ชัวร์ก่อนแชร์ : เขย่าลูก อันตรายจริงหรือ ?
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 0.35 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทบนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ว่า “การเขย่าลูก” ทำให้เกิดอันตรายหลายอย่าง ตั้งแต่ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ไปจนถึงทำให้ตาบอด จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นพ.กุลเสฏฐ ศักดิ์พิชัยสกุล กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์-งานประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
การเขย่าลูกทำให้เกิดอันตรายจริง
ทางการแพทย์เรียก “การเขย่าเด็กทารก” ว่า Shaken Baby Syndrome
“Shaken” การเขย่า และ “Baby” เด็กทารก
เขย่าลูกจะทำให้ “เลือดออกในสมอง” จริงหรือ ?
การเขย่าเด็กทารก เด็กเล็ก ๆ อายุน้อยกว่า 2 ขวบ ทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้
เด็กทารก เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ขนาดของศีรษะจะใหญ่กว่าขนาดตัว เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และกล้ามเนื้อคอของเด็กทารกก็ยังไม่แข็งแรงพอ
ในกะโหลกศีรษะมีเนื้อสมองอยู่ ถ้ามีการเขย่าเกิดขึ้น ศีรษะก็จะมีการขยับไปมาด้วย
การเขย่าแบบนี้ทำให้เนื้อสมองของเด็กถูกกระทบกระแทกทุก ๆ ด้าน เพราะ “กะโหลก” ก็คือกระดูกที่ห่อหุ้มสมอง จึงทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้
เขย่าลูกจะทำให้ “กะโหลกแตก” จริงหรือ ?
การเขย่าเด็กคงไม่สามารถทำให้กะโหลกแตกได้
ทว่าขณะที่กำลังเขย่าเด็กอยู่นั้น คนเขย่าเด็กมักจะมี “อารมณ์โกรธ” เกิดความเครียด หรือรู้สึกว่าทำอย่างไรเด็กก็ไม่หยุดร้อง ไม่สงบสักที สถานการณ์ที่คนเขย่าเด็กควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้ ควบคุมความเครียดไม่ได้ และถ้ามีการเขย่าเด็กอย่างรุนแรงและไร้ทิศทาง ย่อมจะทำให้ศีรษะเด็กมีโอกาสไปกระแทกกับของแข็งได้ บางครั้งก็อาจจะทำให้กะโหลกศีรษะแตก
เขย่าลูกจะทำให้ “เลือดออกในลูกตา” จริงหรือ ?
เลือดออกในลูกตาเด็กจากการถูกเขย่าเป็นเรื่องจริงที่พบได้
เด็กที่ถูกเขย่าศีรษะ ทำให้หลอดเลือดที่อยู่หลังลูกตาฉีกขาด
ระยะเวลาและจำนวนครั้งที่เด็กถูกเขย่า เปรียบเสมือนคนที่เขย่าเด็กฉีกหลอดเลือดออกทีละนิด ๆ เลือดก็จะค่อย ๆ ไหลออกมาทั้งที่สมองและลูกตา
ในเด็กที่ถูกเขย่าบ่อย ๆ มีเลือดออกใต้จอประสาทตาจะทำให้ตาบอดได้ในอนาคต
สังเกตอย่างไร ว่าลูกถูกเขย่า ?
เด็กที่ได้รับอันตรายจากการถูกเขย่า อาการที่ปรากฏก็คือ ร้องงอแงผิดปกติ นอนซึมทั้งวัน มีอาการเกร็งกระตุก ต้องรีบพาไปพบแพทย์ อย่างน้อยจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้
ถ้ามีการเขย่าเด็กเกิดขึ้นแล้วเลือดออกในสมองรุนแรงก็จะทำให้เสียชีวิต แต่ถ้ารอดชีวิต ส่วนใหญ่มักจะมีความพิการร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมองพิการ ตาบอด โรคลมชัก และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ดังนั้น การเขย่าเพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้ง อาจจะส่งผลระยะยาวกับเด็กทารกที่พ่อแม่ และ/หรือ ผู้ปกครองจะต้องดูแลไปตลอดชีวิต
หลีกเลี่ยง “เขย่าลูก” ได้อย่างไร ?
การเลี้ยงดูเด็กของแต่ละครอบครัว มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งผลกระทบกับอารมณ์และความรู้สึกของพ่อแม่ แต่จะต้องหลีกเลี่ยงการเขย่าลูกอย่างเด็ดขาด มีคำแนะนำดังนี้
1. นำผ้าขนหนูหรือผ้าห่มห่อตัวเด็กเหมือนเวลาที่อยู่ในท้องแม่ที่มีอะไรโอบอุ้มเขา ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
2. บางคนอาจจะเคยได้ยินเสียงคำว่า ชู่ว์ ชู่ว์ ชู่ว์ ก็คือทำเสียงให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนอยู่ในท้องเหมือนกัน
3. ถ้าลูกยังร้องอยู่ พ่อแม่สามารถอุ้มลูกไว้แล้วโยกตัวเบา ๆ เพียงแค่นี้ สุดท้ายก็หาอะไรให้ลูกดูดได้ ไม่ว่าจะเป็นดูดนม ดูดขวดนม หรือบางครั้งใช้จุกหลอกก็สามารถช่วยได้
ดังนั้น การกระทำอะไรบางอย่างที่คิดว่าไม่เป็นอะไร อาจจะส่งผลรุนแรงที่ไม่อาจคาดคิดได้
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล ดูเพิ่มเติมรายการชัวร์ก่อนแชร์ ชัวร์ก่อนแชร์ : เขย่าลูก อันตรายจริงหรือ ?