สรท.เสนอ 3 แนว รับมือ “ภาษีทรัมป์” แนะยึดโมเดลเวียดนามต่อรอง
วันนี้ ( 9 มิ.ย.2568) นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษี จากสหรัฐฯ 36% และจะมีผลทันทีในวันที่ 1ส.ค. นั้น สรท.ได้ จัดส่งข้อเสนอแนะแนวทางการเจรจาและมาตรการรับมือกรณีสหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ไปให้กระทรวงพาณิชย์ และทีมไทยแลนด์นำไปใช้ในการเจรจาต่อรอง โดยหวังผลเจรจาต่อรองจะสามารถลดการเรียกเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 20% เท่ากับประเทศคู่แข่ง
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก
สรท.ส่งข้อเสนอแนะไปให้ทางกระทรวงพาณิชย์ และทีมไทยแลนด์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและหวังว่าครั้งนี้จะสามารถปิดดีลได้เรียบร้อยภายในวันที่ 1 ส.ค.68 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้
ประธาน สรท. กล่าวอีกว่า เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บในอัตรา 36% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ต้นทุนส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ สูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะกระทบการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท หรือ 20% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
สินค้าที่ไทยจะเสียเปรียบคู่แข่งมากที่สุด ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสำเร็จรูป ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น เป็นต้น ซึ่งหลายอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นที่อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก รวมถึงสินค้าเกษตรหลายรายการจะไม่สามารถแข่งขันได้
ผลกระทบดังกล่าวจะมีผลให้เกิดแรงกดดันต่อราคาผลผลิตภายในประเทศและกระทบต่อรายได้เกษตรกรและครัวเรือนไทยจำนวนมากในที่สุด ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่ปัญหาจะขยายวงกว้างออกไปไม่เพียงแต่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่การลงทุนจากต่างประเทศจะลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีต่อจากนี้
ด้านนายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวว่า การเจรจาคงต้องใช้เวียดนามโมเดล และจะต้องให้ได้ข้อยุติ เพราะคงไม่มีโอกาสที่จะเจรจารอบที่สามอีกแล้ว ส่วนการต่อรองเพื่อแลกกับยอดเกินดุล 4 หมื่นล้านดอลลาร์ถือว่าคุ้มค่า เพราะจะครอบคลุมทั้งเรื่องการค้าและการลงทุน ถึงแม้จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมาก็ตาม แต่ภาครัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
สิ่งที่น่ากังวลคือหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง นักลงทุนก็จะย้ายไปที่อื่น ทั้งที่เป็นรายใหม่และรายเดิม
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องการส่งออก แต่จะกระทบไปถึงเรื่องอื่น เช่น การจ้างงาน การลงทุน แม้ทรัมป์จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วก็ตามแต่ปัญหาก็ไม่ได้หมดไปทันที ซึ่งการเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงกว้าง ทั้งด้านการค้าการลงทุน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูอย่างน้อย 5-10 ปี
สำหรับข้อเสนอของ สรท.ครั้งนี้ประกอบด้วย
1.ข้อเสนอสำหรับการเจรจาลดอัตราภาษีกับสหรัฐฯสนับสนุนการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็น 0% ให้มากที่สุด โดยเฉพาะในรายการสินค้าที่ไทยสามารถยอมรับได้ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการลงทุนทางตรง (FDI) จากสหรัฐฯเร่งจัดซื้อสินค้ากลุ่มพลังงานจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้นแทนการซื้อจากแหล่งอื่น
2.ข้อเสนอสำหรับการหาตลาดศักยภาพอื่นทดแทนสนับสนุนงบประมาณในปี 2569-2570 สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในต่างประเทศ อาทิ การพาผู้ประกอบการไปเข้าร่วมออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และการจัดกิจกรรม Business Matching และในประเทศ อาทิ กิจกรรม Incoming Mission ให้มากขึ้นและต่อเนื่องเพิ่มงบประมาณโครงการ SMEs Proactive ให้ผู้ประกอบการส่งออก SMEs สามารถบุกตลาดอื่นได้มากขึ้น
โดยเฉพาะในงานแสดงสินค้าที่ภาครัฐไม่สามารถพาผู้ประกอบการไทยไปเข้าร่วมร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
สำหรับจัดหาวงเงินหมุนเวียนและสนับสนุนค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงทางการค้าในการบุกตลาดใหม่ และ 2.4) เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีทุกกรอบที่อยู่ระหว่างการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงเพิ่มเติมการเจรจากับคู่ค้าสำคัญอื่นเพิ่มเติม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.ข้อเสนออื่นเพิ่มเติม เช่น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พิจารณาเงื่อนไขการปรับลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดต้นทุนและบรรเทาภาระหนี้จากการประกอบธุรกิจ และดำเนินมาตรการกำกับดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ เป็นต้น
การพิจารณาชะลอการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำและปรับลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ อาทิ ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง และต้นทุนโลจิสติกส์เพื่อการส่งออกพิจารณานำต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าวัตถุดิบและการส่งออกสินค้า อาทิ ค่าระวาง ค่าประกันภัยการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม หักภาษีได้ 200% จากที่จ่ายจริง
รวมถึงเร่งรัดกระบวนการคืนภาษีธุรกิจ อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรวัตถุดิบนำเข้าที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า เป็นต้น รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการขออนุญาตและการดำเนินการในขั้นตอนการส่งออกให้กับผู้ประกอบการพร้อมทั้งพัฒนาระบบ Digitalization ตลอดกระบวนการส่งออกนำเข้าให้มีความสมบูรณ์
และเพิ่มความเข้มงวดมาตรการปรามการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ และสินค้าสวมสิทธิ์เริ่มบังคับใช้กฎ 24 Hours Rule เพื่อให้สินค้าที่จะส่งออกมายังประเทศไทย ต้องแจ้งข้อมูลล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ก่อนบรรทุกสินค้าลงเรือ ท่าเรือต้นทาง
รวมถึงตรวจสอบสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผ่านเขตปลอดอากร 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก และเพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศปลายทางแล้วตกค้างในไทย เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าและคัดกรองสินค้าด้อยคุณภาพ เพื่อคุ้มครองทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศ โดยสินค้านำเข้าและโรงงานผู้ผลิตต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศไทยก่อนบรรทุกลงเรือมายังไทยเป็นต้น
อ่านข่าว:
การเมืองในประเทศ-ภาษีทรัมป์ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย.ต่ำสุดรอบ 28 เดือน
ภาษีตอบโต้ 36 % ไทย "ไร้แสงปลายอุโมงค์" คาดครึ่งปีหลังลบหนัก