เมื่อโลกขับเคลื่อนด้วย AI ประเทศไทยจะเหยียบคันเร่งหรือเข้าเกียร์ว่าง? เจาะลึกทางออกก่อนที่เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง [ADVERTORIAL]
หากเปรียบการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นคลื่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก็คงเป็นคลื่นยักษ์ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ทุกชายฝั่งของอุตสาหกรรมอย่างไม่มีข้อยกเว้น จากที่เคยเป็นเพียงแนวคิดในนิยายวิทยาศาสตร์ วันนี้ AI ได้แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
กลายเป็นผู้ช่วยที่มองไม่เห็นซึ่งคอยขับเคลื่อนทุกอย่างตั้งแต่การแนะนำเพลงที่เราฟังไปจนถึงการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ พลังของมันมหาศาลเกินกว่าจะถูกมองข้าม และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทุกธุรกิจและทุกประเทศต้องหันมาเผชิญหน้าอย่างจริงจัง
เวทีเสวนา ‘AI & The Next Economic Leap: พลิกโฉมธุรกิจ พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย’ ในงาน Bangkok AI Week 2025 จึงเปรียบเสมือนการเปิดหน้ากระดานสนทนาครั้งสำคัญของประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากมุมมองของ กล้า ตั้งสุวรรณ แห่ง Wisesight (Thailand) และ ปริชญ์ รังสิมานนท์ จาก Looloo Technology
ก่อนจะส่งไม้ต่อให้วงเสวนาที่รวมสุดยอดขุนพลจากหลากหลายวงการ ทั้ง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร จาก SCB 10X, แซม ตันสกุล แห่ง The Capital T และ ดร.ชาญวิทย์ บุญช่วย นายกสมาคม AIEAT ซึ่งดำเนินรายการโดย ศิรัถยา อิศรภักดี จาก THE STANDARD WEALTH เพื่อร่วมกันถอดรหัสว่า AI คือ ‘โอกาสทอง’ ที่จะพลิกอนาคตเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร
AI: พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต
ท่ามกลางเสียงบ่นว่าเศรษฐกิจซบเซา บนเวทีได้เสรอมุมมองที่ว่า ‘เศรษฐกิจแย่ แต่บริษัทคุณไม่จำเป็นต้องแย่ด้วย’ เพราะในภาวะที่ทุกคนเคลื่อนตัวช้า คือจังหวะที่ดีที่สุดในการปรับตัวและเร่งสปีดแซงหน้าคู่แข่ง AI ได้กลายเป็นเครื่องมือประชาธิปไตยทางเทคโนโลยี ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจ โดยเฉพาะ SME สามารถสร้างการเติบโตแบบทวีคูณได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนมหาศาล ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กทำงานได้โดยใช้ทรัพยากรบุคคลน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่นบริษัทพวงหรีดที่ใช้ AI บริหารจัดการทุกอย่างแบบครบวงจร ตั้งแต่รับออเดอร์ จัดการคิวงาน ขนส่ง ติดตามสถานะ ชำระเงิน จนถึงการนำเงินไปบริจาคต่อ โดยมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยที่สุด และสามารถสร้างผลลัพธ์ด้วยการบริจาคเงินกว่า 30 ล้านบาทใน 5 ปี
ปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด
นี่คือภาพสะท้อนของการเติบโตแบบ ‘Exponential’ ที่ AI กำลังสร้างขึ้น และเป็นบทพิสูจน์ว่าขนาดขององค์กรไม่สำคัญเท่าความเร็วในการปรับตัว
ศักยภาพของ AI ที่ไกลกว่าแค่ Chatbot
หลายคนอาจยังติดภาพว่า AI เป็นเพียง Chatbot สำหรับถามตอบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศักยภาพของ AI ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและน่าทึ่ง ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีกที่ใช้ AI จัดการสต็อกสินค้าคงคลังได้อย่างแม่นยำ และสร้างระบบแนะนำสินค้าที่รู้ใจลูกค้า จนสามารถเพิ่มรายได้หลักสิบล้านถึงร้อยล้านบาท
ในวงการสาธารณสุข AI ช่วยลดภาระงานเอกสารของแพทย์ได้ถึง 40% ผ่านการถอดเสียงและสรุปข้อมูลคนไข้อัตโนมัติ ทำให้พวกเขามีเวลาล้ำค่าไปทุ่มเทกับการรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น หรือในธุรกิจประกันภัยที่นำ AI มาช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบการสนทนาของพนักงานขาย เพื่อให้แน่ใจว่าได้ให้ข้อมูลครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ ซึ่งช่วยลดอัตราการยกเลิกกรมธรรม์ได้ถึงครึ่งหนึ่ง
แม้กระทั่งในภาคการเกษตรที่ประเทศอย่างจอร์เจียใช้รถขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ควบคุมด้วย AI เพื่อฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าเฉพาะจุด ลดการใช้สารเคมีได้มหาศาลถึง 90%
เบื้องหลังความฉลาด: ข้อมูล กำลังคน และการลงทุน
หัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้ AI เติบโตคือ ‘ข้อมูล’ ความฉลาดของ AI ขึ้นอยู่กับปริมาณและความหลากหลายของข้อมูลที่ใช้ฝึกฝน ยิ่งมีข้อมูลมหาศาล AI ก็จะยิ่งเรียนรู้และสร้างโมเดลความรู้ที่ซับซ้อนขึ้นได้เอง
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำเตือนคือ แม้ AI จะทำงานได้แม่นยำและรวดเร็วแค่ไหน AI กลับไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรับผิดชอบ’ ต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นมนุษย์จึงยังคงต้องเป็นผู้ตัดสินใจและผู้รับผิดชอบสุดท้ายเสมอ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและความปลอดภัย
กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด
ด้วยเหตุนี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลกจึงทุ่มงบประมาณระดับหมื่นล้านถึงแสนล้านดอลล่าร์สหรัฐเพื่อสร้าง AI Factory และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีอย่าง แม้จะยังไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนในระยะสั้นก็ตาม การลงทุนนี้ครอบคลุมไปถึง ‘Robot AI’ และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งมีข้อมูลสถิติที่ชัดเจนว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ
ความท้าทายของไทยบนสมรภูมิ AI
แม้ประเทศไทยจะมีต้นทุนที่ดีอย่าง ‘พลังงานที่เสถียร’ และ ‘ข้อมูลมหาศาล’ จากการที่ประชากรใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลในระดับสูง แต่เมื่อมองลึกลงไป เรากลับเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างที่น่ากังวลหลายประการ
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการขาดแคลน ‘AI Talent’ ที่มีคุณภาพและสามารถลงมือทำงานได้จริง เรามีบุคลากรในด้านนี้ไม่ถึง 10,000 คน ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมาย 30,000 คนในปี 2027 อย่างมาก
ดร.ชาญวิทย์ บุญช่วย นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซแนปส์ (ประเทศไทย) จำกัด
การขาดแคลนนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเลข แต่หมายถึงการสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้สร้างนวัตกรรม และอาจทำให้เราติดกับดักการเป็นเพียง ‘ผู้ใช้’ เทคโนโลยีจากต่างประเทศ
อุปสรรคสำคัญถัดมาคือข้อจำกัดด้านกฎหมาย โดยเฉพาะ ‘PDPA’ และกฎระเบียบอื่นๆ ที่ทำให้การนำข้อมูลมาใช้ฝึกฝน AI ไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ซึ่งนำไปสู่ประเด็นน่ากังวลเรื่อง ‘อธิปไตยทางข้อมูล’ (Data Sovereignty) เพราะเมื่อเราใช้ข้อมูลในประเทศได้ไม่เต็มศักยภาพ ข้อมูลของคนไทยกลับถูกนำไปใช้เทรน AI ของแพลตฟอร์มต่างชาติ ทำให้พวกเขายิ่งฉลาดขึ้นและเข้าใจคนไทยดียิ่งกว่าเราเสียอีก
นอกจากนี้ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ และ Mindset ของผู้บริหารจำนวนมากยังคงเป็นกำแพงที่มองไม่เห็น หลายองค์กรยังยึดติดกับระบบเดิมๆ ไม่กล้าลงทุนในสิ่งที่ผลตอบแทนไม่ชัดเจนในทันที หรือมัวแต่รอเทคโนโลยีที่ ‘ถูกที่สุด’ ซึ่งในโลกของ AI ที่เปลี่ยนแปลงรายวัน การรอคอยหมายถึงการถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ จนตามไม่ทัน
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB 10X
แซม ตันสกุล CEO & Founder, The Capital T and Senior Advisor, Beryl8 จำกัด (มหาชน) & Antares Venture Capital
ปิดท้ายด้วย Ecosystem ที่ยังไม่เอื้อต่อการเติบโตของ Startup โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำ Research-Based AI ซึ่งต้องการการลงทุนระยะยาว เรายังขาดแคลน Angel Investor ที่พร้อมจะสนับสนุนไอเดียใหม่ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ผู้ประกอบการที่เก่งกาจจำนวนมากต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวหรือล้มเลิกไปในที่สุด
ทิศทางก้าวต่อไปของประเทศไทย
เพื่อทะลายกำแพงและปลดล็อกศักยภาพของประเทศ ข้อเสนอแนะจากเวทีได้ชี้ทิศทางที่ชัดเจนและต้องลงมือทำทันที ประการแรกคือการเปลี่ยนวิธีคิด ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ ‘Pain Point’ ของธุรกิจให้ถ่องแท้
แล้วจึงนำ AI มาใช้เป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ ไม่ใช่การวิ่งตามเทคโนโลยีเพียงเพราะมันเป็นกระแส แนวทางนี้จะช่วยให้การลงทุนใน AI เกิดผลตอบแทนที่แท้จริงและไม่สูญเปล่า
ภารกิจเร่งด่วนที่สุดคือการสร้าง ‘AI Talent’ ที่มีคุณภาพและลงมือทำได้จริง เราไม่ได้ต้องการแค่นักทฤษฎี แต่ต้องการ ‘AI Engineer’ ที่สามารถนำโมเดลไปใช้งานจริงในสเกลใหญ่ได้
รวมถึงต้องส่งเสริมให้เกิดคนที่มีความสามารถในการสร้างโมเดลใหม่ๆ (Advanced AI) เพื่อให้ไทยขยับจากการเป็นผู้ใช้ไปสู่การเป็นผู้สร้างนวัตกรรม โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันสร้างแรงจูงใจและเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เข้ามาฝึกงานและทำงานจริงเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์
ในด้านกฎระเบียบ ต้องมีการทบทวนเพื่อ ‘ปลดล็อกการใช้ข้อมูล’ อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย โดยอาจนำเทคโนโลยีอย่าง Zero-Knowledge Proof หรือ Federated Learning มาใช้ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว
ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรแสดงบทบาทผู้นำในการลงทุน โดยอาจทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมลงทุน (LP) ในกองทุน Venture Capital เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใน AI Startup ที่มีศักยภาพ เหมือนที่เวียดนามและอินโดนีเซียทำจนประสบความสำเร็จ
ศิรัถยา อิศรภักดี ผู้ก่อตั้ง Wealth Me Up และผู้ดำเนินรายการ Morning Wealth ทาง THE STANDARD WEALTH
ท้ายที่สุด การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการนำจากผู้นำองค์กร ‘CEO ต้องเป็นเจ้าของ AI Transformation’ โดยตรง ต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยีและเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ไม่ใช่แค่โยนให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายไอที
เพราะการนำ AI มาใช้ไม่ใช่แค่การซื้อซอฟต์แวร์ แต่คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิธีคิดของทั้งองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังมาถึง