Quiet Firing ทำไมยุคนี้เจอบ่อย? เปิดเบื้องหลังการไล่ออกเงียบๆ
คุณอาจไม่เคยถูกหัวหน้าหรือผู้นำองค์กรบอกให้ลาออกจากงานแบบตรงๆ แต่กลับรู้สึกได้ว่าตัวเองไม่ได้รับการสนับสนุน ถูกปล่อยให้อยู่คนเดียว ไม่มีทิศทาง และไร้เสียงตอบรับจากผู้บังคับบัญชา จนหมดใจกับที่ทำงานไปโดยไม่รู้ตัว แบบนี้เรียกว่าโดน Quiet Firing แล้วหรือยัง?
Quiet Firing คืออะไร?
ในยุคที่หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมการทำงาน การไล่ออกเงียบๆ หรือ Quiet Firing กำลังกลายเป็นประสบการณ์ร่วมของคนทำงานทั่วโลก ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่หัวหน้าหรือองค์กร พยายามผลักพนักงานออกโดยไม่ใช้คำพูดหรือการอธิบายตรงๆ ไม่ได้มีจดหมายเลิกจ้าง ไม่ได้บอกว่าคุณไม่ผ่านโปร ไม่ได้พูดด้วยซ้ำว่า “ผลงานคุณไม่โอเค” มีเพียงแค่ความว่างเปล่าหรือเมินเฉย
อีกนัยหนึ่งคือ การที่ผู้นำหรือหัวหน้ามีพฤติกรรม “ถอยห่าง” จากพนักงานอย่างช้าๆ ไม่ให้ฟีดแบ็ก ไม่สนับสนุน ไม่เรียกคุย ไม่ให้โอกาส และปล่อยให้คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ จนสุดท้ายพนักงานคนนั้นต้องตัดสินใจลาออกเอง
จากผลสำรวจจาก HROne พบว่า 83% ของพนักงานเคยพบเห็นพฤติกรรม Quiet Firing และเกือบ 35% บอกว่าเคยเจอสถานการณ์ลักษณะนี้กับตัวเอง แล้วทำไมจึงเกิดการไล่ออกเงียบๆ ในที่ทำงานยุคนี้ทั่วโลก ..นี่คือ 3 ความจริงที่หลายคนไม่อยากยอมรับ แต่สะท้อนว่kการไล่ออกเงียบๆ ยังคงเกิดขึ้นในองค์กรยุคใหม่
หัวหน้าบางคน อาจไม่เคย "บริหารงานเป็น" จริงๆ
Quiet Firing ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนร้ายเสมอไป บางครั้งมันค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในทีม เพราะหัวหน้างานไม่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแท้จริงโดยหัวหน้าลักษณะนี้มักหลีกเลี่ยงการโค้ชงาน ไม่เคยให้ฟีดแบ็ก ไม่ว่าเชิงบวกหรือเชิงลบ และหลีกเลี่ยงการสนทนายากๆ เสมอ พวกเขาไม่ได้พยายามแล้วล้มเหลว แต่คือ “การไม่พยายามตั้งแต่ต้น”
ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก งานวิจัยจาก Gallup พบว่า มีพนักงานเพียง 20% เท่านั้นที่รู้สึกว่า หัวหน้างานสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนในการทำงาน นั่นหมายความว่าอีก 80% อาจกำลังติดอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่มีทิศทาง ไม่มีการสื่อสารที่ชัดเจน และไม่มีระบบสนับสนุนที่ดีพอ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเกิด “การไล่ออกเงียบๆ” โดยไม่รู้ตัว
บางคนอาจไม่ได้ตั้งใจ บางคนอาจเพิ่งเป็นหัวหน้าใหม่ และองค์กรก็ไม่มีระบบฝึกอบรม หรือรับภาระงานหนักเกินไปจนหมดไฟ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร การขาดผู้นำที่ใส่ใจคนในทีม จะค่อยๆ บั่นทอนแรงจูงใจของพนักงานลงเรื่อยๆ จนรู้สึกเหมือนทำงานโดยไม่มีใครคอยซัพพอร์ต และเลือกเดินออกไปในที่สุด
ผลกระทบของการ “ไม่ทำหน้าที่” นั้นรุนแรงกว่าที่คิด ผลวิจัยข้างต้นยังระบุด้วยว่า 70% ของความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ขึ้นอยู่กับตัวผู้จัดการโดยตรง ถ้าหัวหน้าหมดไฟ คนในทีมก็ไม่รอด
ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่คนๆ เดียว แต่อยู่ที่วัฒนธรรมองค์กร
ในบางกรณี พฤติกรรมของหัวหน้าอาจเป็นเพียงแค่ผลผลิตของระบบที่เน้นหลีกเลี่ยงปัญหา หรือไม่กล้าเผชิญหน้ากับเรื่องยาก องค์กรบางแห่งใช้ "Quiet Firing" เป็นเครื่องมือหลบเลี่ยงกระบวนการประเมินผลที่อึดอัด หรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางกฎหมาย ที่อาจเกิดจากการไล่ออกอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงไปมาไม่แน่นอน
แม้คำว่า “Quiet Firing” จะฟังดูเหมือนเป็นเทรนด์ใหม่ แต่ในความจริง กลยุทธ์นี้มีมานานแล้ว เบน ฮาร์ดี (Ben Hardy) อาจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรจาก London Business School เล่าว่า ในอดีตมีสิ่งที่เรียกว่า “การคุยนอกรอบที่ลานจอดรถ” ซึ่งหมายถึง การที่หัวหน้าเรียกพนักงานออกมาคุยอย่างไม่เป็นทางการ แล้วเสนอทางเลือกให้สองทาง คือ
1. ลดเงินเดือนแล้วลาออกอย่างเงียบๆ หรือ 2. เข้าสู่กระบวนการประเมินผลงานที่รู้กันอยู่แล้วว่าไม่มีทางผ่าน
แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน เป้าหมายก็เหมือนกัน นั่นคือทำให้พนักงาน “หายไป” โดยไม่กระทบภาพลักษณ์ขององค์กร Quiet Firing กลับเปิดทางให้องค์กรผลักคนออกได้ โดยยังรักษาหน้าตาไว้ได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ฟีดแบ็กที่เคยมี… กลับกลายเป็นความเงียบ
บางครั้งคุณอาจเคยมีบทสนทนาที่จริงจังกับหัวหน้าแล้ว เคยมี “การคุยเปิดใจ” เกิดขึ้นจริง แต่ทุกอย่างกลับกลายเป็นตึงเครียด อึดอัด หรือคลุมเครือจนไม่รู้จะเดินหน้าต่ออย่างไร ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ หัวหน้าถอยออกมา ปล่อยทุกอย่างให้เงียบ และความเงียบนั้นชัดเจนยิ่งกว่าคำพูดเสียอีก!
จากข้อมูลของ Gallup ระบุว่า การมีบทสนทนาที่มีความหมายระหว่างหัวหน้าและลูกทีม เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่สุดของความผูกพันในงาน
มากถึง 80% ของพนักงานที่ได้รับฟีดแบ็กที่มีประโยชน์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้พวกเขารู้สึกผูกพันกับงานของตัวเองอย่างเต็มที่
ในทางตรงกันข้าม เมื่อบทสนทนาเหล่านั้นหายไป ความสับสนจะเข้ามาแทนที่ คนในทีมเริ่มตีฟูความเงียบนั้น ด้วยความรู้สึกของตัวเองหรือการคิดไปเอง และมักคิดว่า “ฉันอาจทำอะไรผิด” หรือ “เขาอาจไม่ต้องการฉันแล้ว”
พอหัวหน้ารู้สึกว่าให้ฟีดแบ็กไปแล้วไม่ได้ผล หรือไม่แน่ใจว่าจะคุยอย่างไรต่อ ก็มักเริ่มเลี่ยงนัดคุยแบบเจอหน้าสองต่อสอง หรือเลือกที่จะหยุดให้คำแนะนำ และปล่อยให้ทุกอย่างค่อยๆ เงียบหายไป ทั้งที่ความเงียบนั้นกำลังส่งสารชัดเจนว่า “คุณไม่สำคัญ และไม่มีที่ทางในที่ทำงานนี้อีกต่อไป”
Quiet Firing ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ยากที่จะจับสังเกตเห็น
เนื่องจาก Quiet Firing มักมีสัญญาณจากการที่ไม่มีคำพูด ไม่มีประกาศ ไม่มีจดหมาย ไม่มีคำว่า “คุณถูกให้ออก” สิ่งที่เหลืออยู่คือความรู้สึกโดดเดี่ยว ความไม่แน่ใจ และการพยายามตีความหมายของ ความเงียบที่ไม่มีคำตอบ ..นั่นจึงทำให้หลายคนโทษตัวเอง ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณเสมอไป
บ่อยครั้ง สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของ Quiet Firing คือระบบโครงสร้างหน่วยงานที่ผิดพลาด หัวหน้าที่เหนื่อยล้าเกินไปจะรับผิดชอบ หรือวัฒนธรรมองค์กรที่ถนัดแต่การเลี่ยงปัญหา มากกว่าการเปิดใจพูดคุยอย่างจริงจัง
หากคุณกำลังรู้สึกเหมือนถูก “ผลักออกจากที่นี่” อย่างเงียบๆ อย่าเพิ่งมองว่านั่นคือความล้มเหลวของตนเอง แต่จงมองว่านั่นคือ "สัญญาณ" ที่บอกว่าคุณควรอยู่ในที่ที่ให้ความชัดเจน สนับสนุนคุณ และต้องการเห็นคุณเติบโตจริง ๆ ..เพราะคุณสมควรจะได้รับที่แบบนั้นในชีวิตการทำงาน เพื่อให้เติบโตและก้าวหน้าในสายอาชีพต่อไป