‘ซูเปอร์โพล’ ชี้ ประชาชนพึงพอใจ ‘ตำรวจ’ สูงสุดในการปกป้องศาสนาจากพวกบ่อนทำลาย
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ปกป้องศาสนาและศรัทธาของประชาชน ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-19 กรกฎาคม 2568 โดยใช้ทั้งวิธีวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,143 คน
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทปกป้องศาสนาและศรัทธาของประชาชน พบว่า “ตำรวจ” ได้รับความพึงพอใจสูงที่สุด คือ 80.1% ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งสะท้อนความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อตำรวจในฐานะกลไกหลักของรัฐที่ลงพื้นที่ปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตามมาในลำดับที่สองด้วย 72.3% แสดงให้เห็นว่าประชาชนตระหนักถึงบทบาทเชิงโครงสร้างของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับวัดและเงินบริจาค คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับความพึงพอใจ 70.6% บ่งชี้ว่าประชาชนยังฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบอำนาจและความโปร่งใส สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้รับความพึงพอใจ 65.8% เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการติดตามเส้นทางการเงินที่ผิดปกติของวัดและพระสงฆ์ และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งควรเป็นเสาหลักในการส่งเสริมศาสนา กลับได้รับเพียง 41.2% สะท้อนถึงความต้องการการปรับบทบาทให้เข้มแข็งและทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนให้ความไว้วางใจแก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและต่อต้านทุจริตมากกว่าหน่วยงานด้านศาสนาโดยตรง นี่คือสัญญาณเตือนให้กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานศาสนาพิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินงานใหม่เพื่อให้สามารถฟื้นฟูความศรัทธาของประชาชนได้อย่างแท้จริง ที่น่าสนใจคือในการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อมาตรการเชิงรุกในการจัดการกับพระหรือนักบวช ที่กระทำผิดและส่งผลต่อศรัทธา พบว่า ประชาชนถึง 78.5% พอใจต่อการจับกุมพระหรือบุคคลในสมณเพศที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องห้ามทางศาสนา ซึ่งถือเป็นการล่วงละเมิดจริยธรรมและศีลธรรมขั้นร้ายแรง 74.2% พอใจต่อการดำเนินคดีทางกฎหมายกับพระสงฆ์ที่ยักยอกเงินวัดหรือเงินบริจาค
แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญต่อความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ของผู้รับใช้ศาสนา 73.1% สนับสนุนการตรวจสอบทรัพย์สินของพระสงฆ์และฆราวาสที่เกี่ยวข้องกับวัดเพื่อป้องกันการสะสมทรัพย์เกินควรหรือผิดวัตถุประสงค์ 69.7% พอใจต่อการที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพระสงฆ์หรือนักบวชอย่างรวดเร็วหลังได้รับแจ้งเบาะแส และ 55.2% พอใจต่อการที่รัฐมีมาตรการคุ้มครองพระหรือนักบวชที่เป็นคนดีไม่ให้ถูกรังแกหรือใส่ร้าย ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าความพึงพอใจในระดับสูงต่อการจัดระเบียบและปราบปรามผู้ที่บ่อนทำลายศาสนาบ่งชี้ถึงแรงกดดันทางสังคมที่ต้องการเห็น “การกระทำที่เป็นรูปธรรม” มากกว่าคำพูดหรือสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์เพียง เปลือกนอก และพร้อมสนับสนุนให้คุ้มครองพระแท้ที่ปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนได้ยกย่องบุคคล 5 อันดับแรกที่มีบทบาทโดดเด่นในการเปิดโปงหรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ทำผิด ได้แก่ อันดับหนึ่ง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว (บิ๊กเต่า) ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดถึง 74.6% เพราะประชาชนเห็นว่าเป็นตำรวจที่ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และเป็นแบบอย่างของ “ตำรวจน้ำดี” อันดับสองได้แก่ หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ได้รับ 73.4% เนื่องจากเปิดพื้นที่สื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงและติดตามข่าวพระมั่วสีกาอย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง อันดับสาม ได้แก่ แพรรี่ ทิดไพรวัลย์ ได้รับ 69.8% ด้วยบทบาทที่พูดแทนประชาชน กล้าวิจารณ์ และวิพากษ์วิจารณ์วงการสงฆ์อย่างตรงไปตรงมา อันดับสี่ ได้แก่ อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ได้รับ 64.3% จากการพูดอย่างตรงไปตรงมาตามหลักพุทธะ ไม่เกรงกลัวผู้มีอิทธิพลในวงการพระ และอันดับห้า ได้แก่ สื่อมวลชนทั่วไป ได้รับ 59.1% ซึ่งชี้ถึงบทบาทของสื่อที่นำเสนอข่าวต่อเนื่องและเกาะติดสถานการณ์ ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตามระบบราชการและผู้แจ้งข่าวเท่านั้น แต่เป็น “กลไกทางสังคม” ที่ช่วยจัดระเบียบและเรียกร้องความโปร่งใสของวงการศาสนา บทบาทของสื่อและผู้นำทางสังคมเหล่านี้จึงควรได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานควบคู่กับหน่วยงานรัฐ
ที่น่าพิจารณาคือ เสียงจากประชาชนสะท้อนถึงความปรารถนาในการ “ฟื้นฟูศาสนา” อย่างแท้จริงด้วยข้อเรียกร้องดังนี้ คือ มากถึง 91.5% ต้องการให้เพิ่มบทลงโทษต่อพระสงฆ์หรือนักบวชที่กระทำผิดให้หนักกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ในขณะที่ 82.5% เรียกร้องให้ตำรวจและหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายต่อมารศาสนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 80.6% สนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายเพื่อจัดระเบียบพระสงฆ์และนักบวชทุกศาสนาโดยไม่เลือกปฏิบัติ 77.4% ต้องการให้มีการตรวจสอบองค์กรศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม และ 63.9% เห็นว่าภาคประชาสังคมควรมีบทบาทร่วมมือกับรัฐในการจัดระเบียบคนในวงการศาสนา ข้อมูลผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า เสียงประชาชนชี้ให้เห็นถึงความต้องการ “ระบบใหม่ของศาสนา” ที่เข้มแข็ง โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกศาสนา โดยที่ไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและไม่ยกเว้นโทษให้กับผู้ที่บ่อนทำลายความศรัทธาของประชาชน
ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชน กล่าวสรุปว่า ผลสำรวจสะท้อนภาพรวมที่ทรงพลังของจิตวิญญาณประชาชนในห้วงยามที่ศาสนาและศรัทธากำลังเผชิญวิกฤติความเชื่อมั่น ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในคุณค่าของ “ศาสนา” ในฐานะหลักทางจริยธรรมและศูนย์รวมของจิตใจ แต่ในขณะเดียวกันกลับแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า “จะไม่ยอมรับความเสื่อมที่เกิดจากผู้แอบอ้างผ้าเหลืองหรือชุดขาว ชุดนักบวชของทุกศาสนา” หรือผู้ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
ความไว้วางใจของประชาชนจึงเคลื่อนย้ายออกจากระบบราชการดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา มาสู่ตำรวจและบุคคลสาธารณะที่กล้าหาญและเปิดเผยความจริง กลุ่มคนเหล่านี้มิได้เพียงทำหน้าที่ของตนแต่ได้กลายเป็น “ตัวแทนของความหวัง” ที่ประชาชนฝากไว้ในยุคที่ศีลธรรมกำลังถูกตั้งคำถาม ภายใต้บริบทนี้หน่วยงานศาสนาแบบเดิมจำเป็นต้อง “ปฏิรูปบทบาท” ให้เท่าทันความคาดหวังของประชาชนโดยต้องเป็นมากกว่าผู้พิทักษ์เชิงพิธีกรรม แต่ต้องกลายเป็นกลไกที่เข้มแข็ง ตรวจสอบได้ และใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ในขณะที่เสียงจากประชาชนยังแสดงให้เห็นถึงแรงสนับสนุนอย่างมหาศาลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งในด้านกฎหมาย องค์กร และวัฒนธรรมการทำงานของสถาบันศาสนาโดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมต่อทุกศาสนาและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูศรัทธาอย่างเป็นระบบ
“หากศาสนาทุกศาสนา เปรียบเสมือน “รากแก้ว” ที่ยึดเหนี่ยวคุณธรรมในใจคนไทย “ศรัทธา” ก็คือ “สายน้ำ” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตจิตวิญญาณของชาติและประชาชน หากเราต้องการเห็นบ้านเมืองเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว เราจำเป็นต้องปกป้องศาสนาให้บริสุทธิ์ และรักษาศรัทธาให้ปลอดภัย ไม่ใช่ด้วยคำกล่าวอ้าง หากแต่ด้วย “ปฏิบัติธรรม” อย่างแท้จริง โดยไม่มีเงื่อนไข และ ไม่มีข้อยกเว้น” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวทิ้งท้าย