สื่อนอกแฉ! ‘บริษัทไทย’ ช่วยสหรัฐเลี่ยงมาตรการ ‘แบนแร่หายาก’ ของจีน
สื่อนอกเผย สหรัฐใช้ "บริษัทไทบ" รวมถึง เม็กซิโก เป็นทางผ่านส่งออก "แร่หายาก" ไปยังสหรัฐ หลังจีนมีคำสั่งห้ามส่งออกแร่ประเภทนี้ไปยังสหรัฐ
อินโฟฟเควสต์ รายงานว่า วันนี้ (18 ก.ค.) สำนักข่าวรอยเตอร์ส ได้รายงานข่าวเชิงเจาะลึกในหัวข้อ "How US buyers of critical minerals bypass China's export ban" หรือ "วิธีการที่ผู้ซื้อแร่ธาตุสำคัญของสหรัฐ หลีกเลี่ยงคำสั่งห้ามส่งออกของจีน" โดยระบุว่า สหรัฐได้ใช้บริษัทของไทยและเม็กซิโกเป็นทางผ่านในการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐ
รายงานระบุว่า มีการส่งออกแร่แอนติโมนี (Antimony) ซึ่งเป็นโลหะที่ใช้ในแบตเตอรี่ ชิป และสารหน่วงไฟ จากประเทศไทย และเม็กซิโกเข้าสู่สหรัฐในปริมาณมากผิดปกติ นับตั้งแต่จีนสั่งห้ามส่งออกไปยังสหรัฐในปีที่แล้ว
จีนเป็นผู้นำในการผลิต และส่งออกแอนติโมนี รวมถึงแร่กัลเลียม และเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่สำคัญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีทางการทหาร โดยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 จีนได้สั่งห้ามส่งออกแร่เหล่านี้ไปยังสหรัฐ เพื่อตอบโต้ต่อการที่สหรัฐคุมเข้มการส่งออกชิปไปยังจีน
ข้อมูลทางการค้าบ่งชี้ให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งแร่หายากผ่านประเทศที่สาม ซึ่งทางการจีนเองก็ยอมรับในเรื่องนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม 3 ราย ซึ่งรวมถึงผู้บริหารบริษัท 2 แห่งในสหรัฐ ยืนยันกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า พวกเขายังคงได้รับแร่ที่ถูกควบคุมจากทางการจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ส่วนข้อมูลด้านศุลกากรของสหรัฐ ระบุว่า ระหว่างเดือนธันวาคม 2567-เมษายน 2568 สหรัฐได้นำเข้าแอนติโมนีออกไซด์จำนวน 3,834 ตันจากไทย และเม็กซิโก ซึ่งมากกว่าปริมาณนำเข้ารวมกันเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ไทย และเม็กซิโก ก็พุ่งขึ้นมาติดกลุ่มประเทศท็อป 3 ที่นำเข้าแอนติโมนีจากจีนในปีนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2566 ทั้ง 2 ประเทศไม่ติด 10 อันดับแรก
นอกจากนี้ ทั้งไทย และเม็กซิโก ต่างก็มีโรงงานถลุงแอนติโมนีเพียงประเทศละ 1 แห่งเท่านั้น ซึ่งในกรณีของเม็กซิโก โรงถลุงเพิ่งกลับมาเปิดทำการในเดือนเมษายน 2568 และที่สำคัญ ทั้ง 2 ประเทศแทบไม่มีการทำเหมืองแร่ชนิดนี้เลย
ปริมาณการนำเข้าแอนติโมนี กัลเลียม และเจอร์เมเนียมของสหรัฐในปีนี้ยังคงใกล้เคียงหรืออาจจะมากกว่าก่อนที่รัฐบาลจีนออกคำสั่งห้ามส่งออกแร่หายาก แม้ว่าแร่ดังกล่าวมีราคาแพงขึ้นก็ตาม
กระทรวงพาณิชย์จีนเคยระบุในเดือนพฤษภาคมว่า บริษัทต่างชาติบางแห่งได้สมคบคิดกับผู้กระทำผิดในประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการควบคุมการส่งออก
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ของไทย และกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก ไม่ได้ตอบคำถามของสำนักข่าวรอยเตอร์สในประเด็นดังกล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายของสหรัฐไม่ได้ห้ามผู้ซื้อในประเทศ ซื้อแร่แอนติโมนี กัลเลียม หรือเจอร์เมเนียม ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน โดยบริษัทจีนสามารถส่งผ่านบริษัทในประเทศที่ 3 ซึ่งได้รับใบอนุญาต
นายลีวาย ปาร์กเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแกลแลนท์ มีทัลส์ ของสหรัฐ เปิดเผยว่า เขาได้นำเข้ากัลเลียมจากจีนราว 200 กิโลกรัมจ่อเดือน โดยซื้อผ่านตัวแทนในจีน ซึ่งหลังจากนั้น บริษัทชิปปิ้งจะเปลี่ยนฉลากเป็น "เหล็ก สังกะสี หรืออุปกรณ์ศิลปะ" แล้วส่งต่อผ่านประเทศอื่นในเอเชีย
นายปาร์กเกอร์ กล่าวว่า ที่จริงแล้ว เขาต้องการนำเข้ากัลเลียมจากจีนมากถึง 500 กิโลกรัมต่อเดือน แต่ปริมาณการนำเข้าที่สูงดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบ
รอยเตอร์ส รายงานว่า บริษัท ไทย ยูนิเพ็ท อินดัสทรี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของยังซัน เคมีคัลส์ ผู้ผลิตแอนติโมนีจากจีน มีการทำการค้ากับสหรัฐอย่างคึกคักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
อิมพอร์ตเยติ และเอ็กซ์พอร์ต จีเนียส ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการค้า ระบุว่า ยูนิเพ็ทได้ส่งออกผลิตภัณฑ์แอนติโมนีไปยังสหรัฐอย่างน้อย 3,366 ตัน ระหว่างเดือนธันวาคม 2567-พฤษภาคม 2568 โดยพุ่งขึ้นถึง 27 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จีนได้เปิดปฏิบัติการกวาดล้างการลักลอบขนส่งแร่หายากผ่านประเทศที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม โดยมีโทษปรับ และห้ามการส่งออก หรืออาจถึงขั้นจำคุกมากกว่า 5 ปี
นอกจากนี้ กฎหมายของจีนยังบังคับใช้กับบริษัทจีน แม้มีการทำธุรกรรมในต่างประเทศ และหากมีการส่งออกผ่านประเทศที่สาม บริษัทจีนก็อาจถูกดำเนินคดีจากการที่ไม่มีการตรวจสอบปลายทางอย่างเพียงพอ
แม้ว่าการเลี่ยงกฎหมายจะมีความเสี่ยงสูง แต่ผลกำไรจากการส่งออกแร่หายากก็สูงมากเช่นกัน เนื่องจากราคาที่พุ่งขึ้นหลังเกิดภาวะขาดแคลน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- รู้จัก 'แร่หายาก' ว่าที่อาวุธชิ้นต่อไป ที่จีนอาจใช้สู้ 'สงครามเทคโนโลยี'
- เกาะติดราคาทองคำ! ระยะสั้นเริ่มอ่อนแรง แนะกลยุทธ์รอจังหวะซื้อเข้าพอร์ต
- 'เซเลนสกี' ลั่น พร้อมลาออกตำแหน่ง แลก 'ยูเครน' เข้านาโต ปัดทรัมป์ขอแร่หายาก 50%
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X:https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube:https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg