กองทัพบก วอนเลิกใช้คำว่า ‘บิ๊ก’ หวั่นคนมองมีอิทธิพล แนะใช้ชื่อ-ตำแหน่งจริง
กองทัพบกขอความร่วมมือสื่อ เลิกใช้คำว่า ‘บิ๊ก’ เรียกผู้บังคับบัญชา ชี้อาจสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบ แนะให้ใช้ยศและตำแหน่งจริงแทน เปิดที่มาใครใช้ตำแหน่งบิ๊กคนแรก
วันนี้ (18 กรกฎาคม 2568) โฆษกกองทัพบกออกมาขอความร่วมมือสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้สรรพนามแทนตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่า ‘บิ๊ก’ โดยให้เหตุผลว่าในสภาพแวดล้อมปัจจุบันอาจทำให้สาธารณชนบางส่วนตีความไปในเชิงลบได้ พร้อมแนะนำให้ใช้ชื่อและตำแหน่งที่ถูกต้องตามราชการ เพื่อความเหมาะสมและเป็นทางการ
พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ขอความร่วมมือมายังสื่อมวลชนทุกแขนง เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวที่ต้องมีการกล่าวถึงผู้บังคับบัญชาของกองทัพ โดยขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำนำหน้าชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘บิ๊ก’ เนื่องจากในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้คำว่าบิ๊กอาจทำให้ผู้บริโภคข่าวสารบางส่วนเกิดทัศนคติในแง่ลบได้ เช่น การมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพล, เป็นคนใหญ่คนโต หรืออยู่เหนือประชาชนคนธรรมดา อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพโดยรวม โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกองทัพอยู่แล้ว
ทางกองทัพบกได้เสนอแนะว่า การนำเสนอข่าวโดยระบุชื่อและตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาตามบทบาทหน้าที่ราชการจริง ๆ จะทำให้ข่าวมีความเป็นทางการ, น่าเชื่อถือ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมากกว่า
ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกท่านในการพิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้สรรพนามดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพต่อไป
สำหรับการเรียกนายทหารหรือตำรวจที่มีอิทธิพลว่า ‘บิ๊ก’ นั้น จุดเริ่มต้นมา ‘บิ๊กมิง’ (Big Minh) หรือ เยือง วัน มิงห์ นายพลชาวเวียดนามใต้ โดยสื่ออเมริกันเป็นผู้ตั้งฉายาให้เพราะมีลักษณะ รูปร่างใหญ่กว่าคนทั่วไป มีส่วนสูงถึง 183 เซนติเมตร เป็นผู้นำการรัฐประหารล้มล้างประธานาธิบดี โง ดิ่นห์ เสี่ยม ในปี 1963
นอกจากนี้ ยังเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของเวียดนามใต้ หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี 1975 สื่อมวลชนในไทยมีการนำคำว่าบิ๊กมาใช้เรียกเป็นคำนำหน้าตำแหน่งต่าง ๆ จนปัจจุบัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง