ศตส.) เพื่อเป็นองค์กรนำการปฏิบัตินโยบายนี้ โดยมีเป้าหมายขจัดให้ได้ภายใน 3 เดือน เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546
ในระหว่างปี 2536-2544 ยาเสพติดเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทย ผ่านบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในเมียนมา ไทย และลาว จึงทำให้การขนส่งยาเสพติดในขณะนั้นเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า โดยเฮโรอีนขึ้นมาเป็นยาเสพติดยอดนิยมของประเทศ
‘ทักษิณ’ ออกคำสั่งสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ต่อการจัดการปัญหายาเสพติด โดยการให้จัดตั้งชุดปฏิบัติการระดับตำบล ตั้งองค์กรในชุมชนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด แต่ผลการดำเนินการในชุมชนกลับขยายผลได้ช้า และไม่สามารถลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้อย่างรวดเร็ว
ทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนมาตรการใหม่ ซึ่งกำหนดให้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยประกาศ ‘สงครามยาเสพติด’ ซึ่งกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2546 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจ เป็นผู้รับผิดชอบ สอดส่องทุกพื้นที่ทุกจังหวัด
รัฐบาลทักษิณมีการกำหนดตัวชี้วัดด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในช่วง 3 เดือนแรก ดังนี้
- บัญชีรายชื่อผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้จำหน่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มีอยู่ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ต้องหมดสิ้นไป
- มีการเตรียมการเพื่อเข้าสู่กระบวนการหมู่บ้านหรือชุมชนเข้มแข็ง ให้ครบทุกหมู่บ้านหรือชุมชน ก่อนวันที่ 30 เมษายน 2546
- จำนวนผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
- ความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
แต่หลังจากการกำหนดตัวชี้วัดนี้ได้เพียง 2 วัน กระทรวงมหาดไทยและสำนักงาน ป.ป.ส. ก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดใหม่ ดังนี้
- จำนวนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ต้องหมดสิ้นไปภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546
- จำนวนผู้ผลิต ผู้ค้า ซึ่งมีอยู่ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ต้องหมดสิ้นไปภายในวันที่ 30 เมษายน 2546
- จำนวนผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75
- ให้ทุกหมู่บ้านหรือชุมชน ต้องดำเนินการครบทั้ง 4 ขั้นตอน ของกระบวนการที่จะทำให้เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติดภายในวันที่ 30 เมษายน 2546
- ความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชนในภูมิภาคแต่ละพื้นที่มีความพึงพอใจไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
‘ทักษิณ’ ได้มีการกำหนดบทลงโทษ ต่อผู้ที่ดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมายตามตัวชี้วัด คือ การย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจจังหวัด หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญกับนโยบายนี้ และเร่งปฎิบัติงานให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
ในระยะเวลา 3 เดือนของการปฏิบัติงาน ได้มีรายงานการเสียชีวิตที่ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวนอย่างน้อย 2,275 ราย โดยรัฐบาลได้ระบุว่า ผู้เสียชีวิตจำนวนนี้เกิดจากเหตุการณ์ภายในกลุ่มผู้ค้ายากันเอง และมีประมาณ 50 ราย ที่เสียชีวิตจากการป้องกันตัวของตำรวจ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ไม่น้อย ที่ไม่ได้มีหลักฐานว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
รายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Human Rights Watch ได้เปิดเผยว่า มีเด็กชายวัย 9 ขวบ ถูกยิงเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ตำรวจเข้าจับกุมตัวพ่อของเด็กชาย ขณะนำยาบ้าจำนวนราว 6,000 เม็ดมาส่ง แต่กระสุนปืนกลับถูกยิงใส่เด็กชายซึ่งนั่งอยู่ในรถโดยที่ไม่รู้เรื่อง
นอกจากนี้ยังมีการสร้างบัญชีแบล็กลิสต์ผู้ต้องสงสัยหลายพันคน แม้ประชาชนจะร้องเรียนว่า เป็นการสร้างบัญชีรายชื่อขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้อง และไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่ก็มีรายชื่อถูกขึ้นในแบล็กลิสต์ ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้าน
ด้วยความต้องการกำจัดยาเสพติดให้หมดไปภายใน 3 เดือนตามนโยบายของ ‘ทักษิณ’ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจนหลายประเทศต่างจับตามองในขณะนั้น รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสหประชาชาติ (UN) ด้วยเช่นกัน
ผลของนโยบายนี้ สามารถลดจำนวนผู้ค้าและเสพ และยึดของกลางจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วในระยะแรก แต่แนวทางการแก้ปัญหานี้กลับไม่ได้ยั่งยืน เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไป ปัญหายาเสพติดก็กลับมาในประเทศไทยอีกครั้ง ผู้เสพหรือผู้ค้าที่รอดจากการจับกุมก็ใช้ระบบใต้ดิน ในการติดต่อซื้อขาย ไม่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างถูกต้อง
ยุคยิ่งลักษณ์: ปฏิบัติการรวมพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด
หลังจากได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนท่ี 28 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ในวันที่ 23 สิงหาคม ปี 2554 ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา รวมถึงปัญหายาเสพติดในประเทศ ณ ขณะนั้น
‘ยิ่งลักษณ์’ กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยยึดหลักนิติธรรมในการปราบปรามลงโทษ ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้มีอิทธิพล และผู้ประพฤติมิชอบ โดยจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ยึดหลัก ผู้เสพคือผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม
จากการสำรวจพบว่า ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีมากถึงประมาณ 1.38 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2550 ถึงสามเท่าในระยะเวลาเพียง 4 ปี นอกจากนี้ยังมี 60,000 หมู่บ้านจากทั้งหมด 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่กลุ่มเสี่ยง และมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดถึง 400,000 ราย
จากจำนวนตัวเลขดังกล่าว ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เปิดตัวโครงการ ‘ปฏิบัติการพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด’ ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 2 ประการ คือ การลดจำนวนผู้เสพให้ได้ 400,000 คน ภายใน 1 ปี และลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดลง 80% ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 6 ประการ ได้แก่
- ลดปัญหายาเสพติดใน 60,000 หมู่บ้าน
- ลดจำนวนผู้เสพยาเสพติดลง 400,000 รายด้วยการผลักดันเข้าสู่ระบบบำบัดฟื้นฟู
- สร้างมาตรการเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้ผู้ผ่านการบำบัดกลับเสพซ้ำโดยหวังผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
- ลดพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในทุกจังหวัด
- ลดปริมาณยาเสพติดตามแนวชายแดน
- ปรับระบบบริหารจัดการให้เกิดการบูรณาการอย่างมีเอกภาพในทุกระดับ
นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ของโครงการ มี 6 แนวทางสำคัญ ที่สืบทอดมาจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งได้นำมาปรับใช้ ดังนี้
- เสริมสร้างพลังชุมชน โดยยึดหลัก เศรษฐกิจพอเพียง ขยายกองทุนแม่ของแผ่นดิน และส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชนให้มีส่วนร่วม
- มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย แบ่งการบำบัดออกเป็น 3 ระดับตามอาการหนักเบา พร้อมเสริมอาชีพหลังบำบัด เพื่อคืนคนดีสู่สังคม
- ป้องกันกลุ่มเสี่ยง โดยพัฒนาพื้นที่รกร้างในชุมชน ให้เป็นสนามกีฬาหรือกิจกรรมทดแทน
- ปราบปรามอย่างยุติธรรม เน้นหลักนิติธรรม ในการจัดการกับผู้ค้าและผู้มีอิทธิพลอย่างจริงจัง
- ร่วมมือกับต่างประเทศ โดยการสกัดเส้นทางลำเลียงการขนส่งยาเสพติดข้ามชาติ โดยเฉพาะตามแนวชายแดน
- จัดการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปผูกพันกับยาเสพติด และลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ของโครงการสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) โดยมี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขึ้นเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และให้ทุกจังหวัดและอำเภอ ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับจังหวัดและอำเภอ ร่วมกับ ศพส. โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุข ตำรวจ ทหาร และภาคการศึกษาในพื้นที่
ผลสำเร็จของนโยบายตั้งแต่ปี 2554-2557 จากรายงานของสำนักงาน ป.ป.ส. พบว่า มีผู้เสพเข้ารับการบำบัดมากกว่า 420,000 คน ในระยะเวลา 2 ปีแรกของโครงการ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดถูกจับกุมกว่า 150,000 ราย โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดน
ในขณะเดียวกัน ข้อจำกัดของนโยบายนี้ คือ ไม่มีการติดตามวัดผลระยะยาว ของกลุ่มผู้ที่ผ่านการบำบัดว่าเลิกเสพถาวรหรือไม่ และในบางพื้นที่หรือบางชุมชน ยังขาดเจ้าหน้าที่ หรือขาดการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่น ในการผลักดันโครงการนี้เพื่อลดจำนวนผู้เสพหรือผู้ค้ายาเสพติด ทำให้ผลในระยะสั้นอาจมีประสิทธิผลที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่สามารถวางรากฐานในการแก้ปัญหาระยะยาวได้
ยุคแพทองธาร: ปฏิบัติการ ‘Seal Stop Safe’
กลับมาที่รัฐบาลปัจจุบัน ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย ได้ผลักดันนโยบายปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน
ในวันที่ 30 มกราคม 2568 ‘แพทองธาร’ ได้เป็นประธานในพิธีเปิด ‘ปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด Seal Stop Safe พร้อมผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน’
เพื่อมอบนโยบายในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ปิดกั้นการนำเข้าและตัดเส้นทางลำเลียงยาเสพติดจากต้นตอการผลิตและจำหน่ายอย่างเด็ดขาด
ขณะที่ ป.ป.ส. ได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 14 จังหวัด 51 อำเภอชายแดน และ 76 สถานีตำรวจ โดยมอบหมายให้แม่ทัพภาคเป็นผู้บัญชาการ
แม้ที่ผ่านมา จะสามารถสกัดกั้นยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมียาเสพติดที่หลุดรอดเข้ามาและผ่านไปทางประเทศที่ 3 ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการของรัฐบาลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ป.ป.ส. จึงได้กำหนดนโยบายสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้
- เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
- เพื่อเร่งรัดการดำเนินการสกัดกั้นยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างเด็ดขาด
- เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงาน เร่งดำเนินงานสกัดยาเสพติดชายแดนให้เป็นรูปธรรม รวมถึงให้มีความคืบหน้ามีความดีความชอบ และมีการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงอันตราย
นอกจากการดำเนินงานนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด ยังเป็นการป้องกันปัญหาอาชญากรรมตามแนวชายแดน ได้แก่ การค้ามนุษย์ คอลเซ็นเตอร์ การเผาป่าที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งเป็นภารกิจปฏิบัติการภายใต้กรอบแนวคิด Seal พื้นที่ชายแดน Stop หยุดวงจรยาเสพติด อาชญากรรมชายแดน และ Safe พื้นที่ปลอดภัย
‘แพทองธาร’ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบายนี้ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง 51 อำเภอชายแดน เพื่อเกิดความมั่นคงขึ้น รัฐบาลพร้อมที่จะดูแล สนับสนุนทหารและอาสาสมัครอย่างครอบคลุมทุกมิติ
ที่ผ่านมาได้มีการติดตามการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนผ่านโครงการ ท่าวังผาโมเดล จังหวัดน่าน และธวัชบุรีโมเดล จังหวัดร้อยเอ็ด โดยพบว่า ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด นอกจากได้กลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วนั้น ยังมีความภาคภูมิใจที่สามารถหลุดพ้นจากการใช้ยาได้
พร้อมกับย้ำว่า การขับเคลื่อนปฏิบัติการนี้ คือการให้โอกาสผู้ที่เคยติดยาเสพติด ได้กลับมาทำประโยชน์ให้กับสังคมอีกครั้ง โดยจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อผู้ที่ผ่านการบำบัดสามารถกลับมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว
สำหรับการปฏิบัติการนี้ กำหนดระยะเวลา 6 เดือน คือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม ในปี 2568 และต้องการไม่ให้มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาผ่านด่านตรวจ ท่าเทียบเรือบริเวณชายแดน ทั้งที่ถูกกฎหมายและช่องทางธรรมชาติต่างๆ รวมถึงเส้นทางคมนาคม ระบบขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ก็จะไม่ปล่อยให้มีการแพร่กระจายของยาเสพติดที่รุนแรง
‘แพทองธาร’ ได้กำหนดกลไกขับเคลื่อน 6 มาตรการ คือ มาตรการการสกัดกั้น, มาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน, มาตรการบูรณาการ, มาตรการปราบปราม, มาตรการป้องกัน และมาตรการบำบัดรักษา
ในวันที่ 28 เมษายน 2568 ได้ติดตามผลการปฏิบัติการในระยะ 3 เดือน พบว่า บริเวณชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการปิดล้อมตรวจค้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ โดยตัวเลข ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 สามารถตรวจยึดยาบ้าได้ 104,955,437 เม็ด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 332.04 ในขณะเดียวกันก็สามารถจับกุมและตรวจยึดยาไอซ์ได้ 4,084 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8,068 จากปีก่อน
นอกจากนี้ผลการดำเนินงานคัดกรองประชากรจำนวน 551,645 คน เป็นประชากรอายุ 12-65 ปี จำนวน 327,432 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการคัดกรองแล้วจำนวน 275,483 คน โดยในจำนวนประชากรนี้ พบผู้เสพยาเสพติดจำนวน 6,220 คน และไม่พบผู้เสพจำนวน 269,263 คน
พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สามารถจับกุมผู้กระทำผิดตามแนวชายแดนได้อย่างต่อเนื่อง และจากการสอบถามในพื้นที่แนวชายแดนพบว่า ยาเสพติดโดยเฉพาะ ยาบ้า มีราคาสูงขึ้น อยู่ที่เม็ดละ 40-100 บาท และหาซื้อได้ยากมากขึ้น โดย ‘แพทองธาร’ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนลงพื้นที่หาเสียงเมื่อสองปีที่แล้ว พบว่าราคายาบ้า มีราคาเม็ดละ 5-20 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก
ยึดมหาดไทย เดินหน้าปัญหายาเสพติดอย่างจริง
ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองและความคาดหวังต่อผลงานรัฐบาล พรรคเพื่อไทยได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงมหาดไทย โดยเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยเป็น ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำสำคัญของพรรค เพื่อกำกับนโยบายด้านความมั่นคงและการปกครองท้องถิ่นโดยตรง
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาพร้อมคำสั่งย้ายอธิบดี 2 หน่วยหลักในกระทรวงฯ เพื่อปรับระบบการทำงานและจัดการกับปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ หลังพบการแพร่ระบาดที่กระจายเข้าสู่ชุมชนและซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
แม้ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ จะมีนโยบายการกำจัดยาเสพติด แต่ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ บริเวณพื้นที่ชายแดนซึ่งเป็นแหล่งผลิต ลักลอบนำเข้ามาแพร่ระบาดในไทย และส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ได้
พรรคเพื่อไทยที่มีฐานเสียงใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหลายพื้นที่เป็นทางผ่านหรือจุดปล่อยยาเสพติด จึงไม่สามารถปล่อยผ่านเรื่องนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดูนิ่งเฉยต่อปัญหา ซึ่งอาจจะเสียศรัทธาในระยะยาวได้ พรรคเลยเลือกที่จะยึดกระทรวงมหาดไทยคืน แล้ววางระบบใหม่ทั้งหมด
เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้เป็นแค่กระทรวงที่คุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมด หรือควบคุมการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกหลักในการควบคุมนโยบายแทบทุกเรื่อง รวมถึงความมั่นคงของประเทศ ซึ่งยาเสพติดก็เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศเช่นกัน
ฉะนั้นการเปลี่ยนตำแหน่งในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เป็นการส่งสัญญาณว่า พรรคเพื่อไทยจะ ‘เอาจริง’ กับปัญหายาเสพติด ไม่ใช่แค่พูด ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ แต่จะลงมือจัดการอย่างเป็นระบบ และจะไม่ปล่อยให้พื้นที่ชายแดน หรือชุมชนเล็กๆ ต้องอยู่กับปัญหานี้อีกต่อไป
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการจัดการปัญหายาเสพติด ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ‘ภูมิธรรม’ ได้แถลงการณ์เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด No Drugs No Dealers ผนึกกำลัง ชุมชนปลอดยาเสพติด โดยเชิญให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม พร้อมกล่าวว่า “หากใครไม่มา หรือไม่ตอบสนองต่อนโยบาย จะสั่งย้ายทันที”
ในปฏิบัติการนี้ ‘ภูมิธรรม’ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นมากกว่าโครงการ Seal Stop Safe 14 จังหวัด 51 อำเภอ ที่ได้ทำไปก่อนหน้า เพราะเป็นการดำเนินงานทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่การจัดการในพื้นที่ชายแดน เนื่องจากในขณะนี้ ได้พบยาเสพติดที่มีจำนวนมากขึ้นในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง
ในปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด No Drugs No Dealers มีเป้าหมายและตั้งตัวชี้วัดว่า ภายใน 3 เดือนนี้ หมู่บ้านหรือชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด จะต้องเริ่มแก้ไขปัญหา วางกลไกของชุมชน และประกาศเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด ซึ่งจะไม่มีทั้งผู้ค้าและผู้เสพอีกต่อไป
ทั้งนี้ อาศัยการทำงานร่วมกันของจังหวัดและฝ่ายปกครอง นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ครบถ้วนทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกันยาเสพติดไม่ให้เข้าสู่ประเทศ การปราบปราม การแพร่ระบาดในชุมชน ไปจนถึงการฟื้นฟูคนดีกลับสู่สังคม
ในการปฏิบัติการนี้ ‘ภูมิธรรม’ ขอให้ยึดหลัก ผู้เสพคือผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการ บำบัดรักษาตามกลุ่มอาการของผู้ป่วย และขอให้ทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูศักยภาพของตนเอง และกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า ในการลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ได้พบกับประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติด แต่สิ่งที่ประชาชนกังวลใจคือ รัฐบาลเอาจริงกับการแก้ปัญหานี้หรือไม่ เพราะถ้าหากเอาจริง ทางประชาชนก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ
อีกสาเหตุที่ปัญหายาเสพติดยังคงไม่สามารถขจัดออกไปได้นั้น ไม่เพียงแต่การจัดการที่ยังไม่จริงจังมากพอ แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง หรือแม้แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านบางส่วน ที่ยังมีส่วนรู้เห็นและเป็นผู้กระทำผิดเสียเองด้วย
ดังนั้นในวันนี้ ทั้งพรรคเพื่อไทย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กำลังเอาจริง และจะใช้ยาแรงกับการปราบปรามยาเสพติดในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน สนธิกำลังรวมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งตนเชื่อว่ารู้เรื่องในพื้นที่ทั้งหมด ว่าใครเป็นผู้ค้า ใครเป็นผู้เสพ
ในแผนการปฏิบัติงานนี้ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการจัดการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพื่อสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ตามแผน Seal Stop Safe เพื่อไม่ให้ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของยาเสพติด หรือเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่ 3 ได้อีกครั้ง
จากอดีตสู่ปัจจุบัน วัฏจักรยาเสพติดที่ยังไม่สิ้นสุด
นโยบายยาเสพติดไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่ารัฐบาลใดจะขึ้นมาบริหารประเทศ ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้เหมือนกันหมด บางรัฐบาลเลือกใช้วิธีการเด็ดขาดและรุนแรง เช่น การปราบปรามโดยใช้กำลัง การตั้งเป้าลดจำนวนผู้ค้ายาอย่างรวดเร็ว บางรัฐบาลเลือกใช้วิธีเชิงสังคม เช่น การบำบัด การให้โอกาส หรือการพัฒนาเชิงชุมชน
แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้วิธีใด ปัญหายาเสพติดก็ยังคงอยู่ และวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาไม่จบ เพราะรากของปัญหานั้นไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวผู้เสพหรือผู้ค้า แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลึกลงไปถึงระดับครัวเรือน ระบบเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ในช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลล่าสุด ภายใต้การนำของ ‘แพทองธาร’ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐมนตรี รวมถึงการโยกย้ายอธิบดีและข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย จึงไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนตัวบุคคลให้สอดคล้องกับกลไกบริหารของรัฐบาลชุดใหม่เท่านั้น แต่ยังอาจตีความได้ว่าเป็นความพยายามของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการกำหนดเป้าหมายของนโยบายยาเสพติด ให้ชัดเจนและเด็ดขาดมากขึ้น
แม้ว่าวิธีการหรือบุคคลที่รับผิดชอบจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ ความตั้งใจของผู้นำในตระกูลชินวัตร ที่ยังคงมองว่ายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตัวชี้วัดลงไปยังฝ่ายปฏิบัติ การใช้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการกำกับดูแลหน่วยงานท้องถิ่น หรือการประกาศจุดยืนว่าปี 2568 นี้ จะเป็นปีแห่งการเอาจริงกับปัญหายาเสพติดอีกครั้ง
แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครจะสามารถจัดการกับยาเสพติดได้เด็ดขาดกว่ากัน แต่อยู่ที่ว่า จะสามารถจัดการกับปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เมื่อปัญหายาเสพติดยังคงเป็นปัญหาที่ฝังรากอยู่ในโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
อ้างอิง:
- https://www.hrw.org/reports/2004/thailand0704/4.htm
- https://www.hrw.org/reports/thailand0704thwebwcover.pdf
- https://www.kpi-lib.com/multim/ebook2/ปรม2บ252.pdf
- https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/policy/6
- https://www.khukhanpho.com/2011/09/blog-post.html
- https://data.oncb.go.th/
- https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/92899
- https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/360512
- https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/9583