กทม. นับถอยหลังปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ เริ่มตุลาคม 2568
เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ จากเดิม 20 บาทต่อเดือน เป็น 60 บาทต่อเดือน
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตราข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดหรือต้นทาง สอดคล้องกับสภาวการณ์และค่าใช้จ่ายปัจจุบัน โดยข้อบัญญัติฉบับดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 180 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายน 2568 โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ จากเดิม 20 บาทต่อเดือน เป็น 60 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครที่มีการแยกขยะตามกฎหมาย หลักการง่าย ๆ คือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง ถ้าครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีขยะไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อวัน จะเสียค่าจัดเก็บขยะ 20 บาทต่อเดือนเท่าเดิม แต่ถ้าไม่เข้าร่วมโครงการจะเสีย 60 บาท เพียงแค่แยกขยะแล้วใส่ถุงแยกไว้ก็จะมีคนมาเก็บไป ส่วนขยะที่เหลือหากเป็นขยะรีไซเคิลสามารถนำไปขายหรือบริจาคได้เพราะเปลี่ยนเป็นเงินได้ อยากให้มีการลงทะเบียนเยอะ ๆ ขอให้ทุกคนช่วยกัน ขยะไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ ขยะเกิดจากพวกเรา ขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ ช่วยกันแยกตั้งแต่ต้นทาง กทม. จะดำเนินการให้ดีขึ้น
ที่ผ่านมา กทม. ใช้เงินในการจัดการขยะประมาณ 7,000 – 8,000 ล้านบาท ขยะบางอย่างมีมูลค่า ถ้ามารวมกันจะทำให้ไร้มูลค่า ขอยืนยันว่า กทม. จะแยกขยะตั้งแต่รถจัดเก็บไปจนถึงปลายทาง ไม่ลำบากมาก อาจต้องปรับพฤติกรรมนิดหน่อย เชื่อว่าถ้าร่วมมือกันจะทำให้เมืองดีขึ้นได้ ในส่วนภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการต่าง ๆ มีการปรับค่าธรรมเนียมขึ้นด้วย อัตราจะแตกต่างจากบ้านเรือน หากรายใหญ่มีการแยกขยะจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้มาก และจ่ายค่าธรรมเนียมขยะน้อยลง อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองทำเพื่อสังคม เพื่อโลก เป็นหัวใจสำคัญ ช่วงแรกในการดำเนินการจะมีการแจกถุงขยะ แจกสติกเกอร์ หากภาคีเครือข่ายมาร่วมกันมากขึ้น ทำให้สะดวกมากขึ้น ก็จะช่วยได้
กทม. กระตุ้นคนกรุงเทพฯ คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ผ่านโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม แยกขยะลดค่าธรรมเนียม
ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณในการจัดการขยะกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อบริหารจัดการขยะที่ต้องกำจัดกว่า 10,000 ตัน/วัน การที่กรุงเทพมหานครได้ตราข้อบัญญัติฉบับนี้ โดยมีการปรับขึ้นอัตราค่าธรรมเนียม การจัดการขยะ จึงไม่ใช่เหตุผลเดียวในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ แต่เพื่อใช้กลไกของค่าธรรมเนียมช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีการคัดแยกขยะอย่างน้อย 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ผ่านโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” เพื่อลดปริมาณขยะเป้าหมาย 1,000 ตัน/วัน ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครได้วันละ 2 ล้านบาท นอกจากนี้ การแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ขาย หรือบริจาคขยะ ก่อนส่งให้ กทม. นำไปกำจัด จะเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและเพิ่มรายได้หากนำไปขายด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลประเภทของขยะพบว่ากว่า 50% ของขยะในกรุงเทพมหานคร คือ ขยะเศษอาหาร ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน ส่งผลให้ขยะประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามประเภทของขยะนั้น ๆ ด้วย
ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขยะทุกประเภท ส่งเสริมแยกขยะ ลดปริมาณจัดเก็บและค่าใช้จ่าย
การปรับค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2568 นี้ มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมขยะทุกประเภททั้งมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยติดเชื้อ สิ่งปฏิกูลและไขมัน
สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการมูลฝอยทั่วไป แบ่งการจัดเก็บทั้งแบบรายเดือนและครั้งคราว โดยการจัดเก็บรายเดือน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หากไม่คัดแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 30 บาท) หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียม เท่าเดิมที่เคยจ่าย คือ เดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)
กลุ่มที่ 2 สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร อัตราค่าธรรมเนียม หน่วยละ 120 บาท/เดือน (1 หน่วยเท่ากับ 20 ลิตร) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากอัตราค่าธรรมเนียมเดิม โดยใช้หลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณมูลฝอยที่ทิ้ง (PAYT Model) ส่งเสริมให้คัดแยกขยะเพื่อลดค่าธรรมเนียม
กลุ่มที่ 3 สถานที่ที่ผลิตมูลฝอยมากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน อัตราค่าธรรมเนียม หน่วยละ 8,000 บาท/เดือน (1 หน่วยเท่ากับ 1 ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากอัตราค่าธรรมเนียมเดิม เนื่องจากกลุ่มที่ 3 ผลิตมูลฝอยในปริมาณมาก และมีศักยภาพในการดำเนินการลดและคัดแยกมูลฝอยของตนเอง โดยใช้หลักการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามปริมาณมูลฝอยที่ทิ้ง (PAYT Model) เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2
ชวนคัดแยกขยะ พร้อมเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวม ทางแอป BKK WASTE PAY รับส่วนลดค่าขยะ 3 เท่า
การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมฯ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ
1.การลงทะเบียนแบบเดี่ยว สำหรับอาคารหรือสถานที่ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ผู้ที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล โดยเจ้าของหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ BKK WASTE PAY กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่ถือเครื่อง Handheld ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมที่บ้าน หรือลงทะเบียนที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะที่สำนักงานเขต ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ ซึ่ง กทม. ได้เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการล่วงหน้า แต่วันที่ 14 ม.ค.68 เป็นต้นมา
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าไว้แล้ว และแอปพลิเคชันจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะ 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ ในเดือนตุลาคม 2568 จากข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.68 มีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านนี้ไม่เทรวมฯ แล้วจำนวน 112,601 ครัวเรือน ในส่วนของประชาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิ์ลดค่าธรรมเนียม คือ จากที่ต้องจ่ายเดือนละ 60 บาท จะได้รับส่วนลดเหลือ 20 บาท
สำหรับข้อมูลที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ชื่อ-สุกล เบอร์โทรศัพท์ และภาพถ่ายขยะที่คัดแยก (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย (ถ้ามี) และขยะทั่วไป) ระบบและเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและแจ้งผลการลงทะเบียนทางแอปฯ บ้านที่ลงทะเบียนแล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์บ้านนี้ไม่เทรวม โดย1 ปีแรก บ้านที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงเขียวใส่ขยะเศษอาหาร ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะเป็นระยะ หากตรวจพบว่าไม่ได้แยกขยะตามที่กำหนดระบบจะแจ้งให้ส่งภาพใหม่เพื่อตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการจะโดนตัดสิทธิ์การรับส่วนลดค่าธรรมเนียมขยะ เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นระบบจะแจ้งให้ส่งภาพใหม่เพื่อตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์อีกครั้ง
2.การลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ ในเดือนตุลาคม 2568 แนวทางเบื้องต้นคือต้องมีการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ของบ้านทุกหลัง และหลักฐานการคัดแยกขยะ
สามารถสอบถามขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ โดยหากหมู่บ้านหรือชุมชน ไม่มีที่พักขยะรวม หรือไม่ได้มีการลงทะเบียนแบบกลุ่ม สมาชิกสามารถลงทะเบียนแบบเดี่ยวได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 12 มาตรการรับชุมนุม 28 มิ.ย. ชัชชาติย้ำเป็นกลาง-เข้มความปลอดภัย
- โพลสะท้อนประชาชนร้อยละ 73.95 พอใจการทำงานกทม.
- 3 ปี "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" ชวนคนกรุงให้คะแนน ผ่านแบบสำรวจออนไลน์
- กทม. จะเป็นเมืองร้างน้ำในแม่น้ำลดต่ำมาก สทนช. ชี้แจงประเด็นนี้แล้ว
- กรุงเทพวิกฤต เตรียมใช้ชีวิตกลางแจ้งไม่ได้ หากร้อนเพิ่มแค่ “1 องศา” คร่าชีวิตได้นับพัน