ชาวบ้านลุ่มน้ำยม–น่านปลอดภัย! กรมชลฯ ผนึกกำลังควบคุมจราจรน้ำลดผลกระทบ
กรมชลประทาน ผนึกกำลังหน่วยงานพื้นที่ลุ่มน้ำยม–น่าน เดินหน้าควบคุมจราจรน้ำต่อเนื่อง ลดผลกระทบประชาชน
วันที่ 27 ก.ค.68 นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสมจิตฐิพงศ์ อำนาจศาล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบ 4 จุดยุทธศาสตร์ในจังหวัดพิษณุโลก และพิจิตร เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำ และสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่างอย่างมีประสิทธิภาพ
การลงพื้นที่เริ่มต้นที่ฝายบางบ้า ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยที่ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงามแล้ว เป็นอาคารที่ทดน้ำในลำน้ำยมให้สูงขึ้นเพื่อการเพาะปลูกสองฝั่งแม่น้ำยมเหนืออาคาร พบว่าปัจจุบันฝายบางบ้ามีผลกระทบกับการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เห็นสมควรรื้อถอนอาคารออก ซึ่งอยู่ด้านท้ายประตูระบายน้ำบ้านวังสะตือ ก่อนเดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำ DR.2.8 อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จุดยุทธศาสตร์สำคัญในการระบายน้ำจากส่วนเกินในแม่น้ำยมสู่ลำน้ำน่าน ก่อนเข้าสู่เจ้าพระยาตอนล่าง โดยในจุดนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมเจ้าหน้าที่จากสทนช. ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบและบูรณาการข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกับกรมชลประทาน
จากนั้นตรวจสอบประตูระบายน้ำบางแก้ว จุดสำคัญในการควบคุมระดับน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรและรองรับการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ในทุ่งบางระกำ ก่อนปิดท้ายที่ประตูระบายน้ำท่าแห อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ช่วงปลายน้ำของลุ่มน้ำยม เชื่อมต่อกับระบบชลประทานสายใหญ่ ช่วยลดแรงดันน้ำและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง
นายสุริยพล กล่าวว่า “กรมชลประทานให้ความสำคัญอย่างสูงกับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม–น่าน โดยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ปรับการระบายน้ำผ่านจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน และร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด”
พร้อมกันนี้ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านการรับมือระบายน้ำและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยใช้โครงสร้างชลประทานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อการตอบสนองที่รวดเร็ว
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ณ จังหวัดสุโขทัย เพื่อควบคุม “จราจรน้ำ” จากภาคเหนือก่อนเข้าสู่เจ้าพระยา พร้อมประสานความร่วมมือกับ กฟผ. ในการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ในช่วงวันที่ 26–30 กรกฎาคม ลงเหลือ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมและลดผลกระทบในพื้นที่ตอนล่าง
ในด้านการเตรียมพื้นที่รับน้ำ กรมชลประทานได้วางแผนใช้ “ทุ่งบางระกำ” เป็นพื้นที่หน่วงน้ำธรรมชาติ รองรับได้มากถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะพร้อมใช้งานเต็มที่ภายหลังการเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือนสิงหาคม
หน่วยงานในพื้นที่ยังคงเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการเฝ้าระวังระดับน้ำในจุดสำคัญแบบรายวัน และพร้อมปรับแผนรับมือหากปริมาณฝนในภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นอีกในระยะถัดไป
กรมชลประทานขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ติดตามข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าจะบริหารจัดการสถานการณ์ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งในด้านพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และเศรษฐกิจ